แผ่นดินซุนดากับแผ่นดินซาฮุล
ข้าพเจ้าได้กล่าวถึงแผ่นดินซุนดาและซาฮุลมาแล้วเล็กน้อยในบทเกริ่นนำ วันนี้จะขออนุญาตกล่าวเพิ่มในรายละเอียด ดังต่อไปนี้
แผ่นดิน/แผ่นทวีปซุนดา (Sunda Land / Continental Plate) (ภาพที่ 1) คือแผ่นดินของเอเซียอาคเนย์ที่ปรากฏให้เห็นในช่วงของยุคน้ำแข็งยุคท้ายสุด หรือเมื่อประมาณ 18, 000 ปีมาแล้ว แผ่นดินนี้รวมถึงขอบเขตของจีนตอนใต้ ลาว เมียนมาร์ ไทย เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย เกาะสุมาตรา ชวา บอร์เนียว ซึ่งอันที่จริงแล้วแผ่นทวีปซุนดาในอดีตนั้นก็คือ แผ่นทวีปยูเรเซีย ที่เกิดจากการรวมตัวของแผ่นทวีปอินโดจีนกับซีบูมาสุ (ฉาน-ไทย) เมื่อสมัยไดโนเสาร์ครองโลกนั่นเอง
แผ่นดิน/แผ่นทวีปซาฮุล (Sahul Land / Continental Plate) (ภาพที่ 1) คือแผ่นดินด้านเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย รวมทั้งพื้นที่นอกชายฝั่งนิวกินี ที่เคยปรากฏให้เห็นเป็นแผ่นดินในช่วงของยุคน้ำแข็งยุคท้ายสุด หรือเมื่อประมาณ 18,000 ปีมาแล้ว
ในปีค.ศ. 1859 นักธรรรมชาติวิทยาชาวเวลส์ชื่อ Alfred Russel Wallace ได้รายงานผลการศึกษาของเขาว่า สัตว์บกหลายชนิดที่พบในแผ่นดินเอเซีย และเกาะสุมาตราจนถึงบาหลี เช่น แรด ช้าง เสือ นกหัวขวาน (ภาพที่ 2) จะไม่ปรากฏให้เห็นอีกเลยบนเกาะ และแผ่นดินที่อยู่ทางตะวันออกของเกาะบาหลี เส้นสมมุตินี้ ต่อมาในปีค.ศ. 1868 Thomas Henry Huxley นักชีววิทยาชาวอังกฤษชื่อ ได้ตั้งชื่อว่า Wallace Line
ในปี ค.ศ. 1896 Richard Lydekker นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ ได้ตั้งเส้นสมมุติขึ้นมาอีกเส้นหนึ่ง อยู่ทางตะวันออกของเส้นวอลเลซ เรียกว่า Lydekker Line กำหนดให้เป็นขอบเขตด้านตะวันตกสุดที่พบสัตว์บกที่อาศัยอยู่ในทวีปออสเตรเลีย เช่น สัตว์มีกระเป๋าที่หน้าท้อง มังกรโคโมโด นกกระตั้ว และนก honeyeaters (ภาพที่ 2)
พื้นที่ที่อยู๋ระหว่างเส้นสมมุติสองเส้นนี้ เรียกว่า วอลเลซเซีย Wallacea (ภาพที่ 1) ซึ่งประกอบขึ้นด้วยเกาะหลายเกาะ พื้นที่ดังกล่าวนี้ มีสิ่งมีชีวิตทั้งที่พบในเอเซียและออสเตรเลียอยู่ปะปนกัน มีพื้นที่โดยรวมทั้งหมดประมาณ 347,000 ตารางกิโลเมตร
Wallace ตั้งสมมติฐานว่าความแตกต่างของพันธ์สัตว์บกในสองข้างของเส้นวอลเลซนั้น ก็เนื่องจากช่องแคบ Lombok Straight ที่คั่นอยู่นั้น มีความลึกมาก มีกระแสน้ำและคลื่นที่รุนแรง (ภาพที่ 2 รูปล่างซ้ายและขวาตามลำดับ) สัตว์บกไม่สามารถว่ายน้ำข้ามได้ แม้จะอยู่ห่างกันเพียง 35 กิโลเมตรเท่านั้น
อีกร้อยปีต่อมา นักธรณีวิทยาจึงเริ่มรู้จักทฤษฎีธรณีแปรสันฐาน (Plate Tectonic) ทำให้ทราบถึงความจริงที่ว่า ช่องแคบดังกล่าวนี้ เมื่อกว่า 20 ล้านปีก่อน จะมีความกว้างหลายร้อยหลายพ้นกิโลเมตร (ภาพที่ 3 รูปบน) เพราะว่าอันที่จริงแล้ว เกาะบาหลีและเอเชียอาคเนย์นั้นจะตั้งอยู่ในแผ่นทวีปยูเรเซีย ส่วนเกาะลอมบอกนั้น ตั้งอยู่ในแผ่นทวีปออสเตรเลีย เกาะและทวีปทั้งสองเข้ามาอยู่ใกล้ขิดกันเช่นนี้ เมื่อประมาณสิบล้านกว่าปีมานี้เอง
ในช่วงที่โลกถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็งยุคสุดท้าย หรือประมาณ 17-18,000 ปีผ่านมานั้น แผ่นดินซุนดาจะมีทะเลอยู่ที่ทะเลจีนใต้ นอกชายฝั่งของเวียดนามและบอร์เนียว แม่น้ำสายใหญ่ที่พัดพาเอาตะกอนจากแผ่นดินลงสู่ทะเลนั้น นักสัตววิทยาชาวอเมริกันชื่อ Harold Voris ระบุในปีค.ศ. 2001 ว่า มีทั้งหมด 4 กลุ่ม (ภาพที่ 4) โดยกลุ่มที่ไหลลงมาจากด้านเหนือนั้น เขาให้ขื่อว่า กลุ่มลุ่มน้ำสยาม (Siam river system) สายน้ำหลักคือเจ้าพระยาโบราณ และกลุ่มที่ไหลมาจากสุมาตราตอนกลาง รวมทั้งสิงคโปร์ และแผ่นดินใหญ่มาเลย์ น่าแปลกใจที่ Voris ไม่ได้เอ่ยถึงหรือให้ความสำคัญของแม่น้ำโขงเลย
จินตนาการจากภาพที่ 4 ดูเหมือนว่า คนไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย น่าจะเคยอาศัยอยู่ใกล้เคียงกันที่ปากแม่น้ำหมื่นแปดพันปีที่ไหลลงทะเลจีนใต้โบราณ
ท่านสารวัตรเห็นด้วยไหมครับ
-------------------------------------------------
ภาพที่ 2 ภาพแสดงเส้นวอลเลซ (Wallace Line)แสดงถึงความแตกต่างของพันธ์สัตว์บกที่ปัจจุบันอาศัยอยู่ทางด้านตะวันออก และตะวันตกของเส้นดังกล่าว รวมทั้งภาพจินตนาการให้เห็นว่าน้ำทะเลในช่องแคบลอมบอกที่คั่นกลางระหว่างเกาะบาหลีกับเกาะลอมบอกนั้น มีความลึกมาก(รูปล่างด้านซ้าย) และมีกระแสน้ำที่รุนแรงมาก (แนวสีขาวในรูปล่างด้านขวา) ทำให้สัตว์บกไม่สามารถอพยพข้ามได้
ภาพที่ 3 แผนที่แสดงให้เห็นว่าตำแหน่งของแผ่นดินซุนดา กับซาฮุลเมื่อยี่สิบล้านปีก่อนนั้น จะอยู่ห่างกันหลายร้อยหลายพันกิโลเมตร (รูปบน)
ภาพที่ 4 ภาพจินตนาการเชิงวิชาการแสดงถึง ระบบแม่น้ำที่สำคัญในพื้นที่ของแผ่นดินซุนดาครั้งสมัยยุคน้ำแข็งครั้งหลังสุด หรือเมื่อประมาณ 18,000 ปีก่อนหน้านี้ แหม ผู้เสียวซ่าน ไม่ให้เครดิตแม่น้ำโขงเลยนิ