แหล่งมรดกโลก เอเชียตะวันออก ญี่ปุ่น 1996 อนุสรณ์สันติภาพฮิโระชิมะ (Hiroshima Peace Memorial (Genbaku Dome))
- 2539/1996 อนุสรณ์สันติภาพฮิโระชิมะ (โดมเก็มบะกุ) / Hiroshima Peace Memorial (Genbaku Dome)
ตำแหน่งที่ตั้ง 34.395713138645604, 132.45360273465883
อนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมะ (Hiroshima Peace Memorial) หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า โดมปรมาณู (Atomic Bomb Dome) ตั้งอยู่ใน นครฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ในอาณาเขตของสวนสันติภาพฮิโรชิมะได้รับการก่อตั้ง เป็นอนุสรณ์ใน พ.ศ. 2539 และขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปีเดียวกัน
อนุสรณ์สันติภาพฮิโระชิมะ (Hiroshima Peace Memorial (Genbaku Dome)) เป็นโครงสร้างเดียวที่เหลืออยู่ในบริเวณที่ระเบิดปรมาณูลูกแรกระเบิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ด้วยความพยายามของคนจำนวนมาก รวมถึงชาวเมืองฮิโรชิมา จึงได้รับการอนุรักษ์ให้คงอยู่ในสภาพเดิมทันทีหลังการทิ้งระเบิด ไม่เพียงแต่เป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนและทรงพลังของพลังทำลายล้างที่มนุษย์สร้างขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ยังเป็นการแสดงออกถึงความหวังต่อสันติภาพของโลกและการกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดอย่างถึงที่สุด
อนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมะ เป็นอาคารที่อยู่ใกล้จุดศูนย์กลางการระเบิดมากที่สุดในบรรดาอาคารที่ยังตั้งทนต่อแรงระเบิด ตัวอาคารได้รับการอนุรักษ์ให้อยู่ในสภาพหลังจากถูกระเบิด ปัจจุบันได้กลายเป็นอนุสรณ์เตือนให้ระลึกถึงพลังทำลายล้างของระเบิดปรมาณู และเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังในสันติภาพและการต่อต้านการใช้อาวุธปรมาณู
โดมปรมาณูเดิมก่อสร้างเป็น ศูนย์การประชุมพาณิชยกรรมแห่งฮิโรชิมะ เพื่อพัฒนาการตลาดของผลิตภัณฑ์ของเมืองฮิโรชิมะ ซึ่งเป็นเมืองที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในฐานะเมืองสงคราม เพราะเป็นที่ตั้งของศูนย์บัญชาการในสมัยสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง
จังหวัดฮิโรชิมะอนุมัติการก่อสร้างใน พ.ศ. 2453 และเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2457 ตัวอาคารเดิมออกแบบโดยสถาปนิกชาวเช็กชื่อว่า Jan Letzel สร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2458 เปิดใช้งานในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ในปี พ.ศ. 2464 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์จัดแสดงสินค้าแห่งฮิโรชิมะ และในปี พ.ศ. 2476 เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น ศูนย์ประชาสัมพันธ์เชิงอุตสาหกรรมแห่งฮิโรชิมะ ภายในศูนย์แห่งนี้มีการแสดงและวางขายสินค้าที่ผลิตในฮิโรชิมะ รวมทั้งแสดงงานศิลปะต่าง ๆ แต่เมื่อสงครามเริ่มทวีความรุนแรง การแสดงสินค้าก็ลดลงจนเลิกไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2487
ระเบิดปรมาณู ในวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2488 เวลา 8 นาฬิกา 15 นาที ระเบิดปรมาณูลิตเติลบอย ระเบิดห่างจากโดมปรมาณูทางทิศตะวันออก 150 เมตร และสูงเหนือพื้นดิน 580 เมตร สันนิษฐานว่า 1 วินาทีหลังจากที่ลิตเติลบอยระเบิดอาคารก็พังทลาย แม้ว่าส่วนอาคารทั้ง 3 ชั้นจะพังทลายเกือบทั้งหมด แต่ส่วนโดมตรงกลางและกำแพงโดยรอบกลับรอดมาได้ เพราะแรงระเบิดนั้นเกิดขึ้นเหนืออาคารพอดี คาดว่าเจ้าหน้าที่ประมาณ 30 คนที่อยู่ในอาคารเสียชีวิตทั้งหมด
การอนุรักษ์อนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมะเมื่อ พ.ศ. 2488 การฟื้นฟูฮิโรชิมะเริ่มขึ้นจากการสร้างอาคารชั่วคราวบนพื้นดินที่ราบเป็นหน้ากลอง ในระหว่างนั้น ซากโครงเหล็กรูปโดมของศูนย์ประชาสัมพันธ์เชิงอุตสาหกรรมก็เป็นที่เห็นเด่นชัดจนชาวเมืองพากันเรียกว่าโดมปรมาณู จนติดปาก
โดมปรมาณูกลายเป็นที่รู้จักในฐานะของสัญลักษณ์ความโหดร้ายของระเบิดปรมาณู แต่ชาวเมืองกลับอยากให้ทำลายทิ้ง เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้นึกถึงความโหดร้ายของการทิ้งระเบิด ทำให้มีการถกเถียงกันว่าควรจะอนุรักษ์หรือทำลาย เทศบาลเมืองฮิโรชิมะในขณะนั้นไม่เห็นด้วยกับการอนุรักษ์ ด้วยสาเหตุที่ว่าการอนุรักษ์ทำให้เกิดภาระทางการเงินมาก และต้องการใช้ทรัพยากรที่จำกัดไปในการฟื้นฟูเมืองมากกว่า แต่เมื่อ อิจิโร คาวาโมโตะ นักต่อสู้เพื่อสันติภาพ ได้อ่านข้อความว่า "ศูนย์ประชาสัมพันธ์เชิงอุตสาหกรรมที่น่าสงสารนั้น คงจะประกาศให้ชนรุ่นหลังได้รับรู้ถึงความน่าสะพรึงกลัวของระเบิดปรมาณูตลอดไป" ในอนุทินของฮิโรโกะ คาจิยามะ เด็กสาวซึ่งเสียชีวิตใน พ.ศ. 2503 ด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เขาจึงเริ่มการรณรงค์ให้อนุรักษ์โดมประมาณูไว้ จนใน พ.ศ. 2509 สภาเทศบาลเมืองฮิโรชิมะก็ลงความเห็นให้อนุรักษ์โดมปรมาณูไว้ตลอดไป ในการระดมทุนสำหรับการก่อสร้างเพื่อเก็บรักษาโดมปรมาณู สามารถรวบรวมเงินจากชาวญี่ปุ่นทั่วประเทศและชาวต่างชาติทั่วโลกได้ถึง 66 ล้านเยน การซ่อมแซมครั้งแรกเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2510 และเสร็จสิ้นในวันที่ 5 สิงหาคม ในปีเดียวกัน
20 ปี หลังจากการซ่อมแซมครั้งแรก เริ่มมีรอยร้าวบนกำแพงและการกัดกร่อนของโครงเหล็ก จึงต้องมีการซ่อมแซมอีกครั้งในปี พ.ศ. 2532 ในครั้งนี้ได้รับเงินบริจาคถึงกว่า 395 ล้านเยน ซึ่งมากกว่าเป้าที่ตั้งไว้เกือบ 4 เท่า เงินส่วนที่เหลือจากการซ่อมแซมนำมาตั้งเป็นกองทุนเพื่อการอนุรักษ์โดมปรมาณู และมีการตรวจความแข็งแรงทุก ๆ 3 ปี
อนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมะ ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นมรดกโลกใน พ.ศ. 2539 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ตัวแทนจากจีนตั้งข้อสงสัยในการรับรองให้อนุสรณ์แห่งนี้เป็นมรดกโลก เพราะจีนเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่อนุสรณ์แห่งนี้อาจถูกนำไปใช้บิดเบือนประวัติศาสตร์เพื่อกล่าวร้ายศัตรูของญี่ปุ่น และตัวแทนจากสหรัฐอเมริกาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการขึ้นทะเบียนอนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมะเป็นมรดกโลก เพราะยังขาดมุมมองทางประวัติศาสตร์ แต่คณะกรรมการมรดกโลก ก็ตัดสินให้อนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมะผ่านหลักเกณฑ์ทางวัฒนธรรม ในข้อที่ว่า มีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือมีความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์ และได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกตั้งแต่ พ.ศ. 2539
ตัวอาคาร ศูนย์การประชุมพาณิชยกรรมแห่งฮิโรชิมะได้รับการอนุมัติให้ก่อสร้างในปี พ.ศ. 2453 โดยสร้างบริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโมโตยาซุ ตัวอาคารเป็นแบบตะวันตก มีสามชั้น เป็นอิฐเสริมโครงเหล็กบางส่วน ด้านหน้าตรงกลางมีห้าชั้น มีโดมทองแดงอยู่ด้านบนและมีชั้นใต้ดินหนึ่งชั้น ประตูทางเข้าทำด้วยหิน มีทั้งสวนแบบตะวันตกและสวนแบบญี่ปุ่น เมื่อถูกระเบิดทำลายในวันที่ 6 สิงหาคม ตัวอาคารโดนทำลายเกือบทั้งหมด เหลือเพียงบริเวณโครงของโดมตรงกลางและกำแพงโดยรอบ จึงเป็นที่มาของชื่อ โดมปรมาณู มีการสร้างโครงเหล็กเพื่อยึดจากด้านใน ให้โดมปรมาณูคงอยู่ในสภาพซากหลังจากถูกทำลาย
ที่มา
ข้อมูล https://whc.unesco.org
ข้อมูลและรูปภาพ www.iok2u.com
-----------------------------------------
รวมข้อมูลแหล่งมรดกโลก (World Heritage Site)
-----------------------------------------