วัดรอยตีนวอร์ดกับบุนนาค (Follow the Foot Track of Ward and Bunnag, 1964; 3rd Chapter) ตติยบท
ข้าพเจ้าได้เขียนบทความเรื่องวัดรอยตีนปู่วอร์ดกับปู่ดิ้น บุนนาคไปแล้ว 2 บท พูดถึงหมวดหิน 4 หมวดที่วางตัวอยู่ข้างล่างของกลุ่มหินโคราช วันนี้จึงเหลืออีก 2 หมวดหิน ดังต่อไปนี้
5. หมวดหินภูพาน มีลำดับชั้นหินต้นแบบอยู่ที่ภูผาผึ้ง เทือกเขาภูพาน กาฬสินธุ์ มีความหนารวม 114.1 เมตร ลักษณะเด่นของหมวดหินภูพานคือหินทรายปนกรวด สีส้ม สีเหลืองแกมขาว ชั้นหนา มีชั้นเฉียงระดับมากมาย เกิดสะสมตัวจากแม่น้ำประสานสาย (braided river) มีความคงทนต่อการกัดกร่อนผุพังทำลายมากกว่า หินตะกอนสีน้ำตาลแกมแดงของหมวดหินเสาขัวที่วางตัวอยู่ด้านล่าง กับหมวดหินโคกกรวดที่วางทับอยู่ข้างบน
ทว่า ชั้นหินของหมวดหินภูพานที่ภูเขาภูกระดึง ซึ่งมีความหนารวม 183 เมตร ตามภาพที่ 1 นั้น มีเม็ดกรวดน้อยมาก นอกจากนั้นยังมีขนาดเล็กประมาณ 5 มิลลิเมตรเท่านั้น ทำให้นักธรณีวิทยาหลายท่านคิดว่า ชั้นหินบนยอดภูกระดึงนั้น ควรเป็นหมวดหินพระวิหารมากกว่า
การอธิบายเพื่อสนับสนุนความเห็นทั้งสองด้านอาจเป็นไปได้ดังนี้
ถ้าชั้นหินบนหลังแปของภูกระดึงเป็นหมวดหินพระวิหาร ความหนาของหมวดหินน้ำพองกับภูกระดึงรวมกันจะมากกว่า 3,000 เมตร ซึ่งหนามาก แต่อาจอ้างได้ว่าบริเวณนี้เป็นใจกลางของแอ่งสะสมตะกอนจึงมีความหนามากกว่าที่อื่นๆ ทั่วไป
ถ้าให้ชั้นหินบนหลังแปเป็นหมวดหินภูพาน ก็สามารถอธิบายได้ว่า บริเวณนี้เป็นตอนปลายของแอ่งสะสมตะกอน เม็ดกรวดที่ถูกแม่น้ำพัดพามา ย่อมมีปริมาณน้อยลง และมีขนาดเล็กลง รวมทั้งข้อเท็จจริงที่ว่า ในการสำรวจลำดับชั้นหินโดยละเอียด จะพบหินทรายสีอ่อน ชั้นหนา มีชั้นเฉียงระดับมากมาย อันเป็นคุณสมบัติเด่นของหมวดหินพระวิหาร ที่บริเวณด้านตะวันตกของซำแฮก ซึ่งไม่ปรากฎให้เห็นบนเส้นทางปีนเขาของนักท่องเที่ยว ทำให้มั่นใจว่า การกำหนดหมวดหินตามเส้นทางผานกเค้า-ยอดภูกระดึง ของ Ward and Bunnag, 1964 นั้น ถูกต้องแล้ว
ลักษณะของหินทรายจะคล้ายกับชั้นทรายของแม่น้ำผสมผสาน (amalgamated river) มากกว่าแม่น้ำประสานสาย ดังภาพที่ 2 และ 3 ส่วนชั้นหินเฉียงระดับของหมวดหินภูพานที่นี่นั้น พบว่ามีแบบ tabular มากกว่า ผิดกับบริเวณอื่นของอีสาน ที่จะพบแบบ trough มากกว่า เช่นที่แสดงในภาพที่ 4 ความพิเศษอีกประการหนึ่งคือ เม็ดกรวดในหินทรายมีขนาดเล็กไม่เกิน 5 มิลลิเมตร และมีแต่แร่ควอทซ์เท่านั้น (ภาพที่ 5)
บริเวณหน้าผาชันก่อนถึงหลังแปนั้นจะพบร่องรอยของการเคลื่อนตัวผ่านกันของชั้นหิน จนปรากฎ “หน้าระนาบรอยเลื่อน” (fault’s slikenside) มากพอสมควร ตามภาพที่ 6 รวมทั้งบริเวณหน้าผาด้านใต้ของยอดเขาภูกระดึงนั้น จะพบว่าถูกกำกับด้วยรอยแยก (joint) สองแนวเกือบตั้งฉากกัน โดยมีแนวเด่นในทิศตะวันตก-ตะวันออก ดังภาพที่ 7 ที่ถ่ายทำตอนมืดแล้วที่ผาเหยียบเมฆ (เพราะคำนวณเวลาเดินทางผิดพลาด) ทำให้สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมจึงหลงเหลือโขดหินที่โดดเด่นแยกตัวออกมาจากหน้าผาส่วนใหญ่ได้ และนี่คือหลักฐานที่จะเตือนนักท่องเที่ยวให้ระมัดระวังว่า โอกาสที่จะมีการถล่มลงมาของหน้าผา ตามแนวรอยเลื่อน และรอยแยกนั้น มีความเป็นไปได้สูงมาก
6. หมวดหินโคกกรวด หมวดหินที่ชื่อสร้างความสับสนให้นักธรณีวิทยาไทยมากพอสมควร เพราะหลายคนจะทึกทักเอาว่า หมวดหินนี้ต้องมีหินกรวดมนมากแน่นอน ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะอันที่จริงแล้ว ลำดับชั้นหินต้นแบบของหมวดนี้คือ ลำดับชั้นหินตามสองข้างถนนสายมิตรภาพจากประมาณตะวันออกของเขามอจะบก สีคิ้ว จนถึงบ้านโคกกรวด อำเภอเมือง นครราชสีมา (บ้านโคกกรวดได้ชื่อมาจากการที่ในหมู่บ้านมีเนินที่มีชั้นกรวดอายุแปดแสนปีรองรับอยู่) ประกอบกับลำดับชั้นหินจากหลุมเจาะน้ำบาดาลที่บ้านโคกกรวดดังกล่าว โดยมีความหนารวม 709 เมตร หินส่วนใหญ่ของหมวดหินโคกกรวดจะเป็นหินตะกอนสีน้ำตาลแกมแดง ที่วางทับอยู่บนหมวดหินภูพาน ที่ประกอบด้วยหินทราย และหินทรายปนกรวด สีอ่อน ชั้นหนา มีชั้นเฉียงระดับมากมาย จุดเด่นของหมวดหินโคกกรวดที่ต้นแบบก็คือ จะมีหินกรวดมนกระเปาะปูนเยอะ และแต่ละชั้นหนามากกว่า 2 เมตร และเป็นชั้นหินที่พบฟอสซิลไดโนเสาร์และสัตว์ชนิดอื่นฝังตัวอยู่มากพอสมควร และในรายงานของวอร์ดเและบุนนาคเอง ก็ได้รายงานว่าพบฟอสซิล ทั้งกระดูกและเขี้ยวแต่ไม่สามารถระบุข้อมูลได้มากกว่านี้ ในหินกรวดมนกระเปาะปูน 2 แห่ง ในบ่อหินที่ระเบิดและทุบหินเพื่อการก่อสร้างสองบ่อ ที่บ้านโคกกรวดเอง และด้านตะวันตกประมาณ สองกิโลเมตรทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน (ภาพที่
Ward and Bunnag, 1964 รายงานว่า ตามเส้นทางเดินขึ้นภูกระดึงจากบ้านศรีฐานนั้น หมวดหินโคกกรวดมีความหนารวม 35 เมตร ช่วงล่างถูกปกคลุมด้วยดินปัจจุบันรวม 23.5 เมตร หินที่พบหนา12 เมตร คือหินทรายสีเทาแกมเหลือง ชั้นหนา และมีชั้นเฉียงระดับมาก แต่ในการเดินขึ้นไปพักผ่อนหย่อนใจแถมชะโงกดูหินของข้าพเจ้าและคณะเมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมานั้น พบแต่หินที่ผุมากแล้ว ตามภาพที่ 9 ไม่สามารถคาดเดาว่าหินจะมีลักษณะเช่นใดตอนที่ยังมีสภาพสดและสมบูรณ์ จึงทำให้เกิดความไม่มั่นใจว่า ชั้นหินหนารวม 35 เมตรนี้ ควรจะแยกออกมาเป็นหมวดหินโคกกรวดหรือไม่
อนึ่ง ชั้นหินและลานหินที่พบตามทางเดินและน้ำตกบนยอดภูกระดึง ซึ่งเมื่อพิจารณาจากการวางตัวแล้ว น่าจะเทียบเคียงได้กับชั้นหินที่ให้เป็นหมวดหินโคกกรวดนั้น กลับมีลักษณะปรากฎที่คล้ายกับหมวดหินภูพานมากกว่า การวิเคราะห์ความถูกต้องโดยทีมงานของนักธรณีวิทยาที่จะมาสำรวจตรวจสอบอย่างแท้จริง จึงสมควรดำเนินการอีกครั้งหนึ่ง โดยหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ
พี่น้องครับ ข้าพเจ้าก็ได้เขียนเปรียบเหมือนเปรียบต่างถึงหมวดหินทุกหมวด ของกลุ่มหินโคราช ที่พบตามเส้นทางสำรวจเส้นที่สามของ Ward and Bunnag, 1964 แล้ว แต่ก็จะเหลือเรื่องราวที่เป็นเกร็ดเล็กผสมน้อย เกี่ยวกับกลุ่มหินโคราชที่ภูกระดึง ซึ่งจะทะยอยเขียนมาให้อ่านกันเล่นๆ ต่อไปครับ ท่านสารวัตร