อุทยานธรณีโลก ประวัติการทำงาน UNESCO
ประวัติการทำงาน UNESCO กับงานด้านอุทยานธรณี
ความเป็นมาของอุทยานธรณีโลก
อุทยานธรณี (Geoparks) เกิดมาภายใต้ปรัชญาการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยเฉพาะในส่วนที่มีความโดดเด่นทางธรณีวิทยาอันเป็นมรดกของโลก แนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 และมีพัฒนาการเป็นการประกาศความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาค ผ่านทางการป้องกันมรดกทางธรณีวิทยา และการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางธรณีวิทยา (Geotourism) ของแหล่งสำคัญทางธรณีวิทยาในยุโรป พร้อมทั้งมีการก่อตั้ง European Geoparks Ketwork (EGN) และมีข้อตกลงอย่างเป็นทางการในความร่วมมือกับองค์กรการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ
การทำงานของ UNESCO กับงานด้านอุทยานธรณีในปี พ.ศ. 2544 และต่อมาในปี 2547 ได้มีการนำอุทยานธรณีในประเทศยุโรป 14 แห่ง ร่วมกับอุทยานธรณีระดับชาติของจีน 8 แห่ง ร่วมกันจัดตั้ง เครือข่ายอุทยานธรณีของโลก (Global Geoparks Network: GGN) ที่ดำเนินการโดย UNESCO เป็นเครือข่าย สนับสนุนให้เกิดการอนุรักษ์แหล่งธรณีวิทยาที่สำคัญของโลก รวมทั้งก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมต่อชุมชนในระดับประเทศ โดยเป็นเครือข่ายประชาสัมพันธ์แหล่งอนุรักษ์ธรณีวิทยาที่มีความโดดเด่น สวยงามหรือมีความสำคัญ ทางธรณีประวัติของแต่ละประเทศ ให้กลายเป็น “แหล่งท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ทางธรรมชาติระดับโลกโดยการมีส่วนร่วม ของท้องถิ่น” ที่มีลักษณะเครือข่ายเชื่อมโยงทั่วโลก และสนับสนุนกิจกรรมท่องเที่ยวธรรมชาติในระดับโลกไปพร้อมกัน
อุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks) เป็นพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่มีความเป็นเอกลักษณ์เป็นหนึ่งเดียว และเป็นสถานที่ซึ่งอาจมีเพียงที่เดียว และมีลักษณะทางภูมิทัศน์ที่มีความสำคัญทางธรณีวิทยาในระดับโลก ที่นานาชาติได้รับทราบและมีส่วนร่วมในเป็นผู้ร่วมจัดการ ด้วยแนวคิดแบบองค์รวมในด้านการคุ้มครอง การศึกษา และการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยใช้แนวคิดวิธีการพัฒนาจากล่างขึ้นบน ทำการผสมผสานการอนุรักษ์เข้ากับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยให้ชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและดูแลที่มากขึ้น โดยแนวคิดนี้กำลังเป็นที่นิยมมากในการพัฒนาของยูเนสโก
เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ประเทศสมาชิก 195 ประเทศของ UNESCO ได้ให้สัตยาบันในการสร้างป้ายกำกับใหม่ UNESCO Global Geoparks ในระหว่างการประชุมใหญ่สามัญครั้งที่ 38 ขององค์กร
ปัจจุบัน UNESCO Global Geoparks มีทั้งหมด 180 แห่งใน 46 ประเทศ (รายชื่ออุทยานธรณีโลก) ซึ่งความก้าวหน้าต่อเนื่องมาเป็นการแสดงออกถึงการยอมรับของรัฐบาลต่างๆ ในโลก ที่เริ่มเห็นถึงความสำคัญของการจัดการแหล่งธรณีวิทยา (geological sites) และภูมิทัศน์ที่โดดเด่นในลักษณะองค์รวม (landscapes in a holistic manner) มีหลายองค์กรที่เข้ามาสนับสนุนความพยายามของประเทศสมาชิกในการจัดตั้ง UNESCO Global Geoparks ให้มีกระจายไปทั่วโลก โดยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดเป็นกลุ่มเครือข่าย Global Geoparks Network
.
-------------------------------------------------
ที่มา
- http://www.globalgeopark.org
ภาพและรวบรวมโดย
-------------------------------------------------
สนใจเรื่องราวเพิ่มเติมคลิกที่นี่
อุทยานธรณีโลกยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks)
-------------------------------------------------