Pol India Ellora Caves, Aurangabad
ครานี้ต้องการมาเยี่ยมชมความอลังการณ์ของ Ajanta & Ellora Caves ที่เป็นศาสนโบราณสถานที่สำคัญและสวยงาม เริ่มสร้างก่อน 2000 ปี เป็น World Heritages สร้างตามเส้นทางการค้าจากอาหรับมาอินเดีย เป็นกลุ่มถ้ำที่เกิดจากการเจาะภูเขาหินบะซอลต์เป็นอาคาร วิหาร น่าทึ่งจริงๆ ครับ คนสมัยโน้นทำได้อย่างไร ทั้งการออกแบบและวางแผนการแกะสลักที่ต้องประณีตและรัดกุม เป็นคนหรือเทพโบราณหรือบ้างว่าเป็นมนุษย์ต่างดาว แต่ที่แน่ๆ ต้องเป็นสถาปนิกขั้นเทพจริงๆ องค์ความรู้ต่อมาคงเผยแพร่ไปสร้างโบราณสถานในประเทศต่างๆ รวมทั้งปราสาทหินพนมรุ้ง ปราสาทหินพิมายในบ้านเรา
ส่วนทางธรณีวิทยาก็น่าสนใจไม่แพ้กัน หินบะซอลต์บริเวณนี้เป็นหน่วยหิน Deccan Trap ส่วนใหญ่เป็น tholeiitic basalts เกิดจากภูเขาไฟจำนวนมากที่แทรกขึ้นมาตามรอยแตก (fissure eruptions) ในช่วงปลายยุค Cretaceous (ประมาณ 66.25-65 ล้านปี) ให้ชั้นหินลาวาจำนวนมหาศาลหนามากถึง 2,000 ม. แผ่คลุมพื้นที่ของอินเดียกว้างขวางมากกว่า 500,000 ตร.กม. เชื่อกันว่าการเกิดสัมพันธ์กับอุกกาบาตพุ่งชนโลก เกิด Mass Extinction เกิดการสูญพันธ์ของไดโนเสาร์ จึงเป็นบริเวณที่น่าสนใจศึกษา K-T Boundary อีกด้วย การประทุของลาวาคงมีหลายร้อยพันครั้ง แต่ละช่วงหนา 2-3 ม. (เท่าที่สังเกตเห็นนะจ๊ะ) ส่วนล่างเป็น dense basalt เนื้อแน่น บนขึ้นไปเป็น vesicular basalt ที่พบเป็นรูฟองอากาศ (น่าจะใช้บอก top/ bottom ได้นะ) การชนกันของแผ่นเปลือกโลกอินเดียกับยูเรเซียในมหายุคซีโนโซอิก หรือ Himalayan Orogeny ที่ทำให้เกิดเทือกเขาหิมาลัย (ภูเขาที่มีหิมะ) สูงใหญ่ที่สุดในโลก แต่หินบะซอลต์ทนได้ มันบึกจริงๆ หน่วยหินบะซอลต์ส่วนใหญ่ คงถูกยกตัวขึ้นเป็นภูเขา แต่แนวชั้นหินวางตัวเอียงน้อยๆ เกือบแนวราบ ดูไกลๆ คล้าย Cuesta ของหินทราย 555 ผลจากการสึกกร่อนผุพัง(คงตามรอยแตก) ทำให้พื้นที่หลายบริเวณถูกกัดเซาะกลายเป็นที่ราบ เช่น ที่ราบชายฝั่ง และที่ราบลุ่มน้ำ แบบนี้หาซื้อพลอยเนื้องามๆ ราคาถูกๆ ดีมะเนี่ยยย อีกหลายบริเวณก็ยังเป็นเทือกเขาบะซอลต์รวมทั้งบริเวณ Ajanta & Ellora caves ด้วย
ถ้ำเอลโลร่า (ปิดทุกวันอังคาร) อยู่เมืองออรังกาบาด ภาคตะวันตกตอนกลางของอินเดีย เป็นสถานที่ศักสิทธิ์มีอายุมากกว่า 1400 ปี และในปี ค.ศ. 1983 ได้เป็นมรดกโลก (UNESCO World Heritage) มีจำนวน 34 ถ้ำ แยกเป็น 3 กลุ่ม 3 ศาสนาคือ พุทธ ฮินดู และเชน แต่อยู่บริเวณใกล้กันตามความยาวมากกว่า 2 กม. ของหน้าผาหินบะซอลต์ที่เนินเขา Charanandri hill แกะสลักเป็นอาคาร ศาสนสถานทางศาสนาที่สำคัญสวยงามและยิ่งใหญ่ เป็นวิหาร ที่พักของชาวพุทธ เทวาลัยของชาวฮินดู องค์พระศิวะ พระพรหม พระนารายณ์ พระพิฆเนศ ช้างเอราวัณ อีกทั้งภาพของนางอัปสร ปากถ้ำส่วนใหญ่หันหน้าไปทิศตะวันตกเฉียงใต้ (SW) อีนี่เพื่อหันหน้ารับลมรึป่าว การนับถือศาสนาในอินเดียแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา สาวกช่างแกะก็ต่างศาสนาไป คือ
ศาสนาพุทธ โดยสาวกมหายาน (ถ้ำหมายเลข 1-12) สร้างระหว่างศตวรรษที่ 5 และ 8 ถ้ำสวยงามน่าชมคือ ถ้ำหมายเลข 10 เป็น Carpenter’s cave ถ้ำที่อยู่อาศัยมี 2 ชั้น ด้านในมีพระพุทธรูปและวิหารแกะสลักสวยงาม และถ้ำหมายเลข 11 และ 12 เป็นอาราม 3 ชั้นที่ใหญ่ที่สุด
ศาสนาฮินดู (ถ้ำหมายเลข 13-29) สร้างระหว่างศตวรรษที่ 7 และ 10 ถ้ำที่สวยงามไม่ควรพลาดคือ ถ้ำหมายเลข 16 เป็นวัดเขาไกรลาศ แกะสลักจากหินก้อนเดียวที่ใหญ่ที่สุด เจาะแกะจากด้านนอกสู่ด้านใน กล่าวว่าใช้เวลาร่วม 200 ปีหรือ 10 ชั่วอายุคน ทุกภาพแกะสลักแฝงด้วยความหมาย มีการวางแผนแกะสลักอย่างประณีตรัดกุม มีมิติ ทำให้มีความสวยอลังการที่สุด และถ้ำหมายเลข 29 ที่มีภาพแกะสลักสวยงามเล่าเรื่องราวของพระศิวะ
ศาสนาเชน (ถ้ำหมายเลข 30-34) สร้างระหว่างศตวรรษที่ 9 และ 12 นับถือศาสดาพระมหาวีระ ไม่นุ่งห่มผ้า ถ้ำที่ควรชมคือหมายเลข 32 และ 33 เป็นถ้ำมีภาพแกะสลักสวยงามเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ
เที่ยวนี้ 21-27 ตค 66 บิน Air Vistara มาลงที่เมือง Mumbai (ชื่อเดิมบอมเบย์) อยู่ชายทะเลด้านตะวันตกตอนกลางของอินเดีย แล้วตะลอนทัวร์ด้วยรถยนต์ (ขับชิดซ้ายเหมือนบ้านเรา) เยี่ยมชมวัดพุทธ-ฮินดู โบราณสถานและวิวงามๆ อีกหลายแห่ง 1 รูปี = 0.425 บาท
-------------------------------------------------
ที่มา
- https://www.facebook.com/chaodumrong
ทั้งหมดและภาพ
-------------------------------------------------
บทความ พล เชาว์ดำรง (Pol chaodumrong) รวมข้อมูล
รวมบทความที่น่าสนใจจากนักธรณีวิทยาของไทย
-------------------------------------------------