มีเรื่องหนึ่งที่ข้าพเจ้าพึ่งจะทราบคือ แม่น้ำน่าน นั้น มีต้นกำเนิดของลำห้วยสาขาต้นน้ำน่าน สายหนึ่ง มาจากยอดเขายอดหนึ่ง เป็นน้ำซับเล็กๆ ก่อนที่จะไปรวมกับน้ำซับอีกหลายสาขา แล้วไหลขึ้นไปทางเหนือ
อีกด้านหนึ่งของยอดเขานี้ ก็ปรากฏน้ำซับเหมือนกัน แต่ไหลลงทางทิศใต้ ลงสู่ห้วยน้ำว้า ซึ่งลุ่มหุบเขาห้วยน้ำว้า ที่มีชื่อเสียงคือ นาขั้นบันไดแห่งหุบเขาสะปันนั่นเอง
ในคณะบ่าวหน้อยแอ่วเมืองน่าน ซึ่งเป็นนักธรณีวิทยาด้วยกัน ก็พูดคุยกันว่า หากเดินป่าไต่มาทางสันเขา จากทิศตะวันตก ไปทิศตะวันออก แล้วเจอร่องเขาที่แยกซ้ายขึ้นเหนือ และร่องเขาที่แยกขวาลงใต้นั้น ใครจะเลือกเดินตามร่องเขาทางซ้าย หรือ ทางขวา ก็ได้ เพราะอย่างไรก็จะไปเจอกันที่ ลำน้ำว้าจะไปบรรจบกับลำน้ำน่าน ที่ห่างออกไปอีกร้อยกว่ากิโลเมตร ปู้น
เมื่อคืนวาน ข้าพเจ้าเลือกที่จะเดินทางไปตามร่องน้ำด้านซ้าย ที่มุ่งหน้าขึ้นเหนือ ตามลำห้วยน่าน ไปชื่นชมบรรยากาศ นาขั้นบันได ที่หุบเขาบ้านเวร อันสวยงาม คล้ายๆ หุบเขาบ้านสะปัน แต่เล็กกว่า เอียงมากกว่า คนน้อยกว่า เงียบสงบกว่า บ้านสะปันที่เริ่มเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากแล้ว
คณะของข้าพเจ้าไปพักกระโจมเต้นท์ ที่ที่พักบ้านเวนิช ที่บ้านเวร ที่ซึ่งทำเลดี มาก อยู่ติดกับทางหลวง บนเขา สามารถมองเห็นหุบเขาบ้านเวร นาขั้นบันได และ ลำห้วยน้ำน่านที่อยู่เบื้องล่าง น้องผู้ดูแลบอกว่า ช่วงพีคของการท่องเที่ยวจะอยู่ช่วงหน้าฝน หลังจากชาวบ้านได้ปลูกข้าวในนาขั้นบันไดไปแล้วสัก 1เดือน ก็ราวๆเดือน กรกฎาคม ถึง กันยายน เพราะถ้ามองจากเต้นท์ที่พักก็จะเห็นนาขั้นบันไดเขียวขจี จนถึงเหลืออร่ามเต็มท้องทุ่ง พร้อมกับสายหมอกของฤดูฝนนั่นเอง แค่คิดก็ฟินสุดๆแล้วล่ะขอรับ
เช้าของวันนี้ พวกเราก็ตั้งใจอย่างยิ่งยวดที่จะตามหา จุดกำเนิดของลำน้ำน่าน พร้อมๆกับหาดูหินที่ประกอบเป็นแนวทิวเขากันด้วย
ระหว่างทาง เราจะเห็นว่า เนินดินสูงชันบริเวณตีนเขาเชิงเขาเกือบทั้งหมดจะเป็น Debris flow หรือ Talus flow หรือก็คือ ดินถล่ม หินถล่ม ตามร่องเขาที่สูงชัน หรือ เศษหินเศษดิน ผสมน้ำ ไหลลงมาตาม slope ที่ชัน โดยอาศัย Gravity โดยทั่วไปมากมากับน้ำฝนพันปีหมื่นปี หรือ แม้กระทั่งโดย การละลายของหิมะ หรือ ธารน้ำแข็ง และ อาจจะเกิดในสภาวะที่เป็นอากาศแห้งแล้ง Arid climate environment มั้ง?? เพราะข้าพเจ้าพยายามหาเศษไม้ หรือ เศษ Carbon flakes ก็ไม่เจอ จะเจอแต่ก้อนกรวดขนาดใหญ่ตั้งแต่ไม่กี่นิ้วฟุต ไปจนถึงสามสี่ฟุต ก็พอมองเห็น ในบางบริเวณ ก็จะเห็น ดินดานสีแดง mudstone วางตัวเป็นชั้นๆ อยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่จะแทรกอยู่ตามก้อนกรวดมนขนาดใหญ่ Boulder แบบไม่เป็นระเบียบ ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า จะจะมีน้ำพัดพามาด้วยความแรงแบบน้ำป่า จากยอดเขาสูงในยุคโบราณ ที่อาจจะถล่มลงมาเป็นระยะๆ
หินดินพวกนี้ แม้จะเกาะรวมตัวกันหนาแน่นดี แต่ ดินดาน Mudstone ที่ประสานก้อนกรวดขนาดใหญ่เหล่านั้น ก็ยังไม่แข็งตัวดี เจออิทธิพลของน้ำฝน น้ำบาดาล ก็อ่อนยุ่ยได้ง่าย เอามือบิออกก็พอไหว
เรายังเห็นร่องรอยการถล่มของดินหินภูเขาอยู่ไกลๆ ที่ซึ่งบางส่วน ก็ถล่มมาแล้ว และบางส่วนก็เห็นรอยแยกของแผ่นดิน น่าจะเตรียมจะถล่มลงมาในเร็วๆนี้
เมื่อเราเดินตามลำห้วยสายหนึ่ง ขึ้นไปทางต้นน้ำ จนถึงที่ที่เป็นตาน้ำผุด ตาน้ำซับออกมา ซึ่งเป็นต้นน้ำสาขาหนึ่งของลำน้ำน่าน ก็พบว่า บริเวณยอดเขา สันเขาที่ยังทนทานต่อการผุกร่อนนั้น เป็น Fluvial fine-grained sandstone ที่มีความหนาราวๆ 1-2 เมตร วางตัวซ้อนๆ กันอยู่ เม็ดทรายละเอียดที่มีการคัดขนาดที่ดี มีจุดขาวๆของ แร่ feldspar ที่ผุพังปะปนอยู่นิดหน่อย ประกอบกับ การที่มี Cementation ที่ไม่ดีนัก เราก็เลยอนุมาณว่า อายุไม่น่าจะแก่มากนัก และมีพี่เซียนบางท่าน กรุณาให้ความเห็นว่าน่าจะอายุ Jurassic ก็ประมาณ 100 -140 ล้านปี ซึ่งข้าพเจ้า ก็ยังแอบแย้งในใจเบาๆว่า น่าจะมีอายุอ่อนกว่านั้นมั้ง??
ป่าบริเวณต้นแม่น้ำน่าน จะเป็นป่าดิบชี้น อันอุดมสมบรูณ์ เขียวขจี ขนาดยอดเขาสันปันน้ำนี้ มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก ยังสามารถเกิดน้ำซับ ไหลให้ทั้งห้วยน้ำน่าน ไปทางเหนือ และ ห้วยน้ำว้า ลงมาทางใต้ได้เลย
ข้าพเจ้าก็อดคิดไม่ได้ว่า การที่แม่น้ำน่าน เกิดขึ้นมา ด้วยการไหลขึ้นเหนือ แล้วยังรักเมืองไทย โดยการไหลวกลงไต้ ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดี มิฉะนั้น ถ้าแม่น้ำน่าน ยังดื้อดึงไหลขึ้นเหนือ ไปลงแม่น้ำโขงแล้ว ป่านนี้แถวบ้านเวร อาจจะไปอยู่ในเขตลาวแล้วก็เป็นได้
ช่วงนี้บรรยากาศดี อากาศดี เหมาะกับการมาเที่ยวเมืองเหนือ เป็นอย่างยิ่ง ก็ขอถือโอกาสเพื่อนๆพี่ๆน้องๆ มาเที่ยว จังหวัดน่าน กันน่ะครับ
-------------------------------------------------
ที่มา
- https://www.facebook.com/waranon555
รวบรวมข้อมูลและภาพ
-------------------------------------------------
บทความ วรานนท์ หล้าพระบาง (Waranon Laprabang) รวมข้อมูล
รวมบทความที่น่าสนใจจากนักธรณีวิทยาของไทย-------------------------------------------------