Nares ไทย สตูล อุทยานธรณีสตูล ปราสาทหินพันยอด ประสานักธรณีฯ อยู่ไม่สุข (ต่อ)
ปราสาทหินพันยอด คือ อีกหนึ่งจุดท่องเที่ยวที่โด่งดังของอุทยานธรณีสตูล ตั้งอยู่บนเกาะเขาใหญ่ การเดินทางไปถึงที่สะดวกที่สุดคือ นั่งเรือหางยาวจากท่าเรือบ่อเจ็ดลูก ใช้เวลาไม่เกิน 20 นาที จากนั้นก็นั่งเรือคายัก ซึ่งจะมีคนช่วยพายให้ หรือจะพายเองก็ไม่ผิดกติกา ระยะทางทั้งหมดไม่กี่สิบเมตร (วัดจากจุดที่เรือจอดไปมุดถ้ำลอด และจากนั้นไปกำแพงของปราสาทพันยอด)
เวรกรรมของนักธรณีวิทยา มาเที่ยวแท้ๆ แทนที่จะมองหาอะไรที่สวยๆงามๆ ดันไปมองอะไรที่ไม่เหมือนชาวบ้านเขา อาทิเช่น มองว่าเกาะเขาใหญ่นี้ น่าจะเกิดขึ้นมาจากตะกอนปูนที่สะสมตัวในทะเลตื้นเมื่อ 400 กว่าล้านปีมาแล้ว (กรมทรัพยากรธรณี) ต่อเมื่อกลายเป็นหิน และถูกยกตัวขึ้นมาเป็นแผ่นดิน ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงตามกระบวนการทางธรณีวิทยา ทำให้กลายเป็นเกาะ และณ บริเวณที่ได้ชื่อว่า ปราสาทหินพันยอดนี้ ชั้นหินปูน (Bedding) จะวางตัวอยู่ในแนวเกือบระนาบ ผลจากการกัดเซาะผุพังทำลาย ทำให้เกิดการยุบตัวของถ้ำโบราณที่เคยซ่อนตัวอยู่ใต้ดิน การยุบตัวนี้ทำให้หินปูนหย่อมหนึ่ง ทรุดจมหายลงไปใต้ทะเล กลายเป็นแอ่งยุบ (Sink Hole) การถูกกัดเซาะประกอบกับการละลายของแร่แคลไซต์ตามรอยแยกของหิน (Joint) และเนื้อหิน ทำให้หินปูนมีลักษณะแหลมยื่นตะปุ่มตะป่ำ จนมีผู้คนมองเห็นเป็นยอดปราสาทนับร้อยนับพันยอด
หากมองจากด้านนอกก่อนเข้าปราสาทพันยอด เราก็จะสามารถสังเกตเห็นลักษณะทางธรณีวิทยาที่น่าสนใจบางประการ เช่น ชั้นหิน (Bedding) จากหินปูนชั้นหนาสองชั้นวางตัวซ้อนกันในแนวเกือบระนาบ สำหรับรอยแยกของหิน (Joint) ที่เมื่อมองจากด้านบน จะเห็นเป็นลายเส้นในทิศเกือบจะเหนือ-ใต้ แต่ถ้ามองจากด้านข้างจะเห็นเป็นเส้นในแนวดิ่ง นอกจากนี้ ยังมีรอยแยกที่น่าจะเป็นแนวเลื่อน (Fault?) เพราะเหมือนกับว่าหินทั้งสองข้างมีการเคลื่อนตัวผ่านกัน ตามภาพประกอบบานกลาง ด้านซ้ายสุดจะเห็นการเคลื่อนตัวของชั้นหินในลักษณะของรอยเลื่อนปกติ เป็นระยะทางประมาณ 1.5 เมตร ทางด้านขวา ชุดหินที่เคลื่อนตัวลงไปแล้วจะมีการเอียงตัว ทำให้ชั้นหินไม่ขนานกับบริเวณอื่น ส่วนช่องทางที่เปิดให้สามารถเข้าออกจากทะเลด้านนอกกับหลุมยุบนั้น นอกจากจะเกิดจากอิทธิพลของคลื่นทะเลแล้ว ก็น่าจะเป็นการทรุดตัวจมลงไปใต้ทะเลของหินปูนที่เคยอยู่ที่นั่นด้วย
การอธิบายการกำเนิดของลักษณะภูมิประเทศที่ว่ามานั้น มาจากการเดินทางไปเที่ยวปราสาทหินพันยอด ในเวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาอันสั้นและมิได้มีความพร้อมในการสำรวจธรณีวิทยา จึงอาจมีเรื่องไม่ถูกต้องได้ เช่น รอยเลื่อนที่ว่านั้น อาจจะเป็นรอยแยกอีกชุดหนึ่ง และการเคลื่อนตัวของชุดหินที่อยู่สองข้างของระนาบเลื่อนนั้น มิได้เกิดจากแรงบีบอัด แต่เกิดจากอิทธิพลของคลื่นทะเลและแรงโน้มถ่วงของโลก ดูน้อยลง
ที่มา https://www.facebook.com/nares.sattayarak
รวบรวมข้อมูลและภาพ www.iok2u.com
-------------------------------------------------
รวมบทความ นเรศ สัตยารักษ์ (Nares Sattayarak)-------------------------------------------------