เที่ยวอยุธยา วิหารพระมงคลบพิตร พระนครศรีอยุธยา
เที่ยวอยุธยา พระนครศรีอยุธยา วิหารพระมงคลบพิตร
วิหารพระมงคลบพิตร ตั้งอยู่ที่ ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทางทิศใต้ของ วัดพระศรีสรรเพชญ์ มีจุดเด่นที่สำคัญคือ เป็นวิหารเก่าแก่ในเขตกำแพงเมือง ที่ได้รับการบูรณะอย่างดี ภายในวิหารมี พระมงคลบพิตร พระพุทธรูปประธานขนาดใหญ่ที่เสียหายตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง แต่ได้รับการบูรณะใหม่ทั้งหมด ด้วยทองสำริดหุ้มทองตามปัจจุบัน
สันนิฐานว่า พระวิหารสร้างขึ้นในสมัยราวแผ่นดิน สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โดย พระมงคลบพิตร เคยประดิษฐานอยู่ที่ วัดชีเชียง มาก่อน จนกระทั่ง สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โปรดให้รื้อซากของ วัดชีเชียง แล้วให้อัญเชิญพระพุทธรูปมาไว้ทางด้านทิศตะวันตก แล้วให้สร้างมณฑปขึ้นครอบไว้
ต่อมาในปี พ.ศ. 2246 สมัย สมเด็จพระเจ้าเสือ ยอดมณฑปต้องอสนีบาต (ฟ้าผ่า) ไฟไหม้เครื่องบนมณฑปหักพังลงมาต้องพระเศียรหัก สมเด็จพระเจ้าเสือ จึงโปรดฯ ให้แปลงมณฑปเป็นวิหารแต่ยังคงส่วนยอดของมณฑปไว้ แล้วซ่อมพระเศียรพระพุทธรูปใหม่ กระทั่งในรัชกาล สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่หมด เปลี่ยนหลังคาคล้ายในปัจจุบัน เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งสุดท้ายวิหารและพระพุทธรูปถูกไฟไหม้ ชำรุดทรุดโทรม เครื่องบนวิหารหักลงมาต้องพระเมาฬี และพระกรข้างขวาหัก
ในปี พ.ศ. 2474 พระยาโบราณราชธานินทร์ ตำแหน่งสุมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา คุณหญิงอมเรศร์สมบัติกับพวก ได้ขอยื่นเรื่องซ่อมแซมวิหาร แต่รัฐบาลไม่อนุญาต เนื่องจากต้องการที่จะรักษาตามแบบอย่างทางโบราณคดี โดยจะออกแบบให้ปูชนียสถานกลางแจ้งเหมือนไดบุตสึของญี่ปุ่น แต่ด้วยเวลานั้นรัฐบาลยังไม่มีงบประมาณพร้อมในการดำเนินการ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2499 รัฐบาลสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงได้เริ่มการบูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารและองค์พระพุทธเสียใหม่ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ในคราวบูรณะพระมงคลบพิตรในปี พ.ศ. 2500 กรมศิลปากรได้พบพระพุทธรุปบรรจุไว้ในพระอุระด้านขวา เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา และ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม
พระมงคลบพิตร เป็นพระพุทธรูปใหญ่หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์องค์เดียวในประเทศไทย ลงรักปิดทองมีแกนเป็นอิฐ ส่วนผิวนอกบุด้วยสำริด ทำเป็นท่อน ๆ มาเชื่อมกัน สูง 12.54 เมตร หน้าตักกว้าง 4 วาเศษ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัย สมเด็จพระไชยราชา ราว พ.ศ. 2081 เดิมประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง ต่อมาในสมัย สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของ วัดพระศรีสรรเพชญ์
-----------------------------------------
ที่มาข้อมูล
-
รวบรวมรูปภาพ
-----------------------------------------
เที่ยวอยุธยา (Travel Ayutthaya)
-----------------------------------------
ชมอัลปั้มภาพเพิ่มเติมที่ |