Nares ข้อพึงตระหนักแต่ไม่ควรตระหนก
รูปที่ 1 แผนที่แสดงแผ่นทวีปอินเดีย ออสเตรเลีย ยูเรเซีย และซุนดาแลนด์(อ่าวไทย ลงไปถึงมาเลเซีย อินโดนีเซีย เกาะบอร์เนียว เกาะสุมาตรา เกาะชวา และเกาะบาหลี) รวมทั้งสันเขาใต้มหาสมุทร Ninety East Ridge
ข้อพึงตระหนักแต่ไม่ควรตระหนก
ดูก่อน ประชากรไทย
ในกลุ่มของผู้ที่ศึกษาและเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นมาทางธรณีวิทยาของประเทศไทยย่อมทราบว่า แผ่นทวีปอินเดีย-ออสเตรเลียนั้น ได้เคลื่อนตัวพร้อมกันจากซีกโลกใต้ขึ้นมาทิศเหนือ โดยมีแผ่นดินส่วนหน้ามุดลงใต้แผ่นทวีปยูเรเซีย (ยุโรป+เอเซีย) แต่แล้วอินเดียก็เคลื่อนตัวเร็วขึ้นทำให้ทวีปทั้งสองฉีกขาดออกจากกัน (ร่องรอยคือ สันเขาใต้สมุทร (ตามแนวลองจิจูดที่) 90 องศาตะวันออก (Ninty East Ridge) (รูปที่ 1) อินเดียเริ่มชนและมุดลงใต้ยูเรเซีย จนก่อให้เกิดเทือกเขาหิมาลัยเมื่อประมาณ 55 ล้านปีก่อน และแม้แต่ในปัจจุบันก็ยังมุดตัวลงไปเรื่อยๆ
ความใจร้อนของอินเดีย ทำให้แรงชนแบบตั้งฉากกับแผ่นดินเมียนมาเปลี่ยนไปเป็นมุมเอียง ก่อเกิดให้เกิดรอยเลื่อนสะกาย ที่มีแนวในทิศเหนือ-ใต้ เมื่อประมาณ 30 ล้านปี มีการเคลื่อนตัวชนิดขวาเข้า นั่นคือแผ่นดินทางตะวันออกของรอยเลื่อนจะเคลื่อนตัวไปทางด้านขวา (เคลื่อนลงทิศใต้เมื่อเทียบกับแผ่นดินด้านตะวันตก (รูปที่ 2)
การชนกันของอินเดียกับยูโรเซีย การเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนสะกาย ส่งผลให้รอยเลื่อนในประเทศไทย ที่มีการวางตัวในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ (เช่น รอยเลื่อนแม่ปิง รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์) เคลื่อนต้วชนิดขวาเข้า รอยเลื่อนที่มีการวางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ- ตะวันตกเฉียงใต้ (เช่น รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ รอยเลื่อนระนอง รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย และรอยเลื่อนแม่จัน)จะเคลื่อนตัวชนิดซ้ายเข้า (แผ่นดินทางตะวันตกของรอยเลื่อนคลองมะรุ่ยจะเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ แผ่นดินด้านเหนือของรอยเลื่อนแม่จันจะเคลื่อนตัวไปทางตะวันตก) การเคลื่อนไหวของรอยเลื่อนเหลื่อมข้างในประเทศไทยดังที่กล่าวมาแล้ว จะทำให้เกิดรอยเลื่อนปกติในแนวเหนือ-ใต้ ส่งผลให้เกิดการปริแตกของเปลือกโลก กลายเป็นแอ่งสะสมตะกอนที่มีแนวยาวในทิศเหนือใต้ ทั้งในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และในอ่าวไทย เช่น แอ่งฝาง แอ่งลำปาง แอ่งพิษณุโลก แอ่งสุพรรณบุรี แอ่งอยุธยา และแอ่งธนบุรี (รูปที่ 3)
สำหรับพื้นที่ของกรุงเทพมหานครแล้ว มีหลักฐานที่มีอยู่ เชื่อว่าการเคลื่อนที่ชนิดขวาเข้าของรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ เมื่อประมาณ 30 ล้านปีก่อน ทำให้เกิดรอยเลื่อนและแอ่งที่เรียกว่าแอ่งธนบุรี ซึ่ง ยุบตัวลงไปร่วม 2 กิโลเมตร และถูกทับถมด้วยตะกอนของแม่น้ำโบราณ (ผิดกับแอ่งสุพรรณบุรี และแอ่งกำแพงแสนที่กลายเป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่) (รูปที่ 4) การยุบตัวเองเนื่องจากรอยเลื่อนนั้น คาดว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อประมาณ 20 ล้านปีก่อน จากนั้นก็ทรุดตัวลงตามแรงโน้มถ่วง และเมื่อประมาณ 8,000 - 5,500 ปีก่อน ก็มีน้ำทะเลไกลท่วมท้นเข้ามา เกิดการสะสมตัวของดินโคลนใต้ทะเล กลายเป็นดินเหนียวเนื้อนุ่ม สีเทา เรียกว่า ดินเหนียวกรุงเทพ (Bangkok Clay) หนาประมาณ 15-25 เมตร มีคุณสมบัติที่ไม่เหมาะสมต่องานด้านวิศวกรรมฐานราก
ตามที่กล่าวไปแล้วข้างบน จึงกล่าวได้ว่าแผ่นดินไหวขนาดยักษ์เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในประเทศไทย รวมทั้งพื้นที่ที่ปัจจุบันเป็นกรุงเทพมหานครและปริมณฑล นะหว่างการเกิดแอ่งสะสมตะกอนเพียงแต่หยุดเงียบไปเป็นเวลาหลายล้านปีมาแล้ว อย่างไรก็ตาม ก็มีความเป็นไปได้ว่า รอยเลื่อนเหล่านี้อาจเคลื่อนตัวอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งโอกาสที่จะเกิดขึ้นน่าจะมีน้อยมาก ดังนั้น เราขาวกทม. และชาวไทย จึงไม่ควรที่จะเป็นกังวลชนิดกินไม่ได้ นอนไม่หลับ หรือเล็งแต่จะขายบ้านและที่ดินเพื่อย้ายไปอยู่อีสานบ้านเฮา ที่เซียนแผ่นดินไหวบอกว่า ปลอดภัยกว่าภาคกลางและภาคเหนือ
อย่างที่อาจารย์เป็นหนึ่งท่านว่าแหละครับ ยอมรับความเป็นจริง แล้วเรียนรู้และสร้างวิธีที่ปลอดภัยที่สุดเพื่ออยู่กับมันต่อไป จริงๆนะครับ ท่านสารวัตร
รูปที่ 2 ภาพวาดและภาพถ่ายแสดงลักษณะการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนเหลื่อมด้านข้างชนิดขวาเข้า
รูปที่ 3 แผนที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างรอยเลื่อนสะกาย (4) กับรอยเลื่อนเหลื่อมด้านข้างชนิดขวาเข้าขนาดใหญ่ในไทย คือรอยเลื่อนแม่ปิง (5) และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ (6) รวมทั้งแอ่งสะสมตะกอนชนิดเปลือกโลกปริยุบ (พื้นที่ระบายสีดำ) ที่เกิดจากการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนดังกล่าวในอดีตเมื่อประมาณ 30-10 ล้านปีก่อน
รูปที่ 4 ภาพจินตนาการที่ได้จากการสำรวจปิโตรเลียมในบริเวณที่ราบลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง แสดงตำแหน่งและรูปร่างของแอ่งสะสมตะกอนทั้ง 6 แอ่ง ที่เกิดจากการเคลื่อนตัวชนิดขวาเข้าของรอยเลื่อนแม่ปิง และเจดีย์สามองค์ ซึ่งในจำนวนนี้ มีเพียง 2 แอ่ง คือสุพรรณบุรี กับกำแพงแสน ที่มีสภาพภูมิศาสตร์โบราณเป็นทะเลสาบน้ำจืด ซึ่งมีอินทรีย์สารที่เหมาะสมจนกลายเป็นน้ำมันดิบ ส่วนแอ่งอื่นนั้น มีสภาพไม่เหมาะสมในการให้กำเนิดปิโตรเลียม
.
-------------------------
ที่มา
- https://www.facebook.com/nares.sattayarak
รวบรวมข้อมูลและภาพ
-------------------------
บทความ ดร. นเรศ สัตยารักษ์ (Nares Sattayarak)
รวมบทความที่น่าสนใจจากนักธรณีวิทยาของไทย
-------------------------