เยี่ยมชมทะเลมรณะ (Dead Sea) ตามประสานักธรณีวิทยา ราชอาณาจักรจอร์แดน
ทะเลมรณะ (Dead Sea) ราชอาณาจักรจอร์แดน เกิดขึ้นเมื่อ ประมาณ 20 ล้านปีก่อน จากการที่ทวีปอาราเบียเคลื่อนตัวขึ้นด้านเหนือ แล้วลากไถลครูดไปกับแผ่นทวีปอัฟริกาที่อยู่ด้านตะวันตก การเคลื่อนตัวผ่านกันของทั้งสองทวีป ทำให้เกิดแอ่งยุบตัวจอร์แดน (Jordan Rift Valley) ที่มีการวางตัวในแนวเหนือใต้ และเกิดแอ่งที่ยับต่ำลงไป 3 แอ่ง คือบริเวณที่ที่ปัจจุบันเป็น อ่าวอคาบา ติ่งเหนือของทะเลแดง ทะเลมรณะ และทะเลกัลเลลี่ ในช่วงแรกเริ่มนั้น จะมีการสะสมตัวของตะกอนที่ต่อมากลายเป็นหินกรวดมน หินมาร์ล หินดินดาน และหินเกลือสลับกัน ต่อมาเมื่อประมาณ5-2.5 ล้านปี เกิดช่องทางยุบต่อเชื่อมเข้ากับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน น้ำทะเลได้ไหลเข้ามาสู่หุบยุบตัวนี้เป็นระยะๆ เกิดการสะสมตัวของ เกลือหิน สลับกับหินดินดานที่มีอินทรีย์สารสูงในทะเลสาบที่ชื่อว่า “Sedom” จนกระทั่งการต่อเชื่อมกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตัดขาดลง (2.5 ล้านปี - 70,000 ปี) ในแอ่งมีการสะสมตัวของแร่อะแร็กซ์โกไนต์ สลับกับหินโคลน และเกลือหิน และช่วงเวลาต่อมา (70,000-16,000 ปีที่ผ่านมา) คือช่วงที่น้ำในแอ่งยุบจอร์แดนมีระดับสูงสุด (สูงกว่าผิวของทะเลปัจจุบันประมาณ 220 เมตร) จนกลายเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ทั่วทั้งแอ่ง (ทะเลสาป Lisan) หลังจากนั้น ระดับน้ำและขนาดของทะเลสาบได้ลดลง (ประมาณว่า ปีละ 1 เมตร) จนถึงปัจจุบัน ทำให้ ทะเลมรณะ ลุ่มน้ำจอร์แดน และทะเลกัลเลลี่ อยู่แยกออกจากกัน และปรากฎให้เห็นชั้นเกลือและหินโคลนที่ครั้งหนึ่งเคยสะสมตัวอยู่ใต้ทะเลมรณะ รวมทั้งชั้นหินทราย หินกรวดมนที่อายุอ่อนมาก ที่ไหลลงไปสู่แอ่งดังกล่าว
ในทะเลมรณะมีโดมเกลือที่ปูดขึ้นเหนือน้ำ 2 โดม ได้แก่ โดมเกลือ Sedom ทางด้านใต้ และโดมเกลือ Lisan ด้านเหนือของทะเล โดมทั้งสองปูดขึ้นมาจากชั้นเกลือของหมวดหิน Sedom และ Lisan ตามลำดับ ซึ่งทั้งสองโดมเกลือนี้ ข้าพเจ้ายังไม่มีโอกาศแวะไปเยี่ยมชม เพราะได้แต่อ้อยอิ่งกับชั้นเกลือหินที่พอจะพบเห็นได้ ระหว่างที่เพื่อนๆ นักท่องเที่ยวพอกโคลนหรือลอยตัวเล่นอยู่บนน้ำทะเลที่ขมปี๋
โอกาสหน้าฟ้าใหม่ก็คงจะได้ไปยลโฉมบ้างหละครับ ท่านสารวัตร
-------------------------------------------------
ที่มา https://www.facebook.com/nares.sattayarak
รวบรวมข้อมูลและภาพ www.iok2u.com
-------------------------------------------------
รวมบทความ นเรศ สัตยารักษ์ (Nares Sattayarak)