Nares ไทย ลุยทุ่งกุลาตามประสานักธรณีฯ 4 (ว่าด้วยกลุ่มหินโคราช)
รูปที่ 1 ลำดับชั้นหินโดนรวมของกลุ่มหินโคราช ตามรายงานของ Ward and Bunnag, 1964 ซึ่งระบุว่าพบฟอสซิลเขี้ยวสัตว์ ในหมวดหินภูกระดึงกับเสาขัว และระบุว่า เป็นเขี้ยวของ Plesiosaur และ ichthyosaur ตามลำดับ ทว่า ทั้งสองชนิดนี้เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่อาศัยอยู่ในทะเล จึงขัดแย้งกับลักษณะทางธรณีวิทยาของกลุ่มหินโคราชที่แสดงว่าเป็นกลุ่มหินที่สะสมตัวบนแผ่นดิน (หมายเหตุ ปัจจุบันมีการยอมรับว่า ฟอสซิลที่พบในหมวดหินภูกระดึงนั้นคือ เขี้ยวของจรเข้ดึกดำบรรพ์ Chalawan thailandicus ส่วนเขี้ยวในหมวดหินเสาขัวนั้น เป็นของไดโนเสาร์)
ลุยทุ่งกุลาตามประสานักธรณีฯ 4 (ว่าด้วยกลุ่มหินโคราช)
อดีตกาลนานมาแล้ว นักธรณีวิทยาไทยจะจัดแยกหินตะกอนที่พบในราชอาณาจักรไทยออกเป็นตามหน่วยลำดับชั้นหินตามอายุกาลทางธรณีวิทยา (Chronostratigraphic Unit) นั่นคือเรียกชื่อโดยเน้นอายุของยุคหิน เช่น หินปูนที่มีอายุเพอร์เมียน ก็เรียกว่า “หินปูนราชบุรี (Ratburi Limestone)” ไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของประเทศ และหากพบว่าหินตะกอนนั้นๆ เกิดสะสมตัวในมหายุคชีวิตกลาง ไม่ว่าจะเกิดในทะเลหรือบนบก จะเรียกว่า “ชุดหินโคราช (Korat Series)” นั่นคือ รวมทั้งตะกอนที่เกิดในทะเลในยุคไทรแอสสิกที่พบในภาคเหนือของไทยด้วย
ต่อมาวงการธรณีวิทยาของเราได้มีข้อมูลและการเรียนรู้มากขึ้น หลังจากพบว่า การแยกประเภทของลำดับชั้นหินออกตามอายุของยุคหินนั้น มีปัญหาหลายด้าน จึงเปลี่ยนมาใช้การแบ่งหน่วยชั้นหินตามลักษณะหิน (Lithostatigraphic Unit) ดังนั้นหินที่เคยเรียกว่า ชุดหินโคราช ในปัจจุบันจึงถูกแยกออกเป็น มีชื่อเรียกว่า กลุ่มหินลำปาง (Lampang Group)ที่สะสมตัวในทะเลยุคไทรแอสสิก และกลุ่มหินโคราช (Khorat Group) ที่สะสมตัวบนบก
ในปีพ.ศ. 2507 ประเทศไทยได้รับความร่วมมือจากสำนักธรณีวิทยาของประเทศสหรัฐอเมริกา เข้ามาสำรวจธรณีวิทยาในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย หลังจากนั้นได้ออกรายงานเขียนถึงการนำเสนอกลุ่มหินโคราชอย่างเป็นทางการ โดยได้ระบุว่ากลุ่มหินโคราช แบ่งออกได้เป็น 7 หมวดหิน มีชื่อจากล่างสู่บนดังต่อไปนี้ (รูปที่ 1) ได้แก่ หมวดหินน้ำพอง ภูกระดึง พระวิหาร เสาขัว ภูพาน โคกกรวด และหมวดหินที่ไม่ได้ตั้งชื่อ (Unnamed Formation) โดยรายงานว่า หมวดหินที่อยู่บนสุดนั้นไม่มีชั้นหินที่โผล่ให้เห็นอย่างชัดเจน แต่สามารถระบุได้ว่าประกอบด้วยการสลับตัวของเกลือหิน กับหินโคลน หินทรายแป้ง และหินทราย โดยไม่ทราบลำดับชั้นหินที่แน่นอน
รายงานการสำวจดังกล่าว ได้ระบุถึงตำแหน่งของลำดับชั้นหินต้นแบบของแต่ละหมวดหินดังนี้ น้ำพอง และภูกระดึง อยู่ที่อำเภอภูกระดึง เลย เสาขัว อยู่ที่ห้วยเสาขัว หนองบัวลำภู (ปัจจุบันเรียกห้วยเฒ่าโต้) ภูพาน อยู่ที่ภูผาผึ้ง กาฬสินธุ์ โคกกรวด อยู่ที่ นครราชสีมา ส่วนพระวิหารนั้น ไม่มีลำดับชั้นหินต้นแบบ แต่มีตำแหน่งของหมวดหินต้นแบบอยู่ที่เขาพระวิหาร ชายแดนไทย-กัมพูชา และหมวดหินที่ไม่ได้ตั้งชื่อนั้น ไม่มีลำดับชั้นหินและตำแหน่งหมวดหินต้นแบบ เพราะไม่โผล่ให้เห็นที่ใดเลย
ต่อมาในปีพ.ศ. 2510 Gardner et al, 1967 ได้ตั้งชื่อหมวดหินมหาสารคามขึ้นมาแทนหมวดหินที่ไม่ได้ตี้งชื่อ โดยใช้ข้อมูลจากหลุมเจาะน้ำบาดาลที่วัดโพธิ์ศรี บ้านเชียงเหียน อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม เป็นข้อมูลอ้างอิง (รูปที่ 2) อย่างไรก็ตาม หลุมเจาะดังกล่าวเจาะโดยใช้น้ำจืด ทำให้ข้อมูลลำดับชั้นหินไม่ชัดเจน จึงไม่สามารถระบุถึงการวางตัวของชุดหินได้ถูกต้อง ข้อมูลโดยทั่วไปจึงคล้ายคลึงกับหมวดหินที่ไม่ได้ตั้งชื่อ มีข้อมูลเพิ่มเติมแต่เพียงว่า ความหนาของหมวดหินนี้ มีมากกว่า 600 เมตร ตามความสามารถของหลุมที่เจาะถึง จนกระทั่งกรมทรัพยากรธรณี ได้จัดตั้งโครงการสำรวจแร่โปแตช ในอีสานบ้านเฮา ทำให้มีการเสนอว่าลำดับชั้นหินของหมวดหินมหาสารคาม ประอบด้วยชุดหินจากล่างไปบนดังนี้ ชั้นเกลือล่างสุด ชั้นตะกอนล่าง ชั้นเกลือกลาง ชั้นตะกอนกลาง ชั้นเกลือบน ชั้นตะกอนบน (รูปที่ 3) จนกระทั่งปีพ.ศ. 2526 และในเวลาต่อไป Nares Sattayarak ได้เสนอให้แยกชั้นตะกอนบนออกมา เป็นหมวดหินภูทอก และบอกว่าหินส่วนใหญ่เกิดสะสมตัวในทะเลทราย ซึ่งต่อมาถูกแบ่งย่อยออกเป็นหมู่หินโดยกรมทรัพยากรธรณี (รูปที่ 3) ยิ่งไปกว่านั้น ได้ตัดหมวดหินมหาสารคามและภูทอกออกจากกลุ่มหินโคราช
ผลของการศึกษากลุ่มหินโคราชโดยละเอียดในเวลาต่อมา สรุปได้ว่า กลุ่มหินนี้เกิดสะสมตัวในแอ่งสะสมตะกอนโคราช โดยแม่น้ำหลายสาย ซึ่งโดยรวมแล้วจะไหลจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ หมวดหินน้ำพองนั้นจะสะสมตัวเฉพาะส่วนกลางของแอ่ง ในช่วงเวลาของเกือบทุกหมวดหิน จะเป็นการสะสมตัวโดยแม่น้ำโค้งตวัด (Meandering rivers)ในสภาวะที่ร้อนและแห้งแล้ง ยกเว้นหมวดหินพระวิหาร และภูพาน ที่ส่วนใหญ่เกิดจากแม่น้ำประสานสาย (Braided Rivers) ในสภาพอากาศที่ร้อน แต่ชุ่มชื้น
ผ่างงงงงง ยาแก้ไอน้ำดำตราเสือใหญ่พร้อมให้บริการแล้วครับ ท่านสารวัตร
-------------------------------------------------
ที่มา
- https://www.facebook.com/nares.sattayarak
รวบรวมข้อมูลและภาพ
-------------------------------------------------
บทความ ดร. นเรศ สัตยารักษ์ (Nares Sattayarak)
รวมบทความที่น่าสนใจจากนักธรณีวิทยาของไทย
-------------------------------------------------
ภาพที่ 2 ภาพข้อมูลการวัดคลื่นไหวสะเทือนในชั้นหินผ่านวัดเชียงเหียน อ. เมือง มหาสารคาม แสดงตำแหน่งหลุมเจาะน้ำบาดาล F-34 ที่ Gardner et al. 1967 นำข้อมูลที่ได้จากการขุดเจาะมาตั้งชื่อเป็นหมวดหินมหาสารคาม และผลของการแปลความหมายใหม่โดย Sattayarak and Polachan, 1990
ภาพที่ 3 ลำดับชั้นหินของหมวดหินมหาสารคามที่ได้จากหลุมเจาะของโครงการสำรวจค้นหาแร่โพแทชของกรมทรัพยากรธรณี และการแบ่งย่อยหมวดหินภูทอกออกเป็นหมู่หิน โดยกรมทรัพยากรธรณี