เที่ยวเลย เมือง วัดศรีสุทธาวาส (พระอารามหลวง)
วัดศรีสุทธาวาส (พระอารามหลวง) อำเภอเมืง จังหวัดเลย หรือวัดเลยหลง เป็นวัดที่ย้ายมาจาก วัดศรีสะอาด (บริเวณหน้าโรงเรียนศรีสะอาดเทศบาล ๑ ในปัจจุบัน) มาสร้างใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ โดยพระธรรมวราลังการ (หลวงปู่ศรีจันทร์วัณณาโภ ป.ธ.๖) เจ้าอาวาส เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูอดิสัยคุณาธาร ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดเลย (ธ) เพราะวัดศรีสะอาด (เก่า) เนื่องจากวัดเดิมตั้งอยู่ในเมืองที่มีความแออัด มีถนนบีบสองด้านและตั้งอยู่ริมตลิ่งแม่น้ำเลย จึงถูกลำน้ำเลยกัดเซาะ ทำให้เนื้อที่บริเวณวัดแคบลงทุกปี จึงได้พิจารณาเห็นว่า ดอนเลยหลง เป็นสถานที่ที่เหมาะสมเพราะเป็นเกาะกลางน้ำ มีน้ำล้อมรอบ ไม่ห่างจากที่สัญจรมากนัก มีความเงียบสงบ เหมาะสำหรับเป็นที่บำเพ็ญสมณกิจได้เป็นอย่างดี เจ้าของที่ดินที่ทำกินบนเกาะดอนเลยหลง 5 คน คือ นายกัณฑะ ลำมะยศ นายสังวาลย์ ม่วงนนทะศรี นายเชิญ ดีสุทธิ นายลาน ศรีทัดจันทา และนางใบ พิมเขต จึงได้ถวายที่ดินของจนให้หลวงปู่ศรีจันทร์สร้างวัดโดยไม่คิดมูลค่าใดๆ
พ.ศ. 2489 หลวงปู่ศรีจันทร์ จึงขออนุญาตจากทางการดำเนินการย้ายวัดศรีสะอาด(เก่า) มาสร้างวัดใหม่เมื่อ พ.ศ. 2491 โดยอยู่ห่างจากที่เดิม 1 กิโลเมตร และตั้งชื่อว่า “วัดมหาวิสุทธิเทพทีปาราม” หรือ “วัดศรีทีปาราม” และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดศรีสุทธาวาส” จนถึงปัจจุบัน แต่ประชาชนทั่วไปนิยมเรียกว่า “วัดเลยหลง” ตามภูมิประเทศที่ตั้งวัด ต่อมาท่านได้เจรจาขอซื้อที่ดินของชาวบ้านที่เหลือทั้งหมด รวมกับเนื้อที่เดิมเป็นที่ดินของวัดได้เนื้อที่ประมาณ 38 ไร่เศษ
-----------------------------------------
ที่มาข้อมูล
-
รวบรวมรูปภาพ
-----------------------------------------
-----------------------------------------
ชมอัลปั้มภาพเพิ่มเติม
20231111 วัดศรีสุทธาวาส (พระอารามหลวง) จังหวัดเลย
https://photos.app.goo.gl/DiP1nbjromLD7d1NA
------------------
พระพุทธรูปสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด
1. พระพุทธศิลามงคลมิ่งเมือง พระคู่บารมีหลวงปู่ ชาวบ้านเรียกว่า “พระเจ้าหน้าดำ” เป็นพระพุทธรูปหินทรายสีแดงโบราณหลวงปู่ได้ถวายนามว่า “พระพุทธศิลามงคลมิ่งเมือง” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยลพบุรี (รศ.กมล ฉายาวัฒนะ มีความเห็นว่าเป็นศิลปะสมัยทวารวดี) เดิมทีประดิษฐานอยู่ในบ้านโป่ง ตำบลกกดู่ อำเภอเมือง จังหวัดเลย ก่อนจะถูกอันเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดศรีสุทธาวาส (เลยหลง) ความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปหินนี้ เป็นเหตุให้ชาวบ้านหลายกลุ่มต้องการอันเชิญไปไว้บูชาที่วัด ณ หมู่บ้านของตน แต่น่าอัศจรรย์ที่ไม่มีชาวบ้านใดสามารถนำไปได้เลย ทั้งๆที่องค์พระก็ไม่ใหญ่โตเท่าใด แต่หนักมากจนไม่สามารถยกได้ แม้บางกลุ่มจะมีความสามารถสูงมาก แต่ก็ไม่สำเร็จ
2. พระปางประทับยืนห้ามสมุทร ฐานชั้นล่างมีจารึกอักษรธรรมแปลความได้ว่ามหาสมเด็จสังฆราชเจ้าวัดกลางทรายขาว พระยาทรายขาว และอุบาสกอุบาสิกาเมืองเลย นอกจากแสดงว่า เมืองทรายขาวน่าจะมีความสำคัญมากในสมัยนั้น โดยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเมืองเลย แล้วยังชี้ให้เห็นว่า คำเรียก “เมืองเลย” มีมาแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2255 เป็นอย่างช้า ส่วนเมืองทรายขาวนั้นแม้ยังไม่พบหลักฐานแน่ชัดว่าตั้งอยู่ที่ใด แต่มีข้อสังเกตว่าหลักฐานปรากฏว่าเคยเป็นเมืองเก่าตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเลย เขตอำเภอวังสะพุง
3. พระพุทธรูปประทับนั่งขัตสมาธิราบปางมารวิชัย มีจารึกอักษรธรรมด้านหน้า 3 บรรทัด ด้านหลัง 4 บรรทัด ความว่า “พ่อออกซามีใจใสศรัทธา พร้อมกับลูกเมียได้สร้างรูปพระพุทธเจ้ปีลังกา ขอให้ได้บุญมากๆ ก็ข้าเทอญ นิพพาน ปัจจโย โหตุ สมเด็จขาดเป็นผู้ริจนาให้แลเป็นพระปางประทับนั่งขัดสมาธิราบ”
4. พระปางมารวิชัย บนฐานสูง 3 ชั้น มีข้อความจารึกที่ฐานด้วยอักษรธรรมด้านหน้า 1 บรรทัด ความว่า จันทิมาสังกราช 71
5. พระปางมารวิชัย มีข้อความจารึกว่า สังกราชได้ 899 ตัวดีวิเศษให้แล
6. พระนั่งสมาธิราบปางมารวิชัย มีจารึกอักษรธรรมความว่า “ของพระสงฆ์โสชโล วันที่ 6 เดือน 5 แฮม 7 ค่ำ พ.ศ. 2478 พระวัสสา พระครูสวงเป็นศัทธาเจ้าเงินพระสิงห์เป็นผู้หล่ออาจญาท่านบุญมากวนพุงเป็นพระอาจารย์ขอให้เถิงสถานอันประเสริฐล่ำเลิศขึ้นไป”
พระพุทธรูปทั้ง 6 องค์ สามารถบ่งบอกถึงหลักฐานทางประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดเลยได้อีกทางหนึ่ง