kiattiphong kkuga ปฐมบท... กำเนิดภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ปฐมบท... กำเนิดภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
(สัมภาษณ์และเรียบเรียง โดย เกียรติพงษ์ อุดมธนะธีระ (เรน Geo 09)
ในวาระอันเป็นมงคลที่ วารสารสัมพันธ์ธรณี มข. จะกลับมาโลดแล่นเชื่อมโยงสายใยของพี่ๆ น้องๆ เราอีกครั้ง ฉบับปฐมฤกษ์นี้ กองบรรณาการของเราจึงได้ถือฤกษ์งามยามดี ไปขอพรพร้อมกับขอสัมภาษณ์ ท่านอาจารย์ ดร. ภักดี ธันวารชร อดีตหนึ่งในผู้ก่อตั้ง ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยขอให้อาจารย์ช่วยเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับที่มา และแนวคิดของการก่อตั้งภาควิชาให้เราฟัง
อาจารย์ ดร. ภักดี ท่านเล่าว่า....
“ตอนแรกผมก็ไม่ได้ตั้งใจจะมาทำงานที่ขอนแก่น ตอนนั้นเป็นข้าราชการกรมโลหกิจ ได้มีโอกาสไปเรียนปริญญาโทโทอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ก็ได้ไปเจอท่านพจน์ สารสิน รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ กระทรวงนี้ดูแลกรมโลหกิจ สมัยนั้นยังไม่มีกรมทรัพยากรธรณีอย่างปัจจุบันนะ ตอนนี้หายไปหมดละทั้งกระทรวงทั้งกรม
“ท่านพจน์ไปประชุมเรื่องภาคีดีบุกที่ประเทศไทยเราเข้าไปเป็นสมาชิกที่กรุงลอนดอน ผมในตอนนั้นก็กำลังไปเรียนอยู่ที่ลอนดอน สถานทูตก็มักเรียกใช้ประจำ เพราะผมเป็นข้าราชการเรียกใช้ง่าย พอมาเจอท่านพจน์ก็ถามว่ามาเรียนอะไร ทำอะไรอยู่ ท่านก็บอกผมว่าเรียนจบให้มาช่วยหน่อยได้ไหม”
“ตอนนั้นผมก็งงว่าจะให้ช่วยอะไรครับ ท่านก็บอกว่าเรียนจบช่วยไปเป็นอาจารย์ให้หน่อย ตอนนั้นผมก็ตั้งใจว่าจะได้เรียนแค่ปริญญาโท เพราะสมัยนั้นอธิบดีเข้มงวดมากเรื่องเรียน ใครเรียนจบปริญญาโทก็จะถูกเรียกกลับเลย ไม่ค่อยมีใครได้เรียนต่อปริญญาเอกกัน ขนาดผมไปเรียนไม่ได้ใช้ทุนของกรมฯ ด้วยซ้ำ ผมไปโดยขอใช้ทุนโคลัมโบ”
“ก่อนเรียนจบผมโชคดีเห็นมีประกาศให้ทุน ผมก็ไปสมัครสอบแข่งกับคนอังกฤษ ก็ต้องดีใจนะครับขนาดเรียนไม่ค่อยเก่งผมก็สอบชนะเด็กอังกฤษได้ทุน แต่ผมก็ต้องไปแจ้งอาจารย์ว่า ผมคงไม่ได้เรียนทุนเพราะต้องกลับไปประเทศไทย เมื่อกลับมาทำงานเจอท่านอธิบดี ผมก็ยังขอกลับไปเรียนต่อปริญญาเอก ซึ่งท่านบอกว่าไม่ให้ ไม่มีทาง โชคดีที่ตอนก่อนกลับได้เคยเจอท่านพจน์ ท่านบอกว่า จะให้ช่วยหรือมีปัญหาอะไรให้บอกมา
“ผมก็คิดว่าท่านพูดเล่น ที่ไหนได้ กลับมารายงานตัวทำงานไปตั้งนาน เลขารัฐมนตรีฯ เรียกไปที่กระทรวงฯ บอกว่าท่านรัฐมนตรีสั่งให้ไปเรียนต่อ แต่กลับมาจะต้องไปสอนอยู่ที่ ม.ขอนแก่น ผมก็รับปากและกลับไปเรียนต่อจนจบปริญญาเอกกลับมา ตอนจบใหม่ในสมัยนั้นหลายมหาวิทยาลัยก็มาทาบทามให้ไปช่วยงาน แต่ผมบอกว่าผมมีสัญญาจะต้องไปช่วยสอนที่ ม.ขอนแก่น”
“พอกลับก็ไปรายงานตัวที่ ม.ขอนแก่น เจออธิการบดี ท่านก็ไปเอาหลักสูตรธรณีของจุฬาฯ และของเชียงใหม่เอามาโยนให้ ผมก็มานั่งดูหลักสูตรที่ได้มา ตอนนั้นจุฬาก็ทำไปเยอะแล้ว เชียงใหม่ก็เปิดไปนานแล้ว ถ้าเราจะมัวมาลอกหลักสูตรของทั้งสองที่เราคงสู้ไม่ได้ ตอนกลับมาเริ่มใหม่ ตอนนั้นเราสู้เขาไม่ได้สักด้าน แม้แต่ห้องทำงานอาจารย์ก็ยังไม่มี ต้องไปอาศัยห้องพยาบาลของคณะวิทยาศาสตร์และอักษรฯ ห้องเล็กๆ ที่ตึกฟิสิกส์ ผมไปหาป้ายพลาสติกมาทำป้ายภาควิชาธรณีวิทยา แล้วก็มานั่งอยู่คนเดียวห้องเล็กๆ แคบๆ ตอนนั้นทำทุกอย่างคนเดียว”
“ต่อมาก็เริ่มมองหาดูทีมงาน ก็ไปเจอคณะศึกษาศาสตร์ที่ตอนนั้นมีหลักสูตรธรณีวิทยาสำหรับครู ผมก็รีบไปที่คณะศึกษาฯ ถามว่าอาจารย์คนไหนสอนธรณีวิทยาสำหรับครู คณบดีท่านก็ชี้ไปที่อาจารย์สุวิน กับอาจารย์เพ็ญจันทร์ ผมก็ดีใจมากรีบทาบทามชวนไปอยู่ที่คณะวิทย์ด้วยกันทั้งคู่ ผมไปจีบอาจารย์โดยบอกว่าเดี๋ยวยังไงจะติดต่อขอโอนให้ ในช่วงนั้นอยู่ในมหาวิทยาลัยเดียวกัน ข้ามเปลี่ยนคณะไม่ค่อยจะยาก
“แต่แน่นอน ใครก็คงไม่ยอมให้คนไปง่ายๆ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ก็ไม่ยอมให้ง่ายๆ อยู่แล้ว จึงเรียกผมไปคุยแล้วบอกว่าจะต้องสัญญาก่อนว่า อย่าทิ้งคณะศึกษาศาสตร์ ถ้าศึกษาศาสตร์ต้องการอะไรจะต้องช่วยเหลือศึกษาศาสตร์เป็นอันดับแรก เราก็รับปากจะสอนธรณีวิทยาสำหรับครูแทน เราให้สัญญาและบอกว่าขออาจารย์สุวิน และอาจารย์เพ็ญจันทร์ไปช่วยก่อตั้งภาควิชาฯ อาจารย์ทั้งสองท่านก็ดีใจที่จะได้มาอยู่ภาควิชาธรณีวิทยา”
“แต่พอมาถึงก็มานั่งกุมขมับ เพราะว่าห้องมันเล็กๆ อยู่กันไม่มีอะไรเลย แผนที่สักแผ่นก็ยังไม่มี ไม่มีอะไรทั้งนั้น คือเริ่มจากศูนย์เลย มานั่งคุยกัน มาช่วยกันคิดว่าเราจะเริ่มกันอย่างไร ผมก็เลยไปหาท่านอธิการบดีบอกว่าควรจะต้องมีงบประมาณ มีค่าใช้จ่าย ตอนนั้นหาตัวอย่างหินมาสอนก็ยังยาก ผมไปหาทั่วในมหาวิทยาลัยก็ไปเจอที่คณะวิศวกรรมศาสตร์”
“นี่ก็เป็นเหตุหนึ่งทำให้วิศวกรรมฯ ที่ มข. เรามีความเจริญก้าวหน้ามากแห่งหนึ่ง เพราะสมัยนั้นวิศวกรรมโยธา มข. เป็นที่แรกๆ ที่ให้ความสนใจเรื่องธรณีวิทยาเทคนิคสำหรับวิศวกร ให้ความสำคัญเรื่องของโครงสร้างธรณีวิทยาสำหรับวิศวกร แต่ที่บ้านเรา วิศวกรรมฯ หลายที่ แม้ปัจจุบันก็ยังไม่ได้ให้ความสำคัญในงานด้านนี้มากนัก สมัยนั้นมีแต่วิศวกรรมโยธาที่ มข. นี่แหละที่มีสอน การประกอบอาชีพที่ดีควรจะต้องมีหลายความรู้ ปล่อยลูกศิษย์จบออกไปอย่างสมบูรณ์ เราก็ไปขอตัวอย่างหินจากคณะวิศวกรรมฯ มาใช้ในการสอน สมัยนั้นเราก็เริ่มสอน และขอใช้ห้องแล็ปที่คณะวิศวกรรมฯ ด้วย”
“ต่อมาก็จะมีพวกรุ่นพี่ของเรานี่แหละ ยกขบวนมาหา มาขอร้องให้ช่วยเปิด Major ให้ด้วย พวกเขาอยากเรียนมาก รุ่นพี่คุณหลายคนอยู่ปี 2 บางคนเข้าภาควิชาฯ ไปแล้ว เรียนเคมี ฟิสิกส์ ก็บอกจะยอมรอเรียนซ้ำปีกับน้องปี 1 ขอให้อาจารย์เปิดภาควิชาธรณีวิทยา”
“พอมีคนอยากมาเรียนมาพูดแบบนี้ก็กลับมาเป็นกำลังใจพวกอาจารย์เริ่มทำงานกันมากขึ้น ผมก็มาคุยกับอาจารย์ เราจะสู้ไหม เราไม่มีอะไรสักอย่าง เราก็เลยได้เริ่มนับหนึ่ง การเริ่มภาควิชาของเราก็เริ่มทำกันเอง ยกตัวอย่างพวกรุ่นพี่ อาจารย์ต้องไปหาขอโต๊ะจากภาควิชาฯ อื่นมา ไปขอยกโต๊ะเขามานั่งเรียน ทำกันขนาดนั้น ทุกคนก็ช่วยกันจนมาเป็นภาควิชาฯ ในวันนี้”
วารสารฯ ฉบับปฐมฤกษ์ขอลงเรื่องราวจากท่านอาจารย์ ดร. ภักดี ธันวารชร เพียงเท่านี้ก่อนนะครับ ฉบับหน้าอาจารย์จะมาเล่าต่อถึงแนวคิดในการออกแบบหลักสูตรในภาควิชาฯ ทั้งนี้ ท่านอาจารย์ฝากบอกพวกเราทุกคน ทั้งที่ยังเรียนอยู่และที่เรียนจบไปแล้วว่า เราทุกคนร่วมกันสร้างภาควิชาฯ มาได้จนทุกวันนี้ เพราะการเสียสละของทุกคนทุกฝ่าย การรู้จักรักสามัคคี และต้องชมสปิริตน้ำใจของรุ่นพี่คุณทุกคน มันฝ่าฟันกันหนัก ไม่ได้สบายนะครับ ในวันนั้นมันไม่มีใครพร้อมในการริเริ่ม ฝ่าฟันจากคนที่ค้านมากมาย ที่มีพร้อมก็แค่ใจของทุกคนที่ต้องการมาสู้ด้วยกัน ฝ่าฟันอุปสรรคจนภาควิชาฯ เริ่มเติบโตมาจนถึงปัจจุบัน
ที่มา e-book-ธรณีสัมพันธ์ มข. 2564 ก.ค. (GeoSocial KKU Vol.01 Jul 2020)
.
ที่มา
- https://www.facebook.com/udomtanateera.k/
รวบรวมข้อมูลและภาพ
-------------------------------------------------
บทความ เกียรติพงษ์ อุดมธนะธีระ (Kiattiphong Udomtanateera)-------------------------------------------------