Nares จีน ตะลุยเส้นทางสายไหมกับสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย 6 (เบิ่งถ้ำกองข้าวสาลี)
รูปที่ 1 เขาม่ายจีซาน (เขากองข้าวสาลี) ที่ใครเห็นก็สงสัยว่าทำไมเป็นภูเขารองทรงสูงได้อย่างไร
อีกหนึ่งจุดในการแวะชมความงามความแปลกตา ความตื่นตาตื่นใจ ที่รับรองว่าจะต้องสร้างความตะลึง อึ้งทึ่งเสียว ให้แก่ลูกทัวร์ทุกคนเป็นแม่นมั่น ก็คือ ถ้ำม่ายจี่ซาน เมืองเทียนฉุ่ย มลฑล กานซู่ สาธารณรัฐประชาชนจีน
ถ้ำแห่งนี้มีชื่อตามภูเขาลูกหนึ่งในตอนเหนือของเทือกเขาชินหลิง (Qinling mountain) ภูเขาแห่งนี้มีรูปลักษณะเหมือน กองข้าวสาลี (ม่าย = ข้าวสาลี, จี = กอง, ซาน = ภูเขา) (รูปที่ 1) นับเป็นหนึ่งในสี่ถ้ำหินแกะสลักที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในจีน และมีชื่อเสียงระดับโลกด้วยศิลปะประติมากรรมอันงดงาม อันประกอบด้วยถ้ำ 194 คูหา มีรูปปั้นมากกว่า 7,800 ชิ้น และ ภาพวาดคลุมพื้นที่มากกว่า 1,000 ตารางเมตร จนได้รับการขนานนามว่า “หอนิทรรศการประติมากรรมตะวันออก” และในปี 2014 ถ้ำแห่งนี้ก็ได้รับการบันทึกไว้ในบัญชีรายชื่อมรดกโลกในฐานะมรดกบนเส้นทางสายไหม
ภูเขากองข้าวสาลีนี้ มีความโดดเด่นเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าตั้งอยู่ในเทือกเขาชินหลิงที่เขียวขจีเต็มไปด้วยต้นไม้นานาพันธ์ แต่เขาลูกนี้ที่สูง 142 เมตร กลับตั้งอยู่แยกออกมาอีกทั้งสองด้านของเขากลับกลายเป็นหน้าผาชัน ที่ด้านบนสามารถมองเห็นชั้นหิน ส่วนด้านล่างจะเป็นลานหินเชิงเขา ที่เกิดจากเศษหินหล่นตกลงมากองสุมกัน ข้าพเจ้าค้นหาไม่พบรายงานใดๆ เลยที่จะอธิบายว่าทำไมเขาลูกนี้จึงมีหน้าผาที่ไร้พืชพันธุ์ เห็นที่จะต้องขอร้องให้ลูกทัวร์ของสมาคมฯ ช่วยกันพิจารณาแล้วฟันธงว่า สาเหตุความเพี้ยนนี้เกิดจากอะไรแน่
ข้อมูลที่ข้าพเจ้าได้มาบอกแต่ว่า ชั้นหินที่ประกอบเป็นหน้าผาของเขาม่ายจีซานนี้ ประกอบด้วยหินกรวดมน สลับกับหินทราย และหินโคลนสีแดงแบบอิฐ (รูปที่ 2) อายุเทอร์เชียรีตอนบน (Upper Tertiary) (Tertiary เป็นชื่อเรียกยุคหิน ที่มีอายุระหว่่าง 66 - 2.5 ล้านปี ปัจจุบันถูกแทนที่ด้วยยุคพาลีโอจีน (Paleogene) กับนีโอจีน (Neogene); 65-23 และ 23-2.5 ล้านปีตามลำดับ)(Upper Tertiary ที่ว่านี้ น่าจะไม่เกิน 20 ล้านปี) แม้จะมีน้ำยาประสานเป็นปูนกับเหล็ก แต่หินก็มีการจับตัวไม่แน่นมากนัก จึงมีความคงทนต่ออกรับวนการผุพังทำลายต่ำ ซึ่งในทางตรงกันข้ามก็คือ สามารถขุดเจาะได้ง่าย
หากเรามองภูเขาม่ายจีซานในระยะไกล เราจะสามารถสังเกตุเห็นว้าด้านบนของเขาจะมีการสลับชั้นของหินที่บางชั้นก็นูนออกมา บางชั้นก็เว้าเข้าไป นี่คือหน้าผาตามธรรมชาติ ก่อนที่จะมีการปรับแต่ง ต่างจากด้านล่างซึ่งจะมีลักษณะค่อนข้างเรียบ จึงเป็นเรื่องที่น่าทึ่งว่าเมื่อคิดว่า คนโบราณทำสิ่งนี้ด้วยอุปกรณ์อะไร และทำได้อย่างไร (รูปที่ 3)
Yao et al, 2024 ศึกษาวิธีการโปะหน้าหินให้เรียบก่อนวาดภาพว่า คนโบราณใช้โคลนผสมกับทราย ในอัตราส่วน 30/70 กับ 70/30 พวกเขาพบว่าส่วนผสมทั้งสองสูตรได้ผลพอๆ กัน ในแง่ของความทนทานต่อการผุพังทำลาย (รูปที่ 4)
ปัจจุบันนี้ ภูเขาและถ้ำม่ายจีซานอยู่ในสภาพที่เสี่ยงต่อการคงทนอยู่ต่อไป เพราะอุปสรรคหลายด้าน ทั้งการผุพังทำลายจากสภาพอากาศ ฝน ความชื้น แสงแดด รอยแตกในชั้นหิน แผ่นดินไหว และแรงโน้มถ่วงของโลก (รูปที่ 5) เป็นต้น เป็นกิ่ง เป็นก้าน เป็นใบ เป็นดอก และเป็นเมล็ด
และที่ข้าพเจ้าเล็งไว้ก็คือ ถ้ำหมายเลข 121 ที่มีรูปปั้นของพระโพธิสัตย์กระซิบธรรม (รูปที่ 6) ไหว้พระบ้างครับ ท่านสารวัตร
-------------------------------------------------
ที่มา
- https://www.facebook.com/nares.sattayarak
รวบรวมข้อมูลและภาพ
-------------------------------------------------
บทความ ดร. นเรศ สัตยารักษ์ (Nares Sattayarak)
รวมบทความที่น่าสนใจจากนักธรณีวิทยาของไทย
-------------------------------------------------
............