เริ่มต้นจาก หินภูเขาไฟ ไปหินลับมีด สู่การพัฒนาแหล่งดินขาว แปรรูปเป็นชามตราไก่ ของดีเมืองลำปาง
ปลายอาทิตย์แรกของ ต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปสังเกตุการณ์ สถานที่ที่น่าสนใจที่มีลักษณะเด่นทางด้าน ธรณีวิทยา ภูมิประเทศอันโดดเด่นสวยงาม วัตถุดิบทางธรรมชาติ และเรื่องราวอันน่าสนใจ ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับ ชีวิตความเป็นอยู่ ศิลปวัฒนธรรม และ เศรษฐกิจ และ ของดีต่างๆ ของเมืองลำปาง ร่วมกับคณะทำงานผสมผสานกันระหว่าง กรมทรัพยากรธรณี ทรัพยากรธรณีเขต 1 ลำปาง และ สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย ในการที่จะหาช่องทางส่งเสริมและสนับสนุนโครงการ อุทยานธรณีลำปาง Lampang Geopark ให้เป็นที่เลื่องลือ และรู้จักแก่คนทั่วไป มากยิ่งขึ้น
หนึ่งในเรื่องราวที่โดดเด่นของเมืองลำปาง นอกจาก รถม้า และ สถานีโทรทัศน์ช่อง 8 ลำปางแล้ว ข้าพเจ้าคิดว่า เรื่องราวของดินขาวและชามตราไก่ ที่มีอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง ที่สามารถส่งออกไปขายทั่วประเทศ และ ต่างประเทศ นั้น น่าจะเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป และ มีส่วนเกี่ยวข้องกับคนลำปาง ไม่มากก็น้อย
มีเรื่องเล่ากันว่า มีคนจีนอพยพคนหนึ่ง ชื่อ อาปาอี้ ฉินซิมหยู (หากสะกดชื่อผิดก็ต้องขออภัยด้วยครับ) อพยพไปอยู่เชียงใหม่ สังเกตุเห็นว่าชาวบ้านนิยมใช้หินลับมีดสีขาวๆ กัน แต่จากประสบการณ์ตั้งแต่อยู่เมืองจีนว่า หินหน้าตาแบบนี้ น่าจะ เป็นหินชนิดเดียวกันกับหินที่ให้ดินขาว ที่เอามาปั้นถ้วยชามเครื่องเคลือบราคาแพงในประเทศจีน (น่าจะให้ปริญญาเกียรตินิยมสาขาธรณีวิทยา จังเลย)
ในปี 2498 ท่านก็ดั้นด้นมาตามหาแหล่งหินลับมีดจนพบที่ อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง แล้วจึงนำดินขาว และ หินสีขาวจากบริเวณนี้ ไปทดลองปั้น และ เผาเป็นเครื่องปั้นดินเผา ผลที่ออกมาก็ได้ใกล้เคียงกับเครื่องปั้นดินขาวในประเทศจีน นั่นก็คือที่มาของการพัฒนาไปสู่การค้นพบแหล่งดินขาวขนาดใหญ่ที่สำคัญของประเทศ
ในมุมมองของนักธรณีวิทยาแบบข้าพเจ้า ที่เป็นแล้วรักษาไม่หายนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า ตัวดินขาวนี้ เป็นส่วนที่ผุพังและแปรเปลี่ยนสภาพของหินเดิม คือหินไรโอไรต์ Ryorite ที่เป็นหินภูเขาไฟชนิดหนึ่ง
ที่มา https://www.facebook.com/waranon555
รวบรวมข้อมูลและภาพ www.iok2u.com
-------------------------------------------------
บทความ วรานนท์ หล้าพระบาง (Waranon Laprabang)-------------------------------------------------
ผลิตภัณฑ์จากดินขาว ของเมืองลำปาง ก็มีหลากหลาย ตั้งแต่ตุ๊กตาตัวเล็กๆ แจกัน แก้วกาแฟขนาดต่างๆ จานชามหลากหลาย แต่ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ดินขาวนี้ จะนำมาใช้ผลิตเฉพาะส่วนที่เป็นใส้ในเท่านั้น ส่วนที่เคลือบอยู่ด้านนอกนั้น มักจะเป็นแร่เฟลสปาร์ เกรดสูง ที่มีสีขาว หรือ ใช้สีเขียนลงบนพื้นดินขาว ก่อนเอาไปจุ่มในน้ำยาเคลือบ ก่อนนำไปเผา
ถ้วยกับข้าวตราไก่ แบบมีฝา ข้าพเจ้าชอบใช้เอาไว้อุ่นอาหารในเตาไมโครเวฟ สะดวกดี
ตราไก่รุ่นใหม่ ทันสมัยกว่าเดิม ดังไม่ดัง ก็อยู่ใน พิพิธภัณฑ์ของ กรมทรัพยากรธรณี ได้ก็แล้วกาน
ดินขาวที่ผ่านการปรับปรุง แล้ว พร้อมที่จะนำเอาไปแปรรูปเพิ่มมูลค่าได้
ถ้าเอามือโกยดู ก็จะเห็นส่วนที่เป็นผง ในคือดินขาวลำปาง และ ส่วนที่เป็นก้อนเล็กๆนั้น อันที่จริงก็เป็นแบบเดียวกับที่เป็นผงนั่นแหล่ะ ขอรับ แต่เมื่อทำให้เปียก ก็จับตัวเป็นแผ่นเป็นก้อน พอแห้ง ก็จะหดตัวน้อยมาก แต่จะแข็งจนอาจจะนึกว่าเป็นหิน ซึ่งสามารถนำไปบด ให้เป็นผงใหม่ได้
ดินขาวส่วนที่เปียกแล้วตากให้แห้ง (ก่อนเผา) ก็มีคุณสมบัติที่แข็งพอตัว เอามือ บิ ไม่แตกง่ายๆ
ก้อนดินขาว (ในพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง) ก้อนนี้มีสีขาวสวย น่าจะมี % ของ Kaolinite สูง และ มี % Illite ต่ำ มีแร่เหล็ก และ แมงกานีส เป็น impurity น้อย หรือ เกือบไม่มีเลย ในเมื่อติดป้ายว่าเป็นแร่ ข้าพเจ้าก็อนุมานว่า น่าจะเป็น หิน Rhyolite ที่ถูกกระบวนการ Weathering & Hydrothermal Alterations จะเปลี่ยนแปลงไปเป็น Kaolinite & Illite แล้วทั้งก้อน
สภาพเหมืองดินขาวแห่งหนึ่ง ในอำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ที่ได้มีการขุด ขูด ตัก เอาดินขาวออกไปเป็นจำนวนมากแล้ว รอบๆภูเขาลูกนี้ จนเหลือแต่แกนกลางที่ตัวหิน Rhyolite ยังไม่ถูก เปลี่ยนแปลงสภาพ Hydrothermal Alterations อ้อ อันที่จริง คนลำปาง เขาก็ตั้งชื่อ หิน Rhyolite ที่ไม่ถูกแปรสภาพนี้ว่า หินกระเทย ด้วยน่ะครับ
แค่ขนาดโดนถาก โดนขุด เอาดินขาวรอบๆแกนกลางออกไปเป็นจำนวนมากแล้ว ก็ยังเห็นว่า ตัวแกนกลางที่เหลือ ก็ยังเป็นเขาสูง กว่าพื้นที่รอบๆ จากสีน้ำตาลที่เห็น คาดว่าน่าจะเป็นส่วนที่มี เหล็กออกไซด์ และ แมงกานิสสูง ทำให้ดินขาวที่ได้ มีคุณภาพต่ำลง หรือ อาจจะเป็น Rhyolite ที่มีขนาดผลึกแร่ที่ใหญ่ขึ้น หรือเปล่า?? เสียดายที่ไม่ได้เดินขึ้นไปดู