Nares จีน ตะลุยเส้นทางสายไหมกับสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย 5 (หม้อเก่าถูกทั้งแฟนและน้ำกัดตีนจริงไหม)
รูปที่ 1 แผนที่ธรณีวิทยาของถ้ำหม้อเก่ากับบริเวณใกล้เคียง (Zhang et al, 2009)
ถ้ำหม้อเก่า เป็นกลุ่มของถ้ำที่พระภิกษุเจาะหน้าผาหินเข้าไป เริ่มต้นก็เพื่อนั่งวิปัสนา ต่อมาก็เป็นการสร้างรูปปั้นของพระพุทธรูป รวมทั้งภาพวาดด้านพุทธศิลป์และเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแหล่งมรดกโลกด้านวัฒนธรรม
ตำแหน่งที่ตั้งของถ้ำหม้อเก่านั้น กลุ่มนักธรณีวิทยา (Zhang et al, , 2009) ได้เสนอรายงานที่ประกอบกับแผนที่ธรณีวิทยาระบุว่า ถ้ำหม้อเก่าตั้งอยู่บนเนินตะกอนน้ำพารูปพัดตาชวน (Daquan alluvial fan) (รูปที่ 1)
แต่หากลองเปิดขยายแผนที่กูเกิ้ลให้ชัดเจนยิ่งขึ้น จะเห็นว่าหน้าผาที่ที่ถูกเจาะเป็นถ้ำนั้น อันที่จริงแล้ว ถูกกัดเซาะโดยแม่น้ำตาชวน (Daquan rivers) (รูปที่ 2, 3 และ 4)
จากข้อมูลที่รวบรวมได้ (การหาข้อมูลด้านธรณีวิทยาของจีน ด้วยเทคโนโลยีออนไลน์จากประเทศไทยนั้น เต็มไปด้วยความลำบาก ยุ่งยาก) ข้าพเจ้าจึงจะตั้งสมมุติฐานการเกิดหน้าผาหม้อเก่าขึ้นไว้ก่อน และหวังว่า จะสามารถสร้างปรากฏการณ์ “ขี่ม้าชมดอกไม้” โดยใช้เวลาและโอกาสอันน้อยนิดเพื่อพิสูจน์ว่า นิยายเรื่องนี้ จะเป็นจริงขึ้นมาสักกี่มากน้อย
เริ่มต้นเมื่อประมาณ 200 ล้านปี เกิดแอ่งสะสมตะกอนจางเย่ จนกลายเป็นกลุ่มหินจางเย่ วางทับแบบไม่ต่อเนื่องบนกลุ่มหินแปรเกร็ดสูง ต่อมาพร้อมๆ กับการเกิดเทือกเขาหิมาลัยเกิดรอยเลื่อน และชั้นหินคดโค้ง กลุ่มหินจางเย่ทางด้านตะวันตกกลายเป็นภูเขาหมิงชา กลุ่มหินแปรกลายเป็นภูเขาซันเว่ย (รูปที่ 2)
รอยเลื่อนที่เกิดขึ้น ทำให้แผ่นดินด้านเหนือทรุดตัวลง เกิดเป็นหน้าผาสูงชัน แรกสุดก็จะเกิดเศษหิน ร่วงหล่นลงไปสู่ที่ต่ำ ทำให้เกิด “หินลานหินเชิงผา” (talus) (รูปที่ 5 และ 2) ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ( รูปที่ 1) เรียงตัวทับซ้อนกัน จากล่างขึ้นบน ดังนี้ Q1, Q2 และ Q3 ซึ่งมีอายุไพลส์โตซีนตอนล่าง ตอนกลาง และตอนบน ตามลำดับ จากนั้นจึงเกิดการกัดเซาะของแม่น้ำตาชวน กัดเอาตะกอน Q2 และ Q3 ณ บริเวณต้นน้ำออกไป เหลือเป็นหน้าผาหินกรวดมนกับหินทราย ที่ต่อมามีการเจาะถ้ำเพื่อวัตถุประสงค์ในการบูชาและระลึกถึงพระพุทธเจ้า
ดูคนเดียวคงไม่ทันการณ์ คงจะต้องขอเชิญชวนให้ลูกทัวร์ตะลุยเส้นทางสายไหม ของสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทยให้ความร่วมมือด้วย
ซ่อยกันแหน่ พ่อตู้แม่ตู้
-------------------------------------------------
ที่มา
- https://www.facebook.com/nares.sattayarak
รวบรวมข้อมูลและภาพ
-------------------------------------------------
บทความ ดร. นเรศ สัตยารักษ์ (Nares Sattayarak)
รวมบทความที่น่าสนใจจากนักธรณีวิทยาของไทย
-------------------------------------------------
............