Waranon จีน กานซู่ จางเย่ อุทยานธรณีจางยี่ (Zhangye UNESCO Global Geopark)
อุทยานธรณีจางยี่ (Zhangye UNESCO Global Geopark) หนึ่งในวัตถุประสงค์หลักที่กระตุ้นให้ข้าพเจ้า จะมาเยี่ยมเยือนบางส่วนของเส้นทางสายไหม ในประเทศจีน ในครั้งนี้ ก็คือ อุทยานธรณี จางยี่ ที่มีชื่อเสียงอันโด่งดัง จากชั้นหินหลากสี ที่ไม่มีต้นไม้ปกคลุมเลย
ข้าพเจ้าเคยออกภาคสนามมาหลายครั้ง ทั่งในประเทศไทยและอีกหลายประเทศ ข้าพเจ้า ก็ได้พบเห็นหินมากมาหลายชนิด เคยเห็นมาแล้วทุกสี แต่ก็ยอมรับว่า การที่หินหลายๆสี จะมากองรวมตัวอยู่ด้วยกัน กินพื้นที่เป็นบริเวณกว้างนับร้อยตารางกิโลเมตร นั้น หายากมาก น่ะขอรับ
ราวๆ สัก 100-130 ล้านปีมาแล้ว ในบริเวณนี้เป็นทะเลสาปน้ำจืด ที่อยู่ลึกเข้ามาในแผ่นดิน สภาพภูมิอากาศน่าจะแห้งแล้ง แต่อาจจะมีแหล่งน้ำบนยอดเขา (อาจจะเป็นยอดเขาที่มีหิม่ะปกคลุมตลอดทั้งปี??) ที่ไหลพัดพาเอาตะกอนทรายและ ทรายแป้ง ไหลลงมาในทะเสสาปขนาดใหญ่ เนื่องจากระยะเวลาที่น้ำและตะกอนไหลเข้ามาในทะเลสาป กินเวลานับ 30-40 ล้านปีนั้น ก็มีการเปลี่ยนแปลงชนิดของตะกอน ขนาดของตะกอน และ จำนวนของตะกอน ที่ไหลลงมาทับถมกันในทะเลสาป จึงเกิดชนิดและสีของหินทราย และ หินทรายแป้ง ตลอดจนหินดินดาน ที่ต่างสีกัน สลับกันไปมาตลอดเวลาที่เกิดการตกตะกอน และสะสมตัวในแอ่งตะกอนนี้
แต่ตะกอนส่วนใหญ่ ก็จะเป็นสีน้ำตาลอมเหลือง สีน้ำตาลอมแดง สีน้ำตาลส้ม สีน้ำตาลอมแดงเข้ม เนื่องจากมีปริมาณเหล็กออกไซด์ ที่แตกต่างกัน หรืออาจจะมีสีเข้มขึ้นเนื่อง จากมีแมกนีเซียมเข้ามาปน หรือ อาจจะเป็นสีเขียว เนื่องจากเป็น เหล็กออกไซด์ ต่างชนิดกัน หรือ สีน้ำตาลออกขาวๆ เนื่องจากการที่ชั้นน้ำบาดาล ได้ชะล้างเอาสีน้ำตาลแดงของ เหล็กออกไซด์ ออกไป และ สีขาวของเกลือยิปซั่ม
และเมื่อราวๆ 80 ล้านปีที่แล้ว เริ่มเกิดการเคลื่อนไหวของเปลือกโลกในบริเวณนี้ อย่างรุนแรง เกิดการบีบอัดให้หินชุดนี้เกิดการโค้งงอ เและบางส่วนก็โค้งงอเป็นรูปประทุนคว่ำ Anticlinal structure และบางบริเวณก็เป็นรูปประทุนหงาย Synclinal structure บางบริเวณก็ฉีกขาดออกจากกันโดยรอยเลื่อน Faults
และเมื่อ 30-35 ล้านปีมาแล้ว แผ่นดินในบริเวณนี้เกิดการยกตัว Uplift และเกิดการกัดเซาะของชั้นหิน Erosion จนทำให้ชั้นหินหลากสีนี้ ปรากฏให้เห็นบนผิวโลก
อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าคิดว่า เราควรจะทำความเข้าใจกันสักเล็กน้อยว่า สีของหินตะกอนพวกนี้ ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปได้ โดยเฉพาะมีการผุพัง Weathering การทำปฏิกริยากับน้ำและอากาศ Oxidation หรือการชะล้าง Breeching ทำให้สีของหินมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่จางลง โดยเฉพาะบริเวณผิวหน้าของหิน ดังนั้น หากมีฝนตก ชะล้างเอาส่วนที่ผุพัง หรือทำปฏิกริยากับอากาศออกไป ก็จะเห็นผิวหน้าของหินที่มีสภาพสดใหม่กว่า สีของหินก็จะแจ่มชัดกว่าด้วยน่ะขอรับ
แต่อย่างไรก็ตาม กล้องในโทรศัพท์มือถือของพวกเรา ก็สามารถเพิ่มแสง ลดแสง เร่งสี อะไรทำนองนั้น เพื่อให้เห็นสีที่มีความแตกต่างกันได้ชัดเจนขึ้น
Zhangye geopark นี้ คงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและชนกลุ่มน้อย ที่เป็นเจ้าของพื้นที่เป็นอย่างดี มีการบริหารจัดการที่ดี การรักษาความสะอาด การทำทางเดินไม้ที่สวยงามแข็งแรง สะดวกให้กับนักท่องเที่ยวได้เดินชม การจัดบริการรถสาธารณะให้นักท่องเที่ยวใช้บริการแทนที่รถส่วนตัว มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ที่เหมาะสม จนข้าพเจ้า ในฐาน ะกรรมการสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย ที่มีหน้าที่สนับสนุนและส่งเสริม อุทยานธรณี ในประเทศไทย ก็อยากแน่ะนำให้อุทยานธรณีในประเทศไทยใช้รูปแบบและวิธีการบริหารจัดการ ของอุทยานธรณี จางเย่ นี้เป็นแบบอย่างที่ดี (แม้ว่าเงื่อนไขหลายๆอย่างไม่เหมือนกัน แต่ก็น่าจะเอาแนวคิด ไปพัฒนาปรับปรุงได้)
Zhangye Geopark นี้อยู่ไม่ไกลจากเมือง จางเย่ ประมาณ 45 นาที โดยรถบัส และตัวเมือง จางเย่ ก็นั่งรถไฟความเร็วสูงจากเมืองหลานโจวประมาณ 5 ชั่วโมง ถ้านับจากกรุงเทพก็นับว่าไกลพอสมควร แต่ หากได้มาดู ก็ถือว่าเป็นวาสนาก็แล้วกัน เพราะ น่าจะมีไม่กี่แห่ง ในโลกนี้ ที่มีให้ชมน่ะขอรับ
ป.ล. อุณหภูมิแถวนี้ตอนตีห้าครึ่งอยู่ที่ -2°C ส่วนตอนบ่าย ประมาณ 20°C แดดแรง ก็ร้อนอยู่น่ะขอรับ
-------------------------------------------------
ที่มา
- https://www.facebook.com/waranon555
รวบรวมข้อมูลและภาพ
-------------------------------------------------
บทความ วรานนท์ หล้าพระบาง (Waranon Laprabang) รวมข้อมูล
รวมบทความที่น่าสนใจจากนักธรณีวิทยาของไทย-------------------------------------------------