Nares นครราชสีมา ทัศนศึกษาอีสานออนซอนเด้ ปราสาทหินพิมาย
รูปที่ 1 แผนผังสิ่งก่อสร้างของปราสาทหินพิมาย นครราชสีมา รวมทั้งปราสาทพรหมทัต ที่หนังสือ ”เที่ยวพิมายกับโลหกิจ“ บอกว่ามีศิลาแลงเม็ดถั่วหลายก้อน
เรียนจริงจังหามจั่ว เรียนมั่วๆ หามเสา เรียนจริงปนมั่ว เจอศิลาแลงเม็ดถั่วงงเต็มเปา
วันจันทร์ที่ 13 มกราคม 2568 สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย จะพาคณะทริปอีสานออนซอนเด้ แวะไปเยี่ยมชมปราสาทหินพิมาย โคราชบ้านเอง (รูปที่ 1) แน่นอนว่าสิ่งที่เราจะได้พบเห็นและเรียนรู้นั้นมีมากมาย นอกจากด้านศิลปวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์แล้ว ก็มีสิ่งที่น่ารู้น่าศึกษาในแง่ของธรณีวิทยาอีกหลายประการ เช่น หินที่ใช้ในการสร้างปราสาทนี้ มีกี่ชนิด น่าจะมาจากหมวดหินไหนของกลุ่มหินโคราช ต้นกำเนิดของหินแต่ละชนิดมาจากไหน ลักษณะการวางเรียงหินแต่ละก้อนว่ามีแบบแผนหรือไม่ แต่ละแท่งถูกจัดวางในแนวไหน แนวของชั้นหินตอนสะสมตัววางเป็นแนวระนาบ หรือแนวตั้ง หินประเภทไหนใช้เพื่อรับน้ำหนัก หินประเภทไหนใช้ในการแกะสลัก หรือกลึงทำลูกมะหวด (ลูกกรง)
นอกจากหินทรายแล้ว วัสดุที่คนโบราณใช้ในการก่อสร้างปราสาทก็คือ “ศิลาแลง” (Laterite) ศิลาแลงเป็นวัสดุธรรมชาติ มีสีแดง น้ำตาล เหลือง พบเกิดในเขตร้อนชื้น มีสภาพอากาศร้อน-ร้อนจัด ไม่มีมีน้ำขังเป็นระยะเวลานาน อาจเปลี่ยนแปลงมาจากหินหรือชั้นตะกอนก็ได้ โดยธาตุซิลิกาจากกลุ่มแร่ซิลิเกตที่มีอยู่เดิมจะถูกชะล้างละลายออกไป ทำให้มีปริมาณส่วนประกอบที่ไม่ถูกชะล้าง เช่น ไฮดร็อกไซด์ของเหล็ก และอลูมิเนียม มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น ศิลาแลงนั้นเมื่อยังคงอยู่ใต้ผิวดินโดยธรรมชาติ ก็จะเปียกหรือมีความชื้นอยู่มาก จึงมีลักษณะนิ่ม แต่เมื่อปล่อยทิ้งไว้ในอากาศ หรือเมื่อสูญเสียความชื้นไปมากๆ ความแข็งจะเพิ่มขึ้น ทำให้มนุษย์สามารถตัดแต่งทำเป็นอิฐตั้งแต่สมัยโบราณ และเป็นที่มาของชื่อคำว่าLaterite ซึ่งแปลว่า อิฐ
ศิลาแลงที่พบในประเทศไทยแบ่งออกได้เป็น 2 พวก (รูปที่ 2) ตามลักษณะของเนื้อหิน คือ “ศิลาแลงรูหนอน” (Vescicular Laterite) มีลักษณะเป็นรูพรุน มักมีก้อนกรวดปนอยู่ เชื่อว่าเกิดจาการสะสมตัวของธาตุเหล็กโดยน้ำใต้ดิน ตามที่กล่าวไว้ในย่อหน้าข้างบน ศิลาแลงพวกที่สองเรียกว่า “ศิลาแลงเม็ดถั่ว” (Pisolitic Laterite) มีเม็ดกลมของเหล็กปนอยู่ เม็ดดังกล่าวนี้จะมีรูกลวงอยู่ภายใน เกิดจากการสะสมตัวของธาตุเหล็กเนื่องจากน้ำบนพื้นผิวในที่ร้อนและแห้งแล้ง กลายเป็นเม็ดมีกระเปาะกลวงกลาง
ในประเทศไทยของเราพบลูกรังมาก และเป็นบริเวณกว้างตลอดทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เนื่องจากมีสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้นฝนตกชุก และเป็นที่ราบสูงไม่มีน้ำขังเหมาะสมกับการกำเนิดลูกรัง โดยในภาษาอีสานเรียกลูกรังว่า “หินแห่” ซึ่งเป็นวัตถุที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตและสังคม
ของคนอีสานหลายเรื่อง เช่น มนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์รู้จักการใช้ประโยชน์จากสีสนิมเหล็กหรือออกไซด์ของธาตุเหล็กและอลูมิเนียมจากลูกรังบดผสมยางไม้ ใช้เป็นสีวาดภาพตามผนังถ้ำและหน้าผาหิน หรือนำไปถลุงเพื่อผลิตเหล็ก (มีหลายแหล่งให้แวะไปศึกษาได้ในพื้นที่ของอุทยานธรณีขอนแก่น)
ในปีพ.ศ. 2504 กรมโลหกิจ (กรมทรัพยากรธรณีในปัจจุบัน) ได้พิมพ์หนังสือ “เที่ยวพิมายกับโลหกิจ” ได้อธิบายการชมปราสาทหินพิมายในเชิงธรณีวิทยา ไว้หลายจุดและหลายด้าน ที่น่าสนใจในหัวข้อนี้ก็คือ “ปรางค์พรหมทัต” โดยระบุว่า สร้างด้วยศิลาแลง แต่วงกบประตูทำด้วยหินทรายสีขาว ศิลาแลงที่ปรางค์นี้ ส่วนใหญ่เป็นศิลาแลงเม็ดถั่ว มีแร่แมงกานิส รวมทั้งเม็ดแร่ควอรตซ์ปนอยู่สูงมาก
เช่นนี้แล้ว สมาคมก็จะจัดให้มีการประกวดภาพถ่ายศิลาแลงเม็ดถั่วของปราสาทหินพิมาย ในตอนเย็นของวันที่ 13 มกราคม 2568 ผู้ชนะเลิศจะได้รับรางวัลที่รับรองว่าถูกใจผู้ให้แน่นอน
จั่งซี้บ่ไปนำทริปบ่ได้แล้ว แม่นบ่ อ้ายสารวัตร
.
-------------------------
ที่มา
- https://www.facebook.com/nares.sattayarak
รวบรวมข้อมูลและภาพ
-------------------------
บทความ ดร. นเรศ สัตยารักษ์ (Nares Sattayarak)
รวมบทความที่น่าสนใจจากนักธรณีวิทยาของไทย
-------------------------
----------------------------------------