Waranon จีน กานซู่ เทียนสุย ถ้ำหินแกะสลักม่ายจี่ซาน (Maijishan Grottoes)
ถ้ำหินแกะสลัก ม่ายจี่ซานนี้ เป็น 1 ใน 4 ถ้ำหินแก่ะสลักอันยิ่งใหญ่ ในประเทศจีน
ม่ายจี่ แปลว่า กองข้าวสาลี ซาน คือภูเขา ม่ายจี่ซานคือ ภูเขากองข้าวสาลี นั่นเอง (คนจีนโบราณมองดูภูเขาทรงนี้แล้วบอกว่าเหมือนกองฟางข้าวสาลี)
ในทางธรณีวิทยานั้น หินที่พบเป็น กลุ่มหินที่เกิดแบบตะกอนกรวดรูปใบพัด หรือ Alluvial fan ที่ประกอบไปด้วยชั้น กรวดมน กรวดเกือบเหลี่ยม แบบไม่มีการเรียงตัว ไปจนถึง ชั้นทราย ชั้นทรายแป้ง ที่มีการตกตะกอนแบบปรกติ และ วางตัวแบบเฉียงระดับ Cross bedding พูดง่ายๆ ก็คือตกตะกอนโดยการพัดพาของน้ำ และ มีความลาดเท บนแผ่นดิน น่ะขอรับ
นักธรณีวิทยาจีน จัดให้เป็นหินกลุ่ม Q4 หรือ อายุน้อยมากไม่เกิน 1-3 ล้านปี แต่ก็มึนส์ เพราะในรายงานบางฉบับ บอกว่าเป็นหินใน Maizhishan group ยุค Cretaceous ซึ่งก็อายุ 65-100 ล้านปีปู้น (ข้าพเจ้าดูจากสภาพหินแล้ว ก็ไม่แน่ใจว่าจะแก่ป่านฉะนั้น แต่เวลานี้ก็ต้องเชื่อ เขาไว้ก่อน)
ในบริเวณนี้ เกิดการเคลื่อนไหว และ บีบอัดของเปลือกโลก จนทำให้เกิด Vertical fractures หรือ เกิดรอยแตก ที่เป็นรอยแตกแบบแผ่นระนาบ ในแนวดิ่ง เป็นจำนวนมาก และต่อมาในภายหลัง หินบางส่วน ก็เกิดหินถล่ม จะทำให้อีกด้านหนึ่ง ของ Vertical fractures แสดงตัวออกมาในรูปของหน้าผาสูงชัน
หินที่เห็นนั้น โดยทั่วไปก็ไม่ได้แข็งแกร่งมากนัก พอจะใช้สิ่ว ใช้ฆ้อน ใช้ชะแลง เจาะกระแทก เจาะหน้าผาให้เป็นรูเป็นถ้ำได้ จึงเกิดการเจาะเป็นถ้ำเล็กๆ แล้วสร้าง องค์พระด้วยปูนปั้น เอาไว้ด้านในของถ้ำ โดยมีการเริ่มทำมาตั้งแต่ 557 AD ก็ประมาณ 1500 ปีมาแล้ว และ ผ่านการซ่อมแซม ปรับปรุง มาหลายครั้ง ตั้งแต่ยุค เว่ยเหนือ ยุคเว่ยตะวันตก ยุคโจวเหนือ ยุคสุย ราชวงค์ถัง ราชวงค์ซ่ง ราชวงค์หยวน ราชวงค์หมิง และราชวงค์ชิง จนมีถ้ำรวมทั้งสิ้น 194 ถ้ำ และ มีพระพุทธรูป และ รูปแก่ะสลัก (ข้าพเจ้ามองว่าเป็นปูนปั้นเสียมากกว่า) เป็นจำนวนมากกว่า 7,000 องค์
ตัวยอดเขาที่มีหน้าผาสีแดงนี้ สูง 1,742 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล แต่ตัวหน้าผานี้ก็สูงประมาณ 147 เมตรจากตีนผา แต่ส่วนที่เจาะเป็นรูถ้ำนั้น ตัวถ้ำที่อยู่สูงสุดจากพื้นก็ประมาณ 70-80 เมตร
บันไดและทางเดินที่เห็นนั้น เป็นบันไดโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก และ เหล็กล้วน ที่ทำขึ้นมาใหม่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้แสวงบุญ และ นักท่องเที่ยว ขึ้นมาชมถ้ำ ตัวสะพานนี้ ก็ดูแข็งแรงดี แต่ข้าพเจ้าก็พยายามนึกน่ะว่า ในสมัยพัน หรือ พันห้าร้อยปีมาแล้ว คนจีนโบราณ เขาปีนขึ้นไปอย่างไร และ ทำงานกันอย่างไรเน้อะ
เมื่อพิจารณาดูองค์พระจะเห็นว่ามีการทาสีสวยงาม แต่โบราณ พอถึงวันนี้ สีที่ทาไว้ก็เริ่มมีสีจางลงไปบ้างแล้ว แต่วันนี้ สีที่ทา อาจจะเกิดอาการสีตกสีซีด ไปบ้าง ตามกาลเวลา
แต่ก็มีอยู่บางองค์ ดูเหมือนผ่านการซ่อมแซม และดัดแปลงมาด้วย โดยการโป้ะปูนปั้น ลงไปบนรูปปูนที่ได้รับการทาสีแล้ว เลยคาดเดาว่า ผู้มีอำนาจในยุคแรก คงสร้างองค์พระขึ้นมา แล้วทาสีเรียบร้อย แต่พอเวลาผ่านไป ผู้มีอำนาจรุ่นใหม่ คงไม่ชอบแบบเดิม ก็เลยเอาปูนปั้นสร้างรูปองค์พระขึ้นมาใหม่ โดยทับองค์พระเดิม แต่พอมาถึงวันนี้ ปูนปั้นองค์พระองค์นอก กระเทาะออก ก็เลยเห็นองค์พระองค์เดิมที่อยู่ด้านและยังมีสีเดิมติดอยู่ด้วย
ถ้ำพระแก่ะสลักนี้ อยู่ห่างจากเมืองเทียนสุ่ย Tianshui ประมาณ 45 กโลเมตร ซึ่งเมืองเทียนสุยนี้ เป็นเมืองโบราณเก่าแก่ และเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าฝู่ซีเหมียว ซึ่งเชื่อกันว่าจะเป็นศาลเจ้าที่เป็นต้นกำเนิดคนจีนนั่นเองนะขอรับ
ส่วนตัวเมืองเทียนสุ่ยนี่ ก็อยู่ห่างจากเมืองซีอาน Xi An ไปทางตะวันตกประมาณ 250 กิโลเมตร น่ะขอรับ ซึ่งทุกวันนี้ ก็มีสายการบินหลายสายที่บินตรงระหว่าง สุวรรณภูมิ และ Xi An และ สุวรรณภูมิ และ Lanzhou ทุกวัน ไปมาสะดวกขอรับ แต่ข้าพเจ้ามองว่า ซื้อทัวร์มาจากเมืองไทย น่าจะง่ายสุด คริคริ
-------------------------------------------------
ที่มา
- https://www.facebook.com/waranon555
รวบรวมข้อมูลและภาพ
-------------------------------------------------
บทความ วรานนท์ หล้าพระบาง (Waranon Laprabang) รวมข้อมูล
รวมบทความที่น่าสนใจจากนักธรณีวิทยาของไทย-------------------------------------------------