Nares นครราชสีมา ทัศนศึกษาอีสานออนซอนเด้ อนุสาวรีย์ช่างเจาะน้ำบาดาล
รูปที่ 1 อนุสาวรีย์ช่างเจาะน้ำบาดาลขึ้น ณ บริเวณหลุมเจาะ
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สรรพสิ่งในโลก เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับสูญสลายไป
เมื่อปี พ.ศ. 2505 ตามโครงการเจาะสำรวจน้ำบาดาลระดับลึก กรมทรัพยากรธรณี (กรมโลหกิจในสมัยนั้น) ได้เจาะหลุม M 13, M 14 บริเวณอำเภอสูงเนิน และสีคิ้ว นครราชสีมา ปรากฏว่าทั้งสองหลุมต่างก็พบน้ำบาดาล ซึ่งพุพุ่งสูงขึ้นมาหลายสิบเมตร แต่ต่อมาในอีกไม่กี่ปีก็ค่อยๆ ลดระดับลงจนน้ำไม่ไหลขึ้นมาได้เองอีกเลย
ระหว่างที่น้ำพุยังพุ่งขึ้นจากใต้บาดาลเองนั้น กรมทรัพยากรธรณีเห็นเป็นโอกาสเหมาะ จึงได้สร้างอนุสาวรีย์ช่างเจาะน้ำบาดาลขึ้น ณ บริเวณหลุมเจาะ (รูปที่ 1) และปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ แต่เนื่องจากในปัจจุบันนี้ น้ำไม่พุแล้ว มนต์ขลัง และความมหัศจรรย์ก็ถูกลืมเลือน แอ่งน้ำที่เคยมีอยู่ก็แห้งเหือดไป ไม่ค่อยจะมีผู้ที่สัญจรผ่านแวะเยือน เหลือแต่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล (หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลในปัจจุบัน) ที่่จะเข้ามาสักการะกราบไหว้ในวันสำคัญของกรมฯ
วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2568 ทริปทัศนศึกษาเชิงธรณีวิทยา อีสานออนซอนเด้ ของสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย จะแวะมา ณ สถานที่แห่งนี้ เพื่อนำเอาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหลุมน้ำบาดาลหลุมนี้ มาใช้อธิบายว่า พุทธพจน์ที่ข้าพเจ้าจั่วหัวไว้ข้างบนนั้น ถูกต้องอย่างที่สุด
ในวันนั้นเราจะเดินทางตามถนนมิตรภาพ ปีนขอบที่ราบสูงโคราช จนถึงจุดสูงสุดของถนนสายนี้ ที่ทางแยกซ้ายไปเขื่อนลำตะคอง และแยกขวาไปเขายายเที่ยง ถ้าสังเกตุให้ดี ท่านน่าจะเห็นว่ามีภูเขาที่นักธรณีวิทยาเรียกว่า “เขาอีโต้” (Cuesta) คือเขาที่ด้านหนึ่งมีหน้าผาชัน อีกด้านหนึ่งมีลักษณะเรียบ เอียงเทเล็กน้อย คล้ายกับมีดอีโต้ ซึ่งในบริเวณนี้จะเห็นสองแนวขนานกันสันแรกคือแนวของเขายายเที่ยง สันถัดไปคือแนวของเขาซับประดู่ (บริเวณที่ตั้งของลานหินตัดโบราณ) (รูปที่ 2) โครงสร้างทางธรณีวิทยาเช่นว่า ทำให้ชั้นหินของกลุ่มหินโคราชทั้งหมดเอียงตัวเทลงไปทางทิศตะวันออกโดยประมาณ (รูปที่ 3) บริเวณที่เป็นเทือกเขาและที่สูง ก็จะกลายเป็นพื้นที่รับน้ำ (recharge area) ที่น้ำฝนจะไหลซึมลงสู่ใต้ดิน แล้วไหลลงไปตามการเอียงของชั้นหิน ในกรณีของหลุม M 13 บ้านมะเกลือใหม่นั้น หลุมเจาะดังกล่าวเริ่มเจาะจากชั้นหินของหมวดหินโคกกรวด ที่มีความพรุนต่ำ เมื่อเจาะลงไปถึงหินทรายของหวดหินภูพานที่มีความพรุนและความซึมได้มากกว่า และระดับของภูมิประเทศของตำแหน่งหลุมเจาะต่ำกว่า ระดับความสูงของพื้นที่รับน้ำ (ลานหินตัด) น้ำบาดาลที่เจาะพบ จึงพุ่งขึ้นมาได้ตามหลักกลศาสตร์
เวลาผ่านไป น้ำในพื้นที่รับน้ำมีปริมาณน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าไม้ถูกทำลาย ปริมาณของฝน ซึ่งก็หมายถึงปริมาณของน้ำที่เติมลงใต้ดินน้อยลง ความดันของของน้ำในชั้นน้ำใต้ดินก็ลดลงโดยปริยาย จนไม่สามารถดันให้น้ำใต้ดินพุขึ้นมาได้ ท้ายที่สุดก็ต้องติดตั้งเครื่องสูบ เพื่อสูบน้ำขึ้นมาเติมลงในแอ่งเดิม เผื่อว่าจะเป็นจุดพักรถ หรือพักผ่อนหย่อนใจได้บ้าง
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้แล คุณโยม
.
-------------------------
ที่มา
- https://www.facebook.com/nares.sattayarak
รวบรวมข้อมูลและภาพ
-------------------------
บทความ ดร. นเรศ สัตยารักษ์ (Nares Sattayarak)
รวมบทความที่น่าสนใจจากนักธรณีวิทยาของไทย
-------------------------
----------------------------------------