Waranon ลักเซมเบิร์ก อุโมงค์ Casemate
Luxembourg ลักเซมเบิร์ก หรือชื่อเต็มในภาษาฝรั่งเศสคือ แกรนด์ดูเช่ เดอ ลักเซมเบิร์ก Grand-Duche' de Luxembourg เป็นประเทศในยุโรปตะวันตก ที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล มีพื้นทีเพียงสองพันห้าร้อยกว่าๆ ตารางกิโลเมตร เอง ก็เท่าๆกับพื้นที่จังหวัดอยุธยา เมืองเก่าของเรานี่เองน่ะขอรับ
นอกจากเป็นประเทศเล็กพื้นที่น้อยแล้ว ก็ยังมีพลเมืองน้อยอีกด้วย จึงต้องนำเข้าคนเก่งๆ แรงงานฝีมือดีจากประเทศต่างๆมาเป็นพลเมืองของประเทศลักเซมเบิร์ก จนทำให้ทุกวันนี้ มีคนที่เป็นคนลักเซมเบิร์กแท้ๆ มีเพียง 53% ของพลเมืองที่ถือสัญชาติลักเซมเบิร์ก อืมมเน้อะ ทำให้นึกถึงเมืองเชียงใหม่ สมัยกอบกู้บ้านเมืองเมื่อ 200กว่าปีที่แล้ว ที่บ้านเมืองไม่มีทรัพยสินผู้คน จนต้องมีปฏิบัติการ "เก็บผักใส่ซ๊า เก็บข้าใส่เมือง" ต้องยกทัพออกไปตีหัวเมืองแถบเมืองยองเมืองเขิน กวาดต้อนผู้คนให้มาอยู่รวมกันแถวเชียงใหม่ลำพูน เพื่อมาร่วมสร้าง อนาคตด้วยกัน
ประเทศลักเซมเบิร์ก เป็นประเทศที่ก่อตั้งในศตวรรษที่ 11 ในฐานะรัฐของจักรวรรดิโรมัน และถูกแย่งชิงกันปกครองระหว่างสเปน ดัชท์ ฝรั่งเศส ออสเตรีย และเยอรนัน จนกระทั่งได้รับเอกราช ในปี 1876 นี่เอง ปัจจุบัน เป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยแบบมีตัวแทน และมีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
ในปี 1994 UNESCO ประกาศให้เมืองเก่า กำแพงเมือง อุโมงค์โบราณ ที่อยู่ใจกลางเมืองประวัติศาสตร์ลักเซมเบิร์ก ให้เป็นมรดกโลก
เนื่องจากในพื้นที่ของลักเซมเบิร์กในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนการปกครอง การยึดครอง หลายครั้งทั้งเยอรมัน ฝรั่งเศส ออสเตรีย เนเธอรแลนด์ ซึ่งผู้ยึดครองแต่ล่ะยุค ก็มีส่วนในการเสริมสร้างกำแพงเมืองป้อมค่ายหอรบและพัฒนาเมืองเก่า ให้แข็งแรงยิ่งขึ้น
หนึ่งในสิ่งก่อสร้างอันยิ่งใหญ่คือ Casemate (ก็ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไรในภาษาไทย แต่ขอเรียกว่าอุโมงค์ใต้ดินเอาไว้ก่อนน่ะ) คือตามนิรุกติศาสตร์ มีรากศัพท์ มาจากภาษากรีกคำว่า Chasmata หรือ Chasma หรือ Chasm ที่มีความหมายว่า เหว หุบเหว หรือ ช่องในหิน หรือ ซอกหิน เพียงแต่ว่า Casemate นี้ แต่เดิม อาจจะมีโพรงธรรมชาตินิดหน่อย แต่ที่เห็นทุกวันนี้ เป็นการก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินบนเขา โดยฝีมือมนุษย์ เพื่อให้ ทหาร และพลเรือน พักหลบภัยสงคราม และเก็บอาวุธยุทโธปกรณ์
Casemate นี้ น่าจะถูกเริ่มสร้างในปี 1644 ในช่วงที่ถูกยึดครองโดยพวกสเปน และ เมื่อการปกครองถูกเปลี่ยนมือไปเป็น อิตาลี เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส ดัชท์ แม้กระทั่ง ปรัสเซีย ก็มาช่วยกันสร้างขยายเพิ่มเติมจนเป็นเครือข่ายอุโมงค์ใต้ดิน ช่องประตูหอรบ สะพาน มีความยาวรวมมากกว่า 23 กิโลเมตร มีช่องวางปืนใหญ่หลายช่อง มีการเจาะหินทำเป็นห้องๆมากมาย อาจจะเป็นทั้งที่เก็บอาวุธ สะเบียง ที่พักหลายร้อยห้อง หรือแม้แต่เป็นคอกเลี้ยงสัตว์ คอกม้า อย่างไก็ตาม พอไม่มีการใช้งาน และซ่อมแซมดูแลดีพอ The Bock Casemates ก็ถล่มผุพังไปบ้าง เหลือเพียง 17 กิโลเมตร และ ในบางบริเวณ เช่นใต้บริเวณที่เป็นเมืองก็ถูกปิดไป และปัจจุบันก็เหลือบริเวณที่เปิดให้เข้าชมไม่มาก
ในช่วงสงครามโลกทั้งสองครั้ง Bock Casemate นี้ ใช้เป็นที่หลบภัยสงครามของผู้คนมากกว่า 35,000คน
ในฐานะที่เป็นนักธรณีวิทยาที่เป็นแล้ว รักษาไม่หาย ก็ได้ก้มๆเงยๆดูหินบริเวณผนังอุโมงค์และทางเดิน เพดานอุโมงค์พบว่า เป็นหินตะกอนพวกหินทราย และหินทรายแป้ง และหินดินดานที่มีการแปรสภาพ Metamorphosed ไปบ้างเล็กน้อย และการวางตัวอยู่ในแนวเกือบระนาบ มีมุมเอียงต่ำๆ สัก 5° ไปทางทิศใต้
วิศวกรอุโมงค์ในสมัยนั้น ก็เจาะชั้นหินที่อยู่ใต้หินทราย ที่น่าจะเป็น Siltstone, Shale ก็คือ หินทรายแป้งและหินดินดาน โดยทิ้งหินทรายซึ่งแข็งกว่า ให้เป็นเพดานถ้ำ ซึ่งก็นับว่าเป็นความคิดที่เฉียบแหลมจริงๆ
มีนักท่องเที่ยวไทยบางคนในกลุ่มของข้าพเจ้าออกความเห็นว่า หรือว่า อุโมงค์ของกลุ่มต่อต้านในฉนวนกาซ่า ที่รบกับอิสราเอล จะเป็นแบบนี้ หรือเปล่าน่ะ มีเครือข่ายสลับซับซ้อน และมีหลายชั้น ทนทานต่อแรงทิ้งระเบิด ใช้หลบภัยและสะสมอาวุธได้ อืมมม ก็เห็นภาพ เห็นเค้าโครงของความเป็นไปได้มากน่ะขอรับ
ระยะทางจาก บรัสเซลมาลักเซมเบิร์ก ด้วยถนน 6 เลน ก็สะดวกสบาย นั่งรถมาก็แค่ 2-3 ชั่วโมงเองน่ะขอรับ ใครอยากมาชมก็มาไม่ยากน่ะขอรับ
.
-------------------------
ที่มา
- https://www.facebook.com/waranon555
รวบรวมข้อมูลและภาพ
-------------------------
บทความ วรานนท์ หล้าพระบาง (Waranon Laprabang)
รวมบทความที่น่าสนใจจากนักธรณีวิทยาของไทย
-------------------------
เครือข่ายอุโมงค์ใต้ดินที่สร้างมาสองร้อยกว่าปีมาแล้ว
ปากช่องอุโมงค์จะไม่ใหญ่มาก อาจจะป้องกันการยิงสวนมาของข้าศึก แต่เพดานอุโมงค์ด้านในจะสูงโปร่งกว่า และจะเห็นผิวอุโมงค์ด้านในมีการบุด้วยหินเป็นก้อนๆ อาจจะทั้งเพื่อความสวยงามและป้องกันการน้ำรั่วซึมลงมาจากเพดานอุโมงค์ และที่สำคัญ หินบริเวณนี้อาจจะไม่แข็งแรงพอ จึงต้องเสริมความแข็งแรงให้เพดานอุโมงค์
ส่วนนี้เป็นอุโมงค์ตัน เป็นห้อง ที่อาจจะเป็นทั้งที่พัก และ ห้องเก็บของ หรือเก็บอาวุธสัมภาระต่างๆ
ข้าพเจ้ายืนมองอยู่นาน คิดว่าเอ ทำไมหน้าต่างนี้ถึงมาลูกกรงล่ะ ทั้งๆที่ช่องที่ใส่ปืนใหญ่ ไม่จำเป็นต้องมีลูกกรงเหล็ก
รูปนี้เห็นได้ชัดมากว่า เพดานถ้ำเป็นแผ่นหินทราย แต่ผนังถ้ำ เป็นชั้นหินทรายแป้ง หินดินดาน ที่ง่ายกับการเจาะทุบทำอุโมงค์
บางช่วง เพดานอุโมงค์สูงเกือบสิบเมตร และอุโมงค์ก็มีความกว้าง ใหญ่พอที่จะก่ออิฐกั้นเป็นห้องๆได้ รูปนี้ถ่ายจากบนสะพานเหล็กที่เดินข้ามห้องพวกนี้
ด้านซ้ายมือเป็นแม่น้ำ Alzette ทางด้านเหนือ ก่อนที่แม่น้ำจะวกหักศอกกลับมาขนานกัน คล้ายๆกับรูปตัว U
ด้านซ้ายมือเป็นหน้าผาหินชัน ที่มีช่องเปิดใส่ปืนใหญ่เป็นระยะๆ ส่วนสะพานโค้งรูปอาร์ค ที่เห็นไกลๆนั่น เป็นสะพานข้ามแม่น้ำ Alzette ก่อนที่แม่น้ำ Alzette จะวกกลับอ้อมหน้าผานี้ไปอีกด้านหนึ่ง
หน้าผาด้านหนึ่งถูกก่อสร้างดัดแปลงให้เป็นป้อม
อันที่จริง กลุ่มหน้าผาด้านโน้น ถูกตัดแตกออกจาก Bock Casemate ส่วนใหญ่ที่อยู่ใต้เมืองปัจจุบัน ก็เลยมีการสร้างสะพานเขื่อมอุโมงค์ขึ้นมา ที่น่าประหลาดใจคือ อุโมงค์ อยู่ข้างล่าง แต่ข้างบน ก็ยังเป็นถนนที่ยังคงใช้งานอยู่จนปัจจุบันนี
ด้านซ้ายมือของแม่น้ำ Alzette เป็นบ้านหรูและโบสถ์ ส่วนเนินด้านขวาเป็นตัวเมือง Luxembourge ที่มีเครือข่าย Bock Casemates ใต้ดินอยู่ทั่วไป
ดูเผินๆ ก็นึกว่าเป็นสะพานธรรมดา ให้รถวิ่งข้างบน แต่ที่ไหนได้ เขาสร้างทางเชื่อมอุโมงค์ที่อยู่ตรงกลางนั้นต่างหากล่ะ อืมม เข้าใจคิดเน้อะ
เนื่องจากภูมิประเทศเป็นร่องเขา ที่มีแม่น้ำกัดเซาะลงไปลึก การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำจึงจำเป็นตั้งแต่สมัยโบราณ
หน้าผาเล็กๆที่เจาะเป็นช่อง เข้าใจว่าจะเอาไว้วางคานไม้หรือเสาไม้ในสมัยโบราณส่วนตัวหินจะเห็นเป็นชั้นหินทราย หินทรายแป้ง และหินดินดานสลับกัน
สะพานโค้งหกช่องนั้นเป็นสะพานที่ข้ามแม่น้ำ Alzitte ส่วนหน้าผาที่อยู่ซ้ายมือของภาพ จะเป็นหน้าผาที่มี Bock Casemate ที่เราพึ่งไปเยี่ยมชมกัน