Ijen UNESCO Global Geopark ตั้งอยู่ใน East Java ประเทศอินโดนีเซีย มีความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติและมีชื่อเสียงในด้านภูมิทัศน์ของภูเขาไฟ การก่อตัวทางธรณีวิทยาที่เป็นเอกลักษณ์ และมรดกทางวัฒนธรรม ครอบคลุมภูเขาไฟอิเจ็น Ijen Gunung ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่มีทะเลสาบปากปล่องสีฟ้าครามสวยงามที่รู้จักกันในชื่อคาวาห์อิเจ็น Kawah Ijen ซึ่งเป็นทะเลสาบที่มีความเป็นกรดมากที่สุดในโลก รวมถึงเขตสงวนชีวมณฑลเบลัมบังกัน ซึ่งกำหนดโดยยูเนสโกในปี 2559 (Unesco.org) https://www.unesco.org/en/iggp/geoparks/ijen
สำหรับนักธรณีวิทยาไทยเฉกเช่นตัวข้าพเจ้านี้นั้น การได้มาเห็นภูเขาไฟอันแปลกตา หายาก ด้วยสายตาตัวเองนั้น ได้สร้างความตื่นเต้นและประทับใจไม่รู้ลืมกับ สิ่งที่เห็นเบื้องหน้า นอกเหนือจากที่เห็นและอ่านในหนังสือตำราและสารคดีท่องเที่ยว
Gunung Ijen หรือ ภูเขาไฟอีเจ็น หรือบางทีคนไทยเราชอบเรียกว่า ภูเขาไฟอีเจี้ยน ที่สูงราวๆ 2800 เมตรนั้น ตั้งอยู่เกือบสุดของตะวันออกของเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย โดยตัวปากปล่องที่ข้าพเจ้าออกเดินทางไปตามทางเดินเท้าที่มีความลาดชันตี้งแต่ที่ระดับความสูง 1800 เมตร ไปจนถึงจุดชมวิวแรกที่ความสูง 2280 เมตร ตั้งแต่ 04:00 น. เพื่อไปชมพระอาทิตย์ขึ้น และชมเปลวไฟสีน้ำเงิน ในปล่อง Kawah Ijen แต่เนื่องจากช่วงนี้เป็นฤดูร้อน พระอาทิตย์ตื่นเช้ามาก และ กว่าข้าพเจ้าจะเดินลากสังขารไปถึงปากปล่อง ก็เป็นเวลาล่วงไปถึง หลังหกโมงเช้าแล้ว พระอาทิตย์ยังไม่โผล่ แต่สว่างแล้ว ก็เลยอดดูเปลวไฟสีน้ำเงิน Distinctive blue fire phenomenon อันลือลั่น เนื่องจากมีแสงสว่างมากเกินไป คงเหลือแต่ Crater Lake หรือ ทะเลสาปปากปล่องภูเขาไฟที่มีน้ำสีฟ้าอมขาว แบบเทอรคอยส์ หรือสี Turquoise ที่มีไอน้ำร้อนและควันลอยออกมาทั่วไป
ในมุมมองของนักธรณีวิทยา และ นักภูเขาไฟวิทยานั้น ได้อธิบายการเกิดเหตุการณ์ตามธรรมชาตินี้ไว้ว่า สารละลายเคมีที่เกิดจากปฏิสัมพันธ์ของสารระเหยแมกมาติก ทำปฏิกิริยากับหินตะกอนที่รองรับอยู่ใต้ภูเขาไฟ กับของเหลว การระเหย การเจือจางด้วย Meteoric water และการรีไซเคิลน้ำผ่านระบบความร้อนใต้ผิวดิน น้ำในทะเลสาบจะดูดกลืนไอแมกมาติกที่เป็นกรด ซึ่งนำไปสู่การสะสมตัวของน้ำที่มีความเป็น กรดสูง
เมื่อมองไกลๆ จะดูเหมือนฟองอากาศกรด ผุดขึ้นมาปุดๆ แล้วกลายเป็นไอ ลอยขึ้นไปในอากาศ เหนือผิวน้ำสี Turquoise โอพระช่วยกล้วยทอด นี่มันเป็นหม้อนรกบนดินหรือเปล่า ดูจะน่ากลัวยิ่งกว่ากะทะทองแดงที่เขาเล่าขานกัน สงสัยจังว่า คนหรือสัตว์ตกลงไป เนื้อหนังกระดูกคงจะละลายหายไปอย่างรวดเร็วหรือเปล่าหนอ สยองงง
ปรากฏการณ์ไฟสีน้ำเงิน ซึ่งเกิดลุกไหม้ตามธรรมชาตินี้นั้น เกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างไอร้อนกำมะถันเข้มข้นที่มีอุณภูมิสูงถึง 360°C กับ ออกซิเจนในอากาศ ปรากฏการณ์นี้สังเกตได้เฉพาะในช่วงเวลากลางคืนเนื่องจากความเข้มของแสงแดดที่มากเกินไปบดบังการมองเห็นของเปลวไฟสีน้ำเงิน แต่ข้าพเจ้าก็ขอแนบภาพถ่ายเปลวไฟสีน้ำเงิน Distinctive phenomenon blue frames ของ UNESCO มาให้ดูแทนน่ะครับ สวยจริงๆ จนคิดว่าจะต้องมาดูด้วยตาให้เห็นจงได้ ฝากไว้ก่อนน่ะ Gunung Ijen
ด้วยความเป็นนักธรณีวิทยา ที่เป็นแล้วรักษาไม่หายนี้นั้น ก็อดไปด้อมๆมองๆดูหินที่อยู่ตามทางเดินและปากปล่องภูเขาไฟอีเจี้ยนไม่ได้ และพบว่า ส่วนใหญ่เป็น Pyroclastic คือ เถ้าถ่านหินร้อนจากภายใต้โลกที่ถูกเป่าพ่นออกมา แล้วหล่นสะสมตัวรวมกัน แต่เนื่องจากการเป่าพ่นปะทุออกมามีหลายชั้น ซึ่งแต่ล่ะชั้นก็มีส่วนประกอบ และ อุณหภูมิที่แตกต่างกัน เวลาร่วงลงจากอากาศ ก็ทำให้เกิดเป็นชั้นที่มีสีสรร ขนาด ที่แตกต่างกัน เป็นชั้นๆสีๆ สวยงามทีเดียว
ใช่แต่จะมีแค่ Pyroclastic เท่านั้น ข้าพเจ้าก็ยังเห็น หินประเภท Basalt ด้วยน่ะ แต่แอบเห็นว่าสีของบ่ะซ้อล์ทที่นี่สีจางสักหน่อย และบางส่วนก็เห็นเป็นเหมือนหิน Pumice หรือหินแก้วที่มีรูพรุน แต่บางส่วนบางโซน ก็เกิด Hydrothermal alterations กลายเป็น clays สีขาวๆเบาๆก็มี
อ้อ ควันไอน้ำสีขาวๆที่พวยพุ่งขึ้นมานั้น เขาว่ากันว่ามีความเข้มข้นของไอกำมะถันสูงมาก จากภูมิปัญญาชาวบ้านแถวนี้ ที่ใช้ท่อเหล็ก เสียบดักให้ไอน้ำกรดและกำมะถันออกมาอีกทาง แต่ท่อเหล็กทำให้อุณหภูมิเย็นตัวลงอย่างรวดเร็ว โดยที่ไอกำมะถันร้อนยังไม่ทันไดสัมผัสอากาศ ไอกำมะถันร้อนจึงควบแน่นเป็นของเหลว และแข็งตัวในที่สุด เมื่อสะสมรวมตัวกันได้หนาพอ ชาวบ้านก็จะเอาฆ้อนสิ่วชะแลง ทุบงัดเอาก้อนกำมะถันบริสุทธิ์ หาบจากขอบทะเลกรด เอาขึ้นมาขาย
ที่น่ากลัวมากในสายตาของข้าพเจ้าก็คือ ไอน้ำกรดควันสีขาวๆนั่น แม่จะเป็นไอน้ำเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีปริมาณก็าซไข่เน่า H2S และ ไอกรดซัลฟูริค อยู่เยอะพอสมควร ชนิดว่าเวลาไอสีขาวๆนั้น พัดมาถึงปากปล่องที่ข้าพเจ้ายืนอยู่ แม้ว่าจะใส่หน้ากากกันก๊าซพิษ ข้าพเจ้ายังได้กลิ่นก๊าซซัลเฟอร์อยู่เลย แต่ที่แน่ๆ แสบตาด้วยขอรับ
แล้วชาวเหมืองอินโดนีเซียที่ลงทุนเสี่ยงชีวิต ไต่ลงปากปล่องไปหาบเอา Sulphur บริสุทธิ์ขึ้นมาขายนั่น จะเป็นอย่างไรหนอ แม้ว่าจะใส่หน้ากากกันพิษอันเก่าๆ และแว่นตาก็ตาม นี่ต้องยกมือให้เครดิตความกล้าหาญของชาวเหมืองแร่ Kawah Ijen จริงๆน่ะขอรับ
การมาเที่ยวชม Gunung Ijen และ Kawah Ijen นี้ ข้าพเจ้าคิดว่ามาผ่านเกาะบาหลี น่าจะสะดวกสุดน่ะขอรับ จึงแน่ะนำและเชื้อเชิญเพื่อนๆพี่ๆน้องๆมากันครับ
Kawah Ijen อันลือลั่น จากจุดชมวิว Wisata Kawah Ijen
บนปากปล่องนี่ก็มีต้นไม้ขึ้นอยู่ด้วยน่ะ ข้าพเจ้าเดินสำรวจดูก็เห็นว่าบางส่วนน่าจะถูกไฟนรก Pyroclastic แผดเผา และถูกปิดทับถมด้วยเถ้าภูเขาไฟแต่มันไม่ยอมแพ้ ยังอุตส่าห์งอกงามขึ้นมาใหม่ได้
บางทีควันไอน้ำสีขาวพ้ดปลิวมาก็รีบเอาหน้ากากมาใส่ที มันร้อนอึดอัดน่ะขอรับ เลยใส่มั่งไม่ใส่มั่ง ถ้าอยู่เหนือลมก็โอเคอยู่น่ะขอรับ
ชั้นของ Pyroclastic แต่ล่ะชั้น แต่ล่ะสี ที่เกิดจากการระเบิดแตกต่างเวลากัน และ แต่ล่ะครั้งก็มีส่วนประกอบของหินและก๊าซแตกต่างกัน ชั้นบางๆก็คงไม่ระเบิดไม่นาน หรือไม่แรง ส่วนชั้นหนา ก็คงเพราะอั้นไว้นาน
เมื่อเดินเข้าไปในบริเวณที่มีไอควันก๊าซสีขาวๆ กลิ่นก๊าซชัลเฟอร์แรงมาก ก็ต้องใช้หน้ากากกันก๊าซพิษสักหน่อย แต่ไม่ได้เอาแว่นตาแบบแว่นตาว่ายน้ำมาด้วย ก็เลยแสบตาอ่ะครับ
ซูมดูต้นตอของไอควัน
ซัลเฟอร์บริสุทธิ์ก้อนนี้น่าจะหนักสัก 5-6 กิโลกรัมเห็นจะได้