เที่ยวกรุงเทพ ธนบุรี วัดอินทารามวรวิหาร (Travel Bangkok, Thonburi, Wat Intharam Worawihan)
วัดอินทารามวรวิหาร (Wat Intharam Worawihan) เป็น พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ถนนเทอดไท ปากคลองบางยี่เรือ ริมคลองบางกอกใหญ่ (คลองบางหลวง) แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร เป็นวัดที่มีความสำคัญมากในรัชสมัยของ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และเป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพ ของ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และพระราชอัครมเหสีของพระองค์
วัดอินทารามวรวิหาร (Wat Intharam Worawihan) เชื่อว่าสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ชื่อเดิมคือ วัดบางยี่เรือนอก ซึ่งตั้งอยู่เคียงคู่กับ วัดบางยี่เรือใน หรือ วัดราชคฤห์ในปัจจุบัน เดิมทีเป็น วัดราษฎร์ จนเมื่อครั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี พระองค์ทรงศรัทธาในวัดแห่งนี้มาก ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์และสถาปนาขึ้นเป็น พระอารามหลวง ซึ่งในรัชสมัยของพระองค์ได้ทรงประกอบพิธีพระราชกุศลสำคัญที่วัดแห่งนี้เป็นประจำ วัดแห่งนี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่โดยพระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) ต้นตระกูลศรีเพ็ญ ใน รัชสมัยของรัชกาลที่ 3 โดยมีการสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้น บูรณะของเดิม และสร้างถาวรวัตถุมากมาย รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามใหม่ว่า "วัดอินทาราม" สืบมาจนปัจจุบัน
วัดอินทารามวรวิหาร เป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมเรียกว่า “วัดบางยี่เรือนอก” คู่กับวัดราชคฤห์ซึ่งเรียกว่า “วัดบางยี่เรือใน” วัดนี้ไม่ปรากฏว่าผู้ใดสร้างและสร้างมาแต่ครั้งใด เพิ่งปรากฏในพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยาก็ร่วงโรยมากและเป็นวัดเล็ก ๆ อย่างบ้านนอกไกล ๆ แบบเดี๋ยวนี้ ต่อเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งเมืองธนบุรีเป็นเมืองหลวง วัดนี้บังเอิญเป็นที่ประสพพระราชหฤทัยของพระองค์ท่านจึงทรงบูรณะปฏิสังขรณ์อย่างถึงขนาดขยายที่ทางไว้เป็นอันมากแล้วทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง ชั้นเอกพิเศษใช้เป็นที่ประกอบพระราชกุศลอย่างใหญ่หลายครั้ง
หลักฐานที่มาของนามเก่าเดิมเรียก วัดบางยี่เรือนอก เพราะเมืองธนบุรีเดิมสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ตั้งอยู่ที่วัดคูหาสวรรค์ (วัดศาลาสี่หน้า) ในคลองบางกอกใหญ่ จากเมืองเก่ามาก็ต้องถึง วัดราชคฤห์ก่อนจึงเรียก วัดราชคฤห์ว่า “วัดบางยี่เรือใน” ส่วนวัดจันทารามอยู่กลาง จึงเรียกว่า “วัดบางยี่เรือกลาง” ถัดมาก็ถึงมาก็ถึง วัดอินทารามเรียกกันว่า “วัดบางยี่เรือนอก” การที่เรียกวัดบางยี่เรือนอก ก็เพราะในสมัยก่อนไม่ค่อยได้ตั้งชื่อวัดให้ไพเราะเหมือนอย่างสมัยทุกวันนี้ คือวัดอยู่ที่ไหนก็เรียกตามสถานที่ตำบลนั้น และถ้าบังเอิญตำบลนั้นมีหลายวัดที่เรียกวัดใกล้ว่าวัดใน วัดถัดออกไปว่าวัดกลาง วัดสุดท้ายว่าวัดนอก (วัดที่เรียงกันไป) ตามแต่ที่จะเข้าใจกันตามยุคตามสมัยหรือเรียกตามสถานที่บางอย่าง เช่น วัดเวฬุราชิณ เรียกกันว่า “วัดใหม่ท้องคุ้ง” ก็เพราะตรงที่วัดนั้นเป็นคุ้งน้ำใหญ่ในคลองบางกอกใหญ่แห่งหนึ่ง
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นอันได้ความว่า วัดอินทารามที่เรียกว่าบางยี่เรือนนอก ด้วยเหตุตั้งอยู่ด้านนอก เพราะนับจากเมืองธนบุรีเก่าออกมา หลักฐานเช่นนี้จึงได้รู้ว่าวัดอินทารามได้นามว่า วัดบางยี่เรือนอก ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เพราะปรากฏว่าครั้งสมเด็จพระชัยราชา ได้โปรดให้ขุดคลองไปต่อกับคลองบางกอกน้อย ซึ่งส่วนที่ลัดระหว่างคลองบางกอกน้อยกับคลองบางกอกใหญ่ ถูกน้ำเซาะกลางออกไปกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาในภายหลังต่อมา
วัดอินทารามวรวิหาร (Wat Intharam Worawihan) เป็นวัดสำคัญของสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี เป็นวัดอนุสรณ์สันติสถานที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาวีระกษัตริย์ของไทยทรงประกอบพระราชกุศล มีโบราณวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับพระองค์เป็นชีวิตจิตใจหลายอย่าง คือ
- พระแท่นบรรทมไสยาสน์ เป็นพระราชอาสน์ที่พระองค์ทรงประทับแรมทรงศีลแลทรงเจริญกรรมฐาน
- เป็นที่ประดิษฐาน (ฝัง) พระบรมศพของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๗ และบรมศพพระอัครมเหสีของพระองค์ ก็ได้ถวายพระเพลิงและบรรจุพระบรมอัฐิไว้ ณ วัดนี้ทั้งสองพระองค์
- พระพุทธชินวร พระประธานของวัด ปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย ซึ่งพระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) ได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดเมื่อครั้นบูรณปฏิสังขรณ์วัดใหม่
- พระอุโบสถหลังเดิม สร้างขึ้นด้วยศิลปะแบบธนบุรี แต่เดิมไม่มีหน้าต่างภายใน
- พระพุทธรูปฉลองพระองค์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นพระประธานภายในพระอุโบสถหลังเดิมปางตรัสรู้ ภายในองค์พระประดิษฐานพระบรมราชสรีรังคารของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
- พระเจดีย์กู้ชาติ ๒ องค์ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และพระอัครมเหสีของพระองค์ มีจุดสังเกตคือ เจดีย์ที่มียอดเป็นลักษณะบัวกลุ่มเถา ๗ ชั้น เป็นเจดีย์ที่บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ส่วนเจดีย์องค์ถัดไปที่มียอดลักษณะเป็นปล้องไฉน ๑๓ ปล้อง เป็นเจดีย์ที่บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จกรมหลวงบาทบริจา (พระนางสอน) ผู้เป็นพระอัครมเหสีของพระองค์
-----------------------------------------
ที่มาข้อมูล
-
รวบรวมรูปภาพ
-----------------------------------------
เที่ยวกรุงเทพ (Travel Bangkok)
-----------------------------------------
ชมอัลปั้มภาพเพิ่มเติมที่ |
. |