Nares จีน ตะลุยเส้นทางสายไหมกับสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย 2 (ภูเขาสายรุ้ง)
รูปที่ 1 แผนที่แสดงที่ตั้งของอุทยานธรณีจางเย่ มลฑลกานซู่ จีน
ทริปเส้นทางสายไหมของสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทยในปีนี้ มีจุดทัศนศึกษาที่น่าทึ่ง สวยงามแปลกตา หลายแห่ง แต่สำหรับข้าพเจ้าแล้ว ยืนหนึ่งในกลุ่มก็คือ ภูเขาสายรุ้ง อย่างแน่นอน แน่นั่ง แน่ยืน และแน่เดิน
ภูเขาสายรุ้งเป็นเทือกเขาที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองจางเย่ มลฑลกานซู่ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 500 ตารางกิโลเมตร (รูปที่ 1)ได้รับการรับรองให้เป็นอุทยานธรณีจางเย่ (Zhangye Geopark) ระดับจังหวัดในปี 2005 ระดับประเทศในปี 2016 และระดับโลกในปี 2019 (UNESCO Global Geopark) ด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นพื้นที่ที่เกิดจากงานสร้างของธรรมชาติที่ยาวนาน มีความซับซ้อนจากกระบวนการทางธรณีวิทยาที่หลากหลาย ทั้งในด้านการแปรสัณฐาน การสะสมตัว การยกตัว และการกัดเซาะผุพังทำลาย
จากการที่มีสภาพภูมิศาสตร์เป็นทะเลกว้างใหญ่เมื่อหลายร้อยล้านปีก่อน และเกิดการสะสมตัวของตะกอนหลายยุค (รูปที่ 2 พื้นที่ O1, S1, D2, P1, T, และ T1) หลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลงสัณฐานธรณีหลายครั้ง จนกระทั่งเมื่อประมาณ 100 ล้านปีก่อน ในอนุยุค Aptian-Albian ซึ่งเป็นช่วงปลายของยุค Cretaceous ตอนต้น (อายุเท่าๆ กันกับหมวดหินโคกกรวดของกลุ่มหินโคราช) ก็เกิดแอ่งสะสมตะกอนจางเย่ (Zhangye Basin) (รูปที่ 2 พื้นที่ K1 มีดาวดำ) ซึ่ง Mao et al, 2022 ระบุว่าเป็นแอ่งที่เกิดจากการปริแตกของเปลือกโลก (rift basin) ทำให้เกิดแอ่งแบบกราเบน มีการสะสมตัวในสภาพแวดล้อมของเนินตะกอนน้ำพารูปพัด ที่ราบลุ่มแม่น้ำ และทะเลสาบ (แต่ก็ดันมีบางบทความในอินเตอร์เนตอ้างว่าตะกอนในแอ่งจางเย่นี้สะสมตัวในทะเล พู่นแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ป้ายข้อมูลแห่งหนึ่งที่อุทยานธรณีจางยี่ ได้แสดงภาพวาดในจินตนาการให้เห็นว่าตะกอนเกิดอย่างไร ถูกพัดพาอย่างไร และสะสมตัวอย่างไร ทว่า แอ่งสะสมตะกอนกลับเป็นทะเลไปจ้อย (รูปที่ 3) ตกลงแอ่งสะสมตะกอนจางเย่ มันเป็นแอ่งบนบก หรือในทะเลกันแน่ฟ่ะ)
นักธรณีวิทยาจีนระบุว่า การที่ทวีปอินเดียมุดตัวลงใต้ทวีปยูเรเซีย (ยุโรป+เอเชีย) เกิดภูเขาหิมาลัยและที่ราบสูงธิเบต ทำให้เกิดรอยเลื่อนและการคดโค้งโก่งตัวของชั้นหินในแอ่งจางเย่ (รูปที่ 4, 5 และ 6) ลักษณะทางธรณีวิทยาที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ รอยเลื่อนปกติด้านตะวันตกเฉียงใต้ ที่เคยเลื่อนลงในยุคครีเตเชียส จนเกิดแอ่งสะสมตะกอน ได้เคลื่อนตัวย้อนกลับ กลายเป็นรอยเลื่อนย้อน และบริเวณด้านเหนือของแอ่งจะถูกบีบอัดกลายเป็นโครงสร้างชั้นหินรูปประทุนหงาย (แนว A A’ ในรูปที่ 3 และ 4) ต่อจากนั้น กระบวนการกัดเซาะผุพังทำลายก็เกิดขึ้น จนเหลือความหนาของชั้นหินทั้งหมด 755 เมตร ประกอบด้วยหมวดหิน Xiagou ข้างล่าง และ Zhonggou ข้างบน ตามลำดับ (รูปที่ 7) ซากบรรพชีวินที่พบประกอบด้วย ต้นไม้ ไดโนเสาร์ และนก รวมทั้งอายุที่ได้จากการวัดธาตุกัมมันตรังสี ทำให้มั่นใจว่าหินตะกอนเหล่านี้ตกสะสมตัวในอนุยุคแอพเตียน-อัลเบียน หรือพร้อมๆ กับหมวดหินโคกกรวดของอีสานบ้านเฮา จังซั่นแล้ว
ชื่อเสียงอันโด่งดังของของภูเขาสายรุ้งมาจากลักษณะของภูเขาที่สวยงามมองเห็นโขดหินหน้าผาและหุบเขาที่กว้างสุดลูกหูลูกตา แทบจะปราศจากต้นไม้ปกคลุม มองเห็นชั้นหินที่วางตัวเอียงเทเป็นระเบียบ และหลากหลายสี เช่น แดง เหลือง น้ำตาล ส้ม ขาว เขียว (รูปที่ 8)โดยสีที่เด่นมากที่สุดจะเป็นสีแดง ซึ่งมาจากเหล็กออกไซด์ ซึ่งหากเป็นแร่ฮีมาไทต์ ซึ่งผุแล้วให้สีแดง หากเป็นแร่เหล็กนิดอื่น ก็จะได้สีที่ต่างไป เช่น แร่เกอไทต์ จะให้สีน้ำตาล แร่ไลโมไนต์ มักจะให้สีเหลือง นอกจากนี้ ในชั้นหินอาจมีแร่อื่นๆ ปะปนอยู่ได้ เช่นแร่คลอไรต์ ที่ถูกพัดพามาจากหินอัคนีชนิดเมฟิค จะให้สีเขียว หรือหากหินนั้นมีแร่แคลไซต์ หรือโดโลไมต์ปนอยู่ ก็จะมองเห็นชั้นหินเป็นสีขาว เป็นต้น เป็นกิ่ง เป็นก้าน และเป็นใบ
แจ้วหลบ ครับ ท่านสารวัตร
.
-------------------------------------------------
ที่มา
- https://www.facebook.com/nares.sattayarak
รวบรวมข้อมูลและภาพ
-------------------------------------------------
บทความ ดร. นเรศ สัตยารักษ์ (Nares Sattayarak)
รวมบทความที่น่าสนใจจากนักธรณีวิทยาของไทย
-------------------------------------------------
รูปที่ 2 ภาพแผนที่ธรณีวิทยาแสดงตำแหน่งของแอ่งสะสมตะกอนจางเย่ (พื้นที่สีเขียวเข้มมีดาวดำ)
รูปที่ 3 ภาพวาดแสดงการเกิด การเคลื่อนตัว และการสะสมตัวของตะกอน จากภูเขาสู่ทะเล
รูปที่ 4 ภาพจากกูเกิ้ลแสดงแนวการวางตัวของชั้นหินในแอ่งจางเย่ และเส้น AA’ ที่เป็นแนวแสดงภาพัดขวางในรูปที่ 5
รูปที่ 5 ภาพจินตนาการตัดขวาง แสดงรอยเลื่อน และการคดโค้งของชั้นหินรูปประทุนหงาย ตามแนว AA
รูปที่ 6 แผนที่เส้นขั้นความสูง แสดงรอยเลื่อนและโครงสร้างรูปประทุนหงายที่เอียงเทเข้าศูนย์กลางทุกด้าน อีกทั้งตำแหน่งจุดชมวิวทั้งสี่ และที่ทำการอุทยานธรณีจางเย่ (ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าทริปของเราจะแวะชมที่จุดไหนบ้าง)
รูปที่ 7 ภาพแสดงลำดับชั้นหินที่ Mao et al, 2022 สำรวจได้ความหนารวม 755 เมตร พร้อมภาพประกอบแสดงลักษณะของหินบางชั้น
รูปที่ 8 ภาพความสวยงามของภูเขาสายรุ้ง ที่ปรากฎในอินเตอร์เนต
............