Nares ไทย สตูล อุทยานธรณีสตูล อวสานเจ้าหอยมีปีก “อะลาโตคอนชี้เด่”
อวสานเจ้าหอยมีปีก “อะลาโตคอนชี้เด่” หนึ่งในสามสหายแห่งทะเลสวยน้ำใสของโลกล้านปี
กาลครั้งหนึ่งนาน นาน นาน นาน มามากแล้ว มีหอยทะเลชนิดหนึ่งที่มีขนาดใหญ่มาก เป็นหอยสองฝา รูปร่างประหลาด ฝามีความหนา และอาจยาวถึง 1 เมตร หอยชนิดนี้สูญพันธุ์ไปแล้ว ปัจจุบันพบเป็นซากบรพชีวินฝังตัวอยู่ในหินปูนใน 10 ประเทศ ได้แก่ ตูนีเซีย โครเอเซีย โอมาน อิหร่าน อาฟกานิสถาน จีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และไทยเรา (ดินแดนทั้งหมดที่ว่ามานี้ ต่างก็ตั้งอยู่บนฝั่งทะเลธีทิส (Tethys sea) ซึ่งเป็นทะเลที่มีแนวยาวประมาณทิศตะวันออก-ตะวันตก ในขณะที่โลกในสมัยนั้นมีมหาสมุทรเพียงหนึ่งเดียวที่ชื่อ Panthalassa และทั้งโลกมีเพียง 2 ทวีปเท่านั้น คือ ลอเรเซีย (Laurasia) ด้านบน กับ กอนด์วานาแลนด์ (Gondwanaland) ที่อยู่ทางทิศใต้) หอยสองฝาเหล่านี้ บังเกิดขึ้นและดับสิ้นในช่วงเวลาทางธรณีวิทยาที่เรียกว่า ยุคเพอร์เมียน (298-252 ล้านปีมาแล้ว)
ซากฟอสซิลของสัตว์อีกสองประเภทที่มักพบอยู่ร่วมกับหอยยักษ์นี้คือ เจ้า “ข้าวสารพระร่วง” (Fusulinids) ชนิดที่ชื่อว่า “เม็ดพริกไทยพระร่วง” (Verbeekinidae) กับ ฟอสซิลปะการังชนิดที่มีชื่อเล่นว่า “รังผึ้งพระร่วง” (Waagenophyllidae) เชื่อว่าสัตว์ทั้งสามประเภทนี้ อาศัยอยู่ในทะเลตื้นที่น้ำมีอุณหภูมิอบอุ่น และใสสะอาด นักบรรพชีวินของโลกจึงเรียกกลุ่มของสัตว์พวกนี้ว่า “สามสหายแห่งทะเลสวยน้ำใส(Tropical Trio)” และเมื่อหมดช่วงกลางของยุคเพอร์เมียน (260 ล้านปี) ทั้งสามสหายก็พร้อมใจกันบ๊ายบายหายไปจากโลกใบนี้ ด้วยข้อสันนิษฐานว่า น้ำทะเลทั่วโลกในช่วงนั้น มีอุณหภูมิลดต่ำลงเป็นเวลาประมาณ 2-3 ล้านปี จนพวกมันไม่สามารถมีชีวิตอยู่สืบต่อไปได้
หอยยักษ์ที่ว่านี้ มีชื่อที่ฟังแล้วจั๊กจี้ว่า อะลาโตคอนชี้เด่ (Alatoconchidae) หรืออะลาโตคอนช่า (Alatoconcha) มีชื่อเล่นว่า “เจ้าหอยมีปีก” เพราะเชื่อกันว่าหอยพวกนี้จะเคลื่อนที่ล่องลอยไปตามน้ำโดยการเผยอฝาทั้งสองข้างออกมาขยับขึ้นลง และจากลักษณะของฝาที่หนาและมีสองชั้น ผิวของฝาข้างนอกมีลักษณะโปร่งแสง ประกอบขึ้นด้วยผลึกแร่แคลไซต์รูปเข็ม (prismatic calcite)จึงเชื่อว่าในตัวของหอยพวกนี้ จะเต็มไปด้วยสาหร่ายที่จะสังเคราะห์แสง เพื่อสร้างอาหารสำหรับทั้งสาหร่ายเองและตัวหอยด้วย
ฟอสซิลของอะลาโตคอนชี้เด่นี้ ไม่ว่าจะพบที่ไหน จะเห็นซากหอยวางซ้อนกันมากมายเป็นชั้น และแผ่กระจายกว้างขวางไปทั่วบริเวณ ไม่มีลักษณะของการเคลื่อนที่หลังจากซากตกจม จึงสันนิษฐานว่าหอยชนิดนี้จะอาศัยอยู่และหากินกันเป็นกลุ่ม (gregarious species) ในทะเลตื้น ใสและอบอุ่น (low-latitude sea)
(ป.ล. อาจารย์ตุ๊กตา และเซียนท่านอื่นๆ โปรดชี้แนะ/แก้ไข เพิ่มเติม)
ที่มา https://www.facebook.com/nares.sattayarak
รวบรวมข้อมูลและภาพ www.iok2u.com
-------------------------------------------------
รวมบทความ นเรศ สัตยารักษ์ (Nares Sattayarak)-------------------------------------------------