Waranon ญี่ปุ่น ฟูโกโอกะ ภูเขาไฟอาโสะ (Mount Aso)
ด้วยความที่ข้าพเจ้าเป็นนักธรณีวิทยา ที่เป็นแล้วเป็นเลย รักษาไม่หาย จะเอาคืนให้เขาไปก็ทำไม่ได้ ดังนั้น เมื่อมีโอกาส ก็จะพยายามเสาะหาอะไรที่เกี่ยวกับ "ธรณีวิทยา" หรือ อะไรที่เกี่ยวกับ โลก หิน ดิน แร่ วิวสวยๆ สถานที่ที่มีจุดเด่นทางธรณีวิทยา Geological significants หรือ อะไรที่มีชื่อเสียง ในด้านธรณีวิทยา เพื่อหาความรู้ประสบการณ์ใส่ตัว และเติมเต็มกับ ธรรมชาติวิทยาอันสวยงาม
เมื่อทราบว่า Thai Vietjet จัดโปรโมชั่นตั๋วเครื่องบินพร้อมที่พัก ข้าพเจ้าก็ไม่รีรอที่จะเข้าไปจอง และวางแผนเที่ยว เพราะ จำได้ว่า ภูเขาไฟอาโสะ Mount Aso แห่งจังหวัด Kumamoto นั้น น่าจะอยู่ไม่ไกลจาก Fukuoka จึงน่าไปเที่ยวชมมากๆ
อันที่จริง ภูเขาไฟอาโสะนี้ แม้ว่าเมื่อมองจากด้านข้าง จะเป็นรูปกรวยคว่ำ สูงเด่นอยู่อันเดียว เมื่อมองดูบน Google map ก็จะเห็นบริเวณตีนเขาแผ่เป็นรูปวงกลมแต่รีรี นิดหนึ่ง เกือบกลม ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 100 ตารางกิโลเมตรนั้น ด้านบนกลับมีปากปล่องภูเขาไฟน้อยใหญ่หลายแห่ง หรือหลายปล่องด้วยกัน แต่ปากปล่องใหญ่ๆ นั้น มี 5 ปล่องด้วยกัน จนได้รับการขนานนามว่า "ปล่องภูเขาไฟทั้งห้าแห่งอาโสะ 5 volcanoes of Aso" อันได้แก่ Nakadake นากาดาเก่ะ, Takadake ทากาดาเก่ะ, Kijimadake กิจิมาดาเก่ะ, Eboshidake อิโบชิดาเก่ะ และ Nekedake นีกีดาเก่ะ เกาะกลุ่มกันอยู่ในบริเวณกลางๆของวงรี ทั้งนี้ ปากปล่องภูเขาไฟ Nakadake นี้นับว่าใหญ่สุด กว้างสุด ลึกสุด และยังทรงพลัง ที่มีการตื่นจากหลับไหลแทบจะทุกๆสิบปี โดยการระเบิดของปล่องภูเขาไฟ Nakadake ครั้งใหญ่ ครั้งสุดท้าย และ มีแผ่นดินไหว แบบเบาๆ จนถึงหนักๆ นับพันๆหมื่นๆครั้ง (ถ้าแผ่นเนไหวเบา เช่น ต่ำกว่า สเกล 1 ริกเตอร์ เราอาจจะไม่รู้สึกตัวก็ได้) เป็นส่วนประกอบด้วยนั้น แผ่นดินไหว และการระเบิดของภูเขาไฟ อาโสะ นั้น เกิดครั้งสุดท้ายในปี 2016 หรือ 8 ปีที่แล้ว และ Nakadake ได้พ่นควันหินร้อน Pyroclasstic ที่มีส่วนประกอบของเศษฝุ่นหินร้อนและไอน้ำ พุ่งไปบนชั้นบรรยากาศสูงสิบกว่ากิโลเมตร (เป็นเหตุการณ์และเวลาเดียวกันที่ทำให้ ปราสาท Kumamoto พังลงมา และ กระเช้าไฟฟ้า ขึ้นไปปากปล่อง Nakadake ก็พังทะลายเรียบ) และระหว่างนั้น ก็อาจจะมีการสะอึก ปะทุเล็กๆน้อยๆอีกหลายครั้งครับ
จากเอกสารอ้างอิงบางแห่งเขาว่า การปะทุครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อแสนปีที่แล้ว แต่ข้าพเจ้าคิดว่าน่าจะนานกว่านั้น เพราะ การเกิดของภูเขาไฟ จะเป็นผลที่เกิดจากการชนกันของแผ่นเปลือกโลก Pacific plate ซึ่งประกอบด้วยหินบะซอลท์ เป็นส่วนใหญ่ มีความหนาน้อยกว่า แต่หนักกว่า ชนเข้ากับ Eurasia plate ที่ประกอบไปด้วยหินหลากหลายชนิด แต่ส่วนใหญ่น่าจะเป็นหินตะกอน Sedimentary rocks ที่มีความถ่วงจำเพาะ (Specific gravity) เบากว่า หินบะซอลท์ ของ Pacific plate แต่ Eurasia plate จะหนาเทอะท่ะกว่า ดังนั้น เมื่อ แผ่นเปลือกโลกชิ้นใหญ่สองชิ้น วิ่งเข้ามาชนกัน ด้วยแรงขับเคลื่อนมหาศาลใต้เปลือกโลก (ให้ลองนึกภาพของรถถังหุ้มเกราะ Pacific plate ที่บางกว่า แต่หนักกว่า วิ่งเข้าหาชน รถปิ๊กอัพ Eurasia plate ที่หนาแต่ เบากว่า) แผ่น Pacific plate ที่หนักกว่า ก็เลยมุดเข้าไปอยู่ใต้ Eurasia plate บริเวณประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบัน ซึ่งตามความเข้าใจของข้าพเจ้า เหตุการณ์นี้ น่าจะเริ่มเกิดอย่างน้อย ก็ห้าหกสิบล้านปีมาแล้ว ในสมัยยุค Early Tertiary หรือนานกว่าปู้นแล้ว
การมุดตัวลงไปของ Pacific plate ได้พาเอาน้ำทะเลลงไปด้วย และ หลายๆส่วนของ Eurasia plate ก็ถูกลากตามลงไปบางส่วนด้วยเช่นกัน เมื่อมุดลงไปมากๆอาจจะลึก 30-40 กิโลเมตร จากผิวโลก และเข้าไปใกล้ชั้น Mantle ที่มีความร้อนสูงมาก หินที่พึ่งจะมุดลงไปเหล่านี้ ก็เกิดการหลอมเหลว น้ำก็ถูกทำให้ร้อนจัดเกิน Critical conditions เขาว่ากันว่า อุณหภูมิน่าจะเกือบ 2000°C ก็เลยทำให้หินที่เคยแข็งแกร่งเหล่านี้ ก็จะหลอมเหลว (Melting) กลายเป็นหินหลอมเหลว ร้อนแดงฉาน ที่ไหลได้ แล้วเริ่มลอยตัวขึ้นมาที่ผิวโลกช้าๆ ระหว่างที่เจ้าหินหลอมเหลวเหล่านี้ เคลื่อนตัวขึ้นมาก็ได้แจกจ่ายความร้อนให้หินเดิม Country rocks และอื่นๆที่เจ้าหินร้อนหลอมเหลวนี้ผ่านมา จนทำให้ หินเดิมนี้พลอยหลอมเหลวไปบางส่วนด้วย
การพยายามดันตัวเองขึ้นมาของหินหลอมเหลวเหล่านี้ บวกกับไอน้ำที่ร้อนจัด (ไอน้ำร้อนจัดเหล่านี้ อาจจะมีการขยายปริมาตรมากกว่าน้ำที่อุณหภูมิปรกติมากกว่าสี่ห้าร้อยเท่าตัว) ก็ทำให้เกิดการขยับตัวของเปลือกโลกในบริเวณนั้น และผู้คนรับรู้ได้ ก็คือ แผ่นดินไหว Earthquake นั่นเอง
แต่ความพยามดันตัวเองขึ้นมาก็ยังไม่จบสิ้น แต่เมื่อเปลือกโลกที่ถูกดันแตกร้าวจนมาถึงผิวโลก ไอน้ำปริมาณมาก และเศษหินร้อน ก็ระเบิดออกมาตามรอยแตกที่ว่า ออกเป็นเถ้าหินร้อน พุ่งกระจายขึ้นบนฟ้าสูงนับสิบกิโลเมตร ปลดปล่อยพลังงานอันล้นเหลือ ออกไปสู่บรรยากาศโลก ส่วนผงฝุ่นหินร้อนที่ปลิวลอยออกมานี้ เรียกว่า Pyroclasstic ส่วนหินร้อนบางส่วนที่ไหลได้แบบน้ำผึ้งเหนียวๆ หนืดๆ ก็เป็น หินลาวา Lava flow นั้นก็จะไหลบ่าข้ามปากปล่องออกไปท่วมสะสมกันสูงเป็นยอดเขา เช่นเดียวกับยอดภูเขาไฟฟูจิ อันโด่งดังนั่นเอง น่ะขอรับ
ถ้าถามว่า เรื่องนี้จบแล้วหรือยัง คำตอบที่ได้คือ ยังมี Episodes ต่อๆไปอีกมากมายหลายล้านปี ตราบใดที่เจ้า Pacific plate ยังดันตัวเองมุดเข้าไปใต้ Eurasia plate อยู่ วัฏจักรของการหลอมเหลวของหิน การเดือดจัดของไอน้ำ การเคลื่อนที่ของหินหลอมเหลวและซุปเปอร์ไอน้ำ ขึ้นมายังผิวโลก ซึ่งทำให้เกิดแผ่นดินไหว จนแผ่นเปลือกโลกปริแตก และทำให้ Pyroclasstic และ ลาวา Lava ไหลทะลักออกมา ก็ยังจะเกิดขึ้นในบริเวณนี้ต่อไป ...จนกว่า เจ้า Pacific plate จะเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนไหวไปในทิศทางอื่น หรือ หมดพลัง หยุดการเคลื่อนไหว ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นอีกหลายล้านปีข้างหน้า น่ะขอรับ
แต่ถ้านับถึงวันนี้ นี่ก็จะเป็นเวลา แปดปีแล้วหลังจากการระเบิดครั้งใหญ่ครั้งสุดท้าย ดังนั้น หากพี่ๆเพื่อนๆน้องๆ ท่านใด อยากจะไปชะโงกหน้าดูปล่อง Nakadake ก็สามารถวางแผนได้น่ะครับว่า จะเอาแบบมีควันอ้อยอิ่งในปากปล่อง หรือจะเลือกแบบหินปลิว หรือ เอาแบบมีก๊าซพิษประเภทก๊าซกำมะถัน หรือ คาร์บอนไดออกไซด์ ลอยคลุ้งท่วมปากปล่อง ก็สามารถเตรียมตัวและเลือกได้น่ะขอรับ เพราะจากการคาดการณ์ ก็อีกราวๆ สองปี พลังงานใต้โลกที่สะสมกันอยู่ใต้ปล่อง Nakadake ก็จะมาตามนัดแล้ว...หรือเปล่า หนอ อิอิ
ป.ล. กลับมาได้สองอาทิตย์กว่าแล้ว แต่เขียนบันทึกไม่จบสักที ข้าพเจ้าไม่ได้กลับไปฟูกูโอกะ ใหม่น่ะขอรับ
-------------------------------------------------
ที่มา
- https://www.facebook.com/waranon555
รวบรวมข้อมูลและภาพ
-------------------------------------------------
บทความ วรานนท์ หล้าพระบาง (Waranon Laprabang) รวมข้อมูล
รวมบทความที่น่าสนใจจากนักธรณีวิทยาของไทย-------------------------------------------------