เพตรา จอร์แดน ได้รับการขนานนามว่า นครศิลาทรายสีกุหลาบ (Rose City) จอร์แดน
เพตรา จอร์แดน ได้รับการขนานนามว่า นครศิลาทรายสีกุหลาบ (Rose City) ว่ากันว่าหินทรายที่นี่งามหลาย งามขนาด งามจังหู และหากท่านลองท่องโลกอินเตอร์เน็ตค้นหาคำว่า หินทรายเพตราผ่านอากู๋ ก็จะได้ภาพหินทรายสีชมพูพร้อมทั้งลวดลายหลายหลายสี เป็นขด เป็นวง เป็นชั้นสลับกันสวยงาม นักธรณีวิทยาที่มีโปรแกรมมาเที่ยวที่นี่ ก็หวังว่าจะได้พบ ได้เห็นสิ่งสวยๆงามๆดังกล่าว
เช้าวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ข้าพเจ้าและคณะทัวร์อียิปต์-จอร์แดน ได้มาเยี่ยมชมนครศิลาทรายแห่งนี้ ซึ่งแผนการที่กำหนดไว้คือ เริ่มเดินจากศูนย์นักท่องเที่ยว ลงไปตามหุบกว้างหลายสิบเมตร ที่สองข้างเป็นหินทรายสีขาวที่เกิดจากแม่น้ำประสานสาย (Disi Fm.) เมื่อ 500 กว่าล้านปีมาแล้ว หลังจากได้ระยะทางประมาณ 800 เมตร ก็จะเดินลงไปตามซอกผา (The Siq) ที่แต่แรกเริ่มเป็นเพียงรอยแยกในหินทรายสีชมพู ที่เกิดจากแม่น้ำเมื่อประมาณ 600 ล้านปีมาแล้ว (Umm Ishrin Fm.) รอยแยกดังกล่าวนี้ ต่อมาได้ถูกกัดเซาะผุพังทำลายโดยน้ำ ฝน แสงแดด และการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ จนกลายเป็นร่องหุบลึกหลายสิบเมตรและกว้างสุดถึง 8 เมตร เมื่อเดินไปได้ระยะทางประมาณ 1,200 เมตร ก็จะถึงสถานที่ที่เรียกว่า คลังสมบัติ (Treasury) จากนั้น หุบเขาก็กว้างออกหลายร้อยเมตร อันเป็นที่ที่ชาวนาบาเทียน ชนเผ่าโบราณ ขุดเจาะภูเขาหินทรายให้เป็นบ้านและเมืองที่อยู่อาศัย
ทั้งสองข้างของทางเดินทั้งภายในและภายนอกซอกผานั้น จะพบเห็นชั้นหิน เนื้อหิน โครงสร้างและลวดลายในหิน ตลอดจนผลงานที่ชาวนาบาเทียน แกะสลัก หรือดัดแปลงหินเพื่อใช้ประโยชน์ เช่น รางส่งน้ำ บ่อพักตะกอน ฝายหินป้องกันน้ำหลาก และภาพสลักสิ่งที่พวกเขาเคารพบูชา และสำหรับข้อสังเกตในด้านธรณีวิทยานั้น ก็พอจะมีไฮไลต์มาเล่าสู่กันฟังได้บ้าง ดังนี้
ภาพ A คือภาพเปลี่ยนแปลงทางเคมีของเนื้อหินหลังจากกลายเป็นหินแล้ว มีมัคคุเทศก์รายหนึ่ง ได้บรรยายให้ลูกทัวร์ของตนฟังว่า นี่คือซากกระดูกไดโนเสาร์ ซึ่งคลิปนี้ก็ได้รับการวิจารณ์อย่างมากมายว่าเป็นยิ่งกว่าการจับแพะชนแกะ เพราะนี่คือการจับแพะชนไดโนเสาร์นู่นแน่ะ
ภาพ B คือหินกรวดคละขนาดที่ถูกพัดพามาด้วยน้ำไหลหลากลงสู่หุบเขา Siq จากลักษณะของชั้นหินเชื่อว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนที่ชาวนาบาเทียนจะมาอยู่อาศัย หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า พวกเขาคงจะต้องขุดแต่งชั้นกรวดทรายเหล่านี้ออกไป เพื่อสร้างเส้นทางเข้าสู่นครเพตรา
ก้อนกรวดที่พบในหินที่เกิดจากแม่น้ำประสานสาย (Disi Fm.) นั้น พบไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นแร่ควอร์ตซ์ เม็ดมน ขนาดไม่เกิน 3 เซนติเมตร พบวางตัวตามชั้นเฉียงระดับ จำนวนก้อนกรวดที่พบนั้นมีน้อยมาก เทียบไม่ได้เลยกับกรวดในหินทรายของหมวดหินภูพานของบ้านเรา
ชั้นหินเฉียงระดับที่มีลักษณะการพับตลบ (Overturned cross Bedding) ซึ่งแสดงถึงกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากรุนแรงอย่างเฉียบพลัน พบมากมายในหินทรายของหมวดหิน Umm Ishrin จนถือว่าเป็นลักษณะเด่นของหินทรายของหมวดนี้ ทิศทางการไหลของแม่น้ำโบราณจะเป็นไปในทิศทางคล้ายคลึงกันในทั้งสองหมวดหิน คือ เหนือ และตะวันตกเฉียงเหนือ ความหนาของชุดชั้นเฉียงระดับนั้นมากสุดคือประมาณ 1.5 เมตร เชื่อว่าเกิดจากแม่น้ำที่มีขนาดน้องๆ แม่น้ำโขง (เสือใหญ่มิได้กล่าวไว้)
ลวดลายคล้ายโบติดหมวก หรือวงแหวนตาปลา (Liestgang Rings) ที่เห็นว่าสวยงามในโพสต์ของนักธรณีวิทยา(ต่างชาติ)หลายท่านนั้น กลับมิได้เด่นชัดสะดุดตาในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริเวณใกล้กับปากทางเข้าซอกผา เพราะหินผากลับเป็นสีฝุ่นหม่น ต่อเมื่อเดินเข้าไปสักสี่ห้าร้อยเมตร หินจึงจะเริ่มเห็นเป็นสีชมพู ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะส่วนต้นทางนั้น อยู่ใกล้กับตัวเมือง Wadi Musa (หุบเขาโมเสส) จึงอาจเป็นแหล่งสร้างฝุ่นละอองที่ปลิวมาปกคลุมหน้าผา จนปิดบังสีอันแท้จริงของหิน ทำให้เรื่องข้อกังขาที่คิดไว้ก่อนจะมาที่นี่แล้วว่า จะให้ฝนตกก่อนที่ทัวร์ของเราจะมาเยือนสักสองสามวันดีไหม กลับมาอีกครั้งหนึ่ง
สรุปแล้ว ก็ไม่รู้ว่าข้าพเจ้ามาเยือนนครเพตราผิดจังหวะจะโคน หรือมาเยือนช้าไป แบบที่เขาว่า “พบหินงาม เมื่อค้อนบิ่น” หรือเปล่าน้ออออ
-------------------------------------------------
ที่มา https://www.facebook.com/nares.sattayarak
รวบรวมข้อมูลและภาพ www.iok2u.com
-------------------------------------------------
รวมบทความ นเรศ สัตยารักษ์ (Nares Sattayarak)