Nares ไทย ขอนแก่น เขาว่าอุทยานธรณีขอนแก่นเอียงซ้าย
รูปประกอบที่ 1 แผนที่ขอบเขตของอุทยานธรณีขอนแก่น และแผนที่ธรณีวิทยาในบริเวณที่เกี่ยวข้อง
อุทยานธรณีขอนแก่นมีพื้นที่ประมาณ 1,038 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมอุทยานแห่งชาติภูเวียง อำเภอภูเวียง และเวียงเก่า (ภาพบนของรูปประกอบที่ 1) ได้รับการจัดตั้งให้เป็นอุทยานธรณีระดับท้องถิ่น เมื่อปี 2561 และได้รับการประเมินเป็นอุทยานธรณีประเทศไทย เมื่อปี 2563 เมื่อได้ยื่นเสนอตัวเข้าร่วมเป็นเครือข่ายอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก ในปี 2566 ก็ได้มีการตั้งข้อสังเกตุว่า จำนวนของแหล่งมรดกทั้งทางธรณีวิทยา ทางธรรมชาติ และทางศิลปวัฒนธรรม จะอยู่ในเทือกเขาภูเวียงเป็นส่วนใหญ่ จึงเกิดคำถามขึ้นในใจของผู้คนว่า ด้านตะวันออกของอุทยานมีความสำคัญและสัมพันธ์อย่างไรกับด้านตะวันตก ทำไมจึงผนวกทั้งสองพื้นที่นี้เข้าด้วยกัน
ในฐานะนักธรณีวิทยา ข้าพเจ้าใคร่ขอคิดเห็นเพื่อยืนยันว่าพื้นที่ทั้งสองบริเวณนั้นโยงยึดและสัมพันธ์กัน โดยอ้างอิงถึงแผนที่ธรณีวิทยามาตราส่วน 1:250,000 ระวางจังหวัดขอนแก่น (ภาพล่างของรูปประกอบที่ 1) ดังนี้
โดยคำจำกัดความทางธรณีวิทยาแล้ว อุทยานธรณีขอนแก่น มิได้เป็นส่วนหนึ่งของที่ราบสูงโคราช แต่อยู่ในพื้นที่ภูเวียงที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของขอบที่ราบสูงโคราช (รูปประกอบที่ 2) ซึ่งพื้นที่ภูเวียงนี้ มีคำจำกัดความว่า “บริเวณที่ราบลอนลุ่ม สลับกับภูเขายอดเรียบ“ และในด้านธรณีโครงสร้างก็กล่าวได้ว่า ภูเขายอดเรียบนั้นคือสิ่งที่เหลือจากการกัดเซาะผุพังทำลายของโครงสร้างชั้นหินรูปประทุนหงาย ส่วนพื้นที่ราบลอนลุ่มคือ สิ่งที่เหลือจากโครงสร้างชั้นหินรูปประทุนคว่ำ ขยายความเพิ่มเติมก็คือเทือกเขาภูเวียง คือโครงสร้างชั้นหินรูปประทุนหงายภูเวียงที่อีกทั้งสองปลายต่างก็เอียงเทเข้าสู่ส่วนกลาง (Phu Wiang doubly plunging syncline) และมีแกนการคดโค้งในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้โดยประมาณ (เส้นสีแดงด้านซ้ายในภาพล่างของรูปประกอบที่1) ส่วนบริเวณด้านตะวันออกของอุทยานธรณีขอนแก่นที่ระบายสีม่วงเข้มและม่วงอ่อน รวมทั้งบริเวณที่ถูกปิดทับด้วยอ่างเก็บน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์นั้น จะพบชั้นหินที่วางตัวเอียงเทออกไปด้านตะวันออกและตะวันตกโดยประมาณ เพราะนี่คือสิ่งที่เหลือจากการกัดกร่อนทำลายของโครงสร้างชั้นหินรูปประทุนคว่ำภูเวียง ซึ่งมีแกนการคดโค้งวางตัวในแนวเกือบจะตะวันออกเฉียงเหนือ—ตะวันตกเฉียงใต้ (เส้นสีแดงด้านขวาในภาพล่างของรูปประกอบที่ 1)
ว่าอันที่จริงแล้ว ชั้นหินที่พบในพื้นที่ภูเวียงกับในที่ราบสูงโคราชนั้นเคยติดต่อเป็นพื้นที่เดียวกัน ในสมัยที่พื้นที่อีสานทั้งหมดเป็นแอ่งสะสมตะกอนขนาดใหญ่มหึมา เรียกว่า ”แอ่งสะสมตะกอนโคราช“ มีแม่น้ำหลายสายที่ไหลมาจากด้านตะวันออกพัดพาตะกอนมาตกสะสม ต่อมาเมื่อกลายเป็นหิน จะถูกเรียกรวมกันว่า “กลุ่มหินโคราช” ซึ่งสามารถแยกออกได้เป็น 6 หมวดหิน ที่เห็นในรูปประกอบที่ 1 จากแก่ไปอ่อนได้แก่ หมวดหินน้ำพอง (สีม่วงเข้ม) ภูกระดึง (สีน้ำเงิน) พระวิหาร(สีฟ้าอ่อน) เสาขัว(สีน้ำเงินเข้ม) ภูพาน(สีน้ำเงินแกมเขียว) และโคกกรวด (สีเขียว)
หากจะท้าวความเดิมย้อนกับไปในยุคไทรแอสสิก ข้อมูลทางธรณีวิทยาระบุว่า พื้นที่ภูเวียงซึ่งปัจจุบันเป็นจุดหนึ่งของอีสานบ้านเฮา และเป็นส่วนหนึ่งของเปลือกทวีปอินโดจีน (Indochina Continental Plate)นั้น ได้เชื่อมตัวกับเปลือกทวีปจีนใต้แล้วประมาณตอนต้นของยุคไทรแอสสิก จากนั้นเมื่อประมาณ 230-220 ล้านปีที่ผ่านมา เกิดการปริแตกของเปลือกโลกในแนวเกือบเหนือ-ใต้ ทำให้เกิดแอ่งสะสมตะกอนหนองเรือ เป็นรูปกึ่งกราเบน (รูปประกอบที่ 3) แอ่งดังกล่าวนี้จะมีตะกอนสะสมตัวอยู่ เทียบได้กับหมวดหินห้วยหินลาด เนื่องจากแอ่งตะกอนนี้ ไม่ได้โผล่ขึ้นมาให้เห็น จึงไม่สามารถระบุว่าประกอบด้วยหินอะไรบ้าง แต่จากลักษณะของคลื่นไหวสะเทือนในชั้นหิน เชื่อมั่นว่าเป็นตะกอนที่สะสมตัวในบึงน้ำจืด จากข้อมูลการวัดคลื่นไหวสะเทือน ยังสามารถบอกได้ว่า แอ่งหนองเรือนี้ถูกแรงกระทำทางธรณีแปรสันฐานเล็กน้อย จากนั้นจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของแอ่งสะสมตะกอนโคราช จนเมื่อเกิดเทือกเขาหิมาลัย แรงดันที่ถ่ายเทมาตามรอยเลื่อนขนาดใหญ่ของประเทศไทย จึงทำให้ชั้นหินโคราชโก่งงอขึ้นเป็นโครงสร้างชั้นหินรูปประทุนคว่ำภูเวียง (รูปประกอบที่ 3) ยิ่งไปกว่านั้น รอยเลื่อนปกติที่เคยทำให้เกิดแอ่งหนองเรือ ก็กลับเคลื่อนตัวเป็นรอยเลื้อนย้อนขึ้น ทำให้หมวดหินน้ำพองเคลื่อนตัวขาดจากกันหลายร้อยเมตร รอยเลื่อนนี้มีพลังต่อเนื่องขึ้นไปข้างบน ตัดผ่านชั้นหินโคราชทั้งหมด จนกลายเทือกเขาเควสต้าภูพานคำ อันเป็นขอบด้านตะวันตกของที่ราบสูงโคราช (เส้นสีแดงหนาประในรูปประกอบที่ 1) นั่นเอง
หวังว่าที่ข้าพเจ้าพรรณามานี้ น่าจะทำให้ผู้อ่านถึงบางอ้อได้ว่า พื้นที่ด้านตะวันตกกับตะวันออกของอุทยานธรณีขอนแก่น มีความสัมพันธ์กันอย่างไร ทั้งๆ ที่ลักษณะภูมิประเทศไม่คล้ายคบึงกันเลย
.
-------------------------
ที่มา
- https://www.facebook.com/nares.sattayarak
รวบรวมข้อมูลและภาพ
-------------------------
บทความ ดร. นเรศ สัตยารักษ์ (Nares Sattayarak)
รวมบทความที่น่าสนใจจากนักธรณีวิทยาของไทย
-------------------------
รูปประกอบ 2 การแบ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยออกตามลักษณะของธรณีสันฐาน โปรดสังเกตว่า อุทยานธรณีขอนแก่นตั้งอยู่ในพื้นที่ภูเวียง ซึ่งไม่นับว่าอยู่ในที่ราบสูงโคราช
รูปประกอบ 3 การแบ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยออกตามลักษณะของธรณีสันฐาน (เส้นสีน้ำตาลหนาคือล่างสุดของหมวดหินน้ำพอง โปรดสังเกตว่ามีการเคลื่อนตัวฉีกขาดหลายร้อยเมตร ตามแนวรอยเลื่อน)