iok2u.com แหล่งรวมข้อมูลข่าวสารเรื่องราวน่าสนใจเพื่อการศึกษาแลกเปลี่ยนและเรียนรู้

มิสเตอร์เรน (Mr. Rain) และมิสเตอร์เชน (Mr. Chain)
Mr. Rain และ Mr. Chain สองพี่น้องในโลกออฟไลน์และออนไลน์ที่จะมาร่วมมือกันสร้างสื่อสารสนเทศ เพื่อเผยแพร่ให้ความรู้ในเรื่องราวต่างๆ มากมายสร้างสังคมในการเรียนรู้ หากใครคิดว่ามันมีประโยชน์ก็สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้เลยโดยไม่ต้องตอบแทนกลับมา
Pay It Forward เป้าหมายเล็ก ๆ ในการส่งมอบความดีต่อ ๆ ไป
เว็ปไซต์นี้เกิดจากแรงบันดาลใจในภาพยนต์เรื่อง Pay It Forward ที่เล่าถึงการมีเป้าหมายเล็ก ๆ กำหนดไว้ให้ส่งมอบความดีต่อไปอีก 3 คน หากใครคิดว่ามันมีประโยชน์ก็สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้เลยโดยไม่ต้องตอบแทนกลับมา อยากให้ส่งต่อเพื่อถ่ายทอดต่อไป
ยืนหยัด เข้มแข็ง และกล้าหาญ (Stay Strong & Be Brave)
ขอเป็นกำลังใจให้คนดีทุกคนในการต่อสู้ความอยุติธรรม ในยุคสังคมที่คดโกงยึดถึงประโยชน์ส่วนตนและพวกฟ้องมากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวม จนหลายคนคิดว่าพวกด้านได้อายอดมักได้ดี แต่หากยึดคำในหลวงสอนไว้ในเรื่องการทำความดีเราจะมีความสุขครับ

Nares จีน ตะลุยเส้นทางสายไหมกับสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย 3 (อาเฮียกับภูเขาสายรุ้ง)

 

รูปที่ 1 ภาพจินตนากการแสดงการตกสะสมตัวของตะกอนจากเทือกเขาฉีเหลียน และถูกพัดพามาสะสมตัวในทะเล (ภาพบนซ้าย) ซึ่งหากจะหมายถึงตะกอนของแอ่งจางเย่แล้ว แอ่งนี้ต้องเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ กับ ทะเลสาบ ไม่ใช่ทะเล การเกิดรอยเลื่อนเนื่องจากการชนกันของอินเดียกับยูเรเซีย (ภาพบนด้านขวา) ก็ไม่น่าจะมีมากมายนัก กระบวนการกัดเซาะผุพังทำลายที่ตามมาเนื่องจาก ฝน แม่น้ำ และแสงแดด (ภาพล่างซ้าย) ก็วาดขึ้นมาแบบไม่ชัดเจนนัก ดูแล้วหน่อมแน้มเป็นอันมาก สุดท้ายการแสดงการเอียงเทของชั้นหิน (ภาพล่างขวา) น่าจะวาด ให้เห็นว่ามีการเอียงเททั้งสองข้าง เพราะจากลานชมวิว 1-5 นั้น จะต้องเห็นชั้นหินเอียงเทลงทั้งสองข้าง เนื่องจากมีโครงสร้างชั้นหินรูปประทุนที่เด่นชัดอยู่ในอุทยานธรณีแห่งนี้

ป.ล. ไม่ทราบว่าภาพนี้ บริษัทวาดเองหรือลอกมาจากแผ่นปิดของอุทยาน ดูน้อยลง


ข้าพเจ้าได้ท่องโลกออนไลน์เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับทริปตะลุยเส้นทางสายไหมของสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย ก็พบกับเพจของ Chinadiscovery ซึ่งแนะนำตัวเองว่าเป็น บริษัทท่องเที่ยวที่เชื่อถือได้ของจีน วันนี้จึงขอถ่ายทอดใบโฆษณาชวนให้นักท่องเที่ยวไปเที่ยวชมภูเขาสายรุ้งจางเย่ตันเซี่ยของอาเฮีย ดังนี้ (ข้าพเจ้าพยายามแปลภาษาอังกฤษของเขาให้เป็นภาษาไทยโดยไม่ใส่ความเป็นนักธรณีวิทยาเพิ่มลงไปเลย และหากอดใจไม่ได้ พิมพ์แถมเพิ่มลงไป ข้าพเจ้าก็จะใส่ไว้ในวงเล็บนะครับ)
ความเชื่อ
บริษัทเริ่มต้น (โม้) เกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้ว่า คนจีนมากมายเชื่อว่า ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระเจ้าได้ทำจานสีวาดรูปหลุดมือหล่นลงจากฟ้า ทำให้สีหลากชนิดราดชโลมเทือกเขาให้เป็นสีรุ้ง นักธรณีวิทยาจีนฟันธงว่า นี่คือผลงานชิ้นเอกของพระแม่ธรณี และสำหรับนักท่องเที่ยวแล้ว นี่คือหนึ่งสถานที่ที่คุณจะต้องมาแวะชมความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ และถ่ายรูปติดมือกลับบ้าน (สักสิบรูปร้อยรูปเป็นอย่างน้อย)
การค้นพบ
เพจนี้ยังเล่าอีกว่า เมื่อปี 2000 (พ.ศ. 2543) (ทำไมเพิ่งพบหวา) มีนักหนังสือพิมพ์คนหนึ่งกับชาวนาชื่อ Lei Yixing ได้พบเทือกเขาแห่งนี้ และนำข่าวสารออกไปตีพิมพ์เผยแพร่ จนทำให้ดินแดนนี้มีชื่อเสียงขจรขจาย ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น อุทยานธรณีจางเย่ตันเซี่ย (Zhangye Danxia Landform Geographical Park) (ชื่อมันทะแม่งๆ อย่างไรไม่รู้ รวมทั้งวันที่ได้รับประกาศนียบัตร แต่ละครั้งก็ไม่ตรงกัน) ซึ่งต่อมาได้ถูกรับรองให้เป็นมรดกโลกของยูเนสโก ( UNESCO World Heritage Site) ในปี 2009 (พ.ศ. 2552) (อิหลีบ้อ)
ความเป็นมาของจางเย่ตันเซี่ย
เพจนี้อธิบายว่า ต้องใช้เวลานานมากกว่า 24 ล้านปี ในการกำเนิดแร่ธาตุหลากสีขึ้นในเนื้อหินจนกลายเป็นชั้นหินหลากสี (ไม่แน่ใจว่าอาเฮียจะบอกว่า นี่คือเวลาการสะสมตัวของตะกอน หรือเวลาการเปลี่ยนสีกันแน่) เมื่อเวลาผ่านไปก็กลายเป็นหินเนื่องจากน้ำหนักที่กดทับซ้อนกัน (รูปที่ 1 ภาพบนซ้าย) หลังจากนั้น แผ่นทวีปอินเดียกับออสเตรเลีย ได้ชนกับทวีปยูเรเซีย (ยุโรป + เอเชีย) ทำให้แผ่นดินบริเวณนี้พับย่นอย่างไม่น่าเชื่อ (รูปที่ 1 ภาพบนขวา) ในเวลาต่อมา ฝน ลม แม่น้ำ และแสงแดด (รูปที่ 1 ภาพล่างซ้าย) ต่างก็ช่วยสลักเสลาเทือกเขาให้กลายเป็น ภูเขาหลากสี หลากรูปร่าง หลากขนาด เช่น หอคอย เสาหิน ปราสาทหิน (ข้าพเจ้าขอเติม เขาอีโต้ นะครับ) และโกรกธาร (รูปที่ 1 ภาพล่างขวา)
(ถึงข้าพเจ้าจะยังไม่เคยไปภูเขาสายรุ้งมาก่อน แต่จากการพิจารณาจากภาพถ่ายและวิดิโอท่องเที่ยว ก็เขื่อมั่นว่า แอ่งสะสมตะกอนจางเย่นั้นตกสะสมตัวบนภาคพื้นทวีป มิใช่ในทะเล ดังนั้น การกำเนิดและการพัฒนาของแอ่งควรจะเป็นไปดังที่ Mao et al, 2022 บรรยายไว้ในบทความตะลุยฯ ตอนที่ 2 ของข้าพเจ้า )
การตะลุยชมความงามของจางเย่ตันเซี่ย
ความประทับใจเกี่ยวกับความมหัศจรรย์ของจางเย่ตันเซี่ย ทำได้หลายวิธี คือ นั่งรถบริการเที่ยวชมภายในอุทยาน ขึ้นไปดื่มด่ำกับทิวทัศน์ที่สวยงามแปลกตาที่ลานชมวิว (high sightseeing platform) ที่ทางอุทยานสร้างขึ้นไว้เพื่ออำนวยความสะดวก ซึ่งมีลานยอดนิยมอยู่ 5 จุด (รูปที่ 2) แต่ระยะทางทั้งหมดจากจุด 1-5 นี้ ยาวมากกว่าสิบกิโลเมตร ดังนั้น บริษัทของอาเฮียจึงไม่แนะนำให้นักท่องเที่ยวเดินเท้า เพราะว่าสถานที่นี้ จะทั้งร้อน แห้งแล้ง และแสงแดดที่แผดจ้า เลยทีเดียวนะจ๊ะ นายจ๋า
ลานชมวิวไหนมีดีอะไรบ้าง
ประตูทางเข้าอุทยานมี 3 ด้าน คือ ด้านตะวันตก ด้านเหนือ และด้านตะวันออก (รูปที่ 2) โดยประตูด้านตะวันตกจะเป็นประตูหลัก นักท่องเที่ยวมักจะเข้าทางประตูนี้ และจะได้รับตั๋วให้เที่ยวชมลานชมวิว 1 ถึง 5 ที่นี่ หากอยากไปชมจุดอื่นๆ มากกว่านี้ต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่ม
ลานชมวิวที่ 1 (รูปที่ 2, 3 และ 4)
อาเฮียบรรยายว่า อยู่ห่างจากประตูทางเข้าด้านตะวันตกเพียง10 นาทีด้วยรถบัสบริการ เป็นลานที่ใหญ่ที่สุดในอุทยาน และเหมาะที่สุดในการถ่ายรูปพาโนรามาของเทือกเขา ท่านต้องเดินตามทางลาดขึ้นไปข้างบน จะได้เห็นวิวที่สวยงาม และโปรดมองไปทางด้านตะวันตก พยายามหาภูเขาที่ดูคล้ายกับหอยแครงยักษ์ ลิงเบิ่งทะเล หรือสงฆ์นมัสการพระพุทธ (เชื่อว่าเขาดังกล่าวเป็นหินแก่ ที่แยกออกจากภูเขาสายรุ้งโดยรอยเลื่อนย้อน)
ลานชมวิวที่ 2 (รูปที่ 2, 3 และ 4)
ห่างจากลาน 1 ประมาณ 20 นาทีตามรถบัส ลานที่ 2 เป็นพื้นที่ราบ แต่จะได้เห็นภูเขาสายรุ้งได้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
ลานชมวิวที่ 3 (รูปที่ 2, 3 และ 4)
ท่านสามารถเดินบนยอดเขาจากลาน 2 ไปลาน 3 ได้เลย เพราะอยู่ห่างกันเพียงไม่กี่ร้อยเมตร และก็จะได้ชมทิวทัศน์อันสวยงามตะการตา (อีกแหละ)
ลานชมวิวที่ 4 (รูปที่ 2, 3 และ 5)
ว่ากันว่า นี่คือลานชมวิวที่สวยที่สุด หากท่านเดินปีนเขาขึ้นไปสอง-สามร้อยเมตร ก็จะถึงจุดที่ถ่ายภาพอาทิตย์อัศดงได้สวยที่สุด(ในโลกนี้ หากไม่นับที่ที่สวยกว่า)
ลานชมวิวที่ 5 (รูปที่ 2, 3 และ 5)
เป็นจุดที่เหมาะในการถ่ายภาพพระอาทิตย์ทั้งขึ้นและตก มีภาพยนต์จีนที่โด่งดัง หลายเรื่องใช้ที่นี่เป็นโลเคชั่นถ่ายทำ
ลานชมวิวที่ 6, 7, 8, 9 (รูปที่ 2)
หากท่านจะไปชมลานเหล่านี้ ท่านต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มอีกต่างหาก (อาเฮียหยอดคำว่า สวยตระการตา ในทุกลานแหละครับ)

เป๋นจังใดหล่า พอเรียกน้ำย่อยได้บ้อ พ่อใหญ่.

-------------------------------------------------

ที่มา

-  https://www.facebook.com/nares.sattayarak

รวบรวมข้อมูลและภาพ

-  www.iok2u.com

-------------------------------------------------

บทความ ดร. นเรศ สัตยารักษ์ (Nares Sattayarak)

รวมบทความที่น่าสนใจจากนักธรณีวิทยาของไทย

-------------------------------------------------

 

รูปที่ 2 แผนผังแสดงทางเข้าอุทยานทั้ง 3 ประตู กับตำแหน่งของลานชมวิว (พื้นที่ระบายสีเหลือง) โปรดดูรูป 3, 4 และ 5 ประกอบเพื่อทราบตำแหน่งที่แน่นอน

รูปที่ 3 แผนที่แสดงเส้นชั้นความสูง แสดงลานชมวิวทั้ง 5 รวมทั้งตำแหน่งประตูเข้าด้านตะวันตก และที่ทำการอุทยานธรณีจางเย่ (ช่วงของเส้นชั้นความสูงคือ 10 เมตร) รอยเลื่อนที่แบ่งแยกหินตะกอนจางเย่ออกจากหินแก่จะอยู่ประมาณแนวโทนสีของแผนที่ต่างกันครับ

รูปที่ 4 แผนที่แสดงเส้นชั้นความสูง แสดงลานชมวิวที่ 1-3 (เฉพาะลานที่ 1 มีห้องน้ำ) (ช่วงของเส้นชั้นความสูงคือ 10 เมตร) ดังนั้นที่ลาน1 ระยะทางเดินจะประมาณ 500 เมตร ระดับความสูงต่างกันร่วม 30 เมตร รอยเลื่อนที่แบ่งแยกหินตะกอนจางเย่ออกจากหินแก่จะอยู่ประมาณแนวโทนสีของแผนที่ต่างกันครับ

รูปที่ 5 แผนที่แสดงเส้นชั้นความสูง แสดงลานชมวิวที่ 4 และ 5 (เฉพาะลานที่ 4 มีห้องน้ำ) (ช่วงของเส้นชั้นความสูงคือ 10 เมตร)

............

 

ขอต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์
www.iok2u.com
แหล่งข้อมูลสารสนเทศเพื่อคุณ

เว็บไซต์ www.iok2u.com นี้เกิดมาจาก แรงบันดาลใจในภาพยนต์เรื่อง Pay It Forward โดยมีเป้าหมายเล็ก ๆ ที่กำหนดไว้ว่า ทุกครั้งที่เข้าเรียนสัมมนาหรืออบรมในแต่ละครั้ง จะนำความรู้มาจัดทำเป็นบทความอย่างน้อย 3 เรื่อง เพื่อมาลงในเว็บนี้
ความตั้งใจที่จะถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับมาทำการถ่ายทอดต่อไป และหวังว่าจะมีคนมาอ่านแล้วเห็นว่ามีประโยชน์นำเอาไปใช้ได้ หากใครคิดว่ามันมีประโยชน์ก็สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้เลย โดยอาจไม่ต้องอ้างอิงที่มาหรือมาตอบแทนผู้จัด แต่ขอให้ส่งต่อหากคิดว่ามันดีหรือมีประโยชน์ เพื่อถ่ายทอดความรู้และสิ่งดี ๆ ต่อไปข้างหน้าต่อไป Pay It Forward