BA Theory แนวคิดและทฤษฎี Michael E. Porter value The chain and competitive advantage การทำความเข้าใจกระบวนการทางธุรกิจโดยใช้ห่วงโซ่คุณค่าและความได้เปรียบในการแข่งขัน
ศาสตราจารย์ ไมเคิล ยูจีน พอร์เตอร์ (Michael Eugene Porter, Michael E. Porter, Porter, M.E.) เป็นนักคิดนักบริหารและนักเศรษฐศาสตร์ ที่มีชื่อเสียงในส่วนของการบริหารเชิงกลยุทธ์ที่มีชื่อเสียงของ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยเป็นผู้พัฒนาทฤษฎีในเรื่องกลยุทธ์การแข่งขันและการบริหารจัดการ เขาได้เสนอแนวคิดการประยุกต์หลักทางเศรษฐศาสตร์ธุรกิจและอุตสาหกรรมที่สำคัญหลายเรื่อง สามารถใช้ในการนำไปช่วยในการวิเคราะห์การวางแผนและใช้กำหนดกลยุทธ์ของการดำเนินกิจการทางธุรกิจ (สนใจข้อมูลเพิ่มเติมคลิกที่ดูที่ Michael E. Porter คือใคร) Porter ได้มีการเขียนหนังสือด้านการบริหารและจัดการหลายเล่ม และมีหลายเล่มที่ได้รับความนิยมแพร่หลายมาก สรุปแนวคิดและทฤษฎีที่โด่งดังที่มีการนำเสนอที่สำคัญอีกเรื่อง คือ
การทำความเข้าใจกระบวนการทางธุรกิจโดยใช้ห่วงโซ่คุณค่าและความได้เปรียบในการแข่งขัน จากหนังสือของ Porter ที่ชื่อว่า The value chain and competitive advantage. Understanding Business Processes., (2001) เป็นการเสนอแนวคิดในการวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่า และแนะแนวคิดเกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันขององค์กร จะเกิดจากการดำเนินกิจกรรมภายในองค์กรเอง การจัดการกิจกรรมที่ดีจะสามารถช่วยลดต้นทุนให้แก่องค์กร เพื่อใช้กลยุทธ์ในการเป็นผู้นำในด้านราคา (Cost Leadership) หรือช่วยในการสร้างความแตกต่างในสินค้าและบริการ (Differentiation) จึงควรจะต้องทำการวิเคราะห์ถึงกิจกรรมหาความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรม เพื่อศึกษาหาความได้เปรียบทางการแข่งขันขององค์กร ห่วงโซ่คุณค่าในการตลาด (Value Chain) เป็นแนวคิดการทำความเข้าใจถึงบทบาทแต่ละหน่วยงานในขั้นปฏิบัติการ ว่าจะมีส่วนช่วยเหลือให้องค์กรสร้างคุณค่าให้แก่ลูกค้าได้อย่างไร โดยคุณค่าที่สร้างขึ้นต้องสามารถวัดได้ โดยการพิจารณาว่าผู้บริโภคยินยอมที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการของบริษัทมากน้อยเพียงใด การแบ่งกิจกรรมเพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์หาจุดอ่อนและจุดแข็งอย่างเป็นระบบเป็น 2 ประเภทคือ
(1) กิจกรรมหลัก (Primary Activities) เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าหรือบริการ การตลาด และการขนส่งไปยังผู้บริโภคประกอบด้วย 5 กิจกรรมย่อยคือ
(1.1) การขนส่งขาเข้า (Inbound Logistics) เกี่ยวกับการจัดหาและนำวัตถุดิบปัจจัยการผลิตเข้าสู่กิจกรรมการผลิต การจัดเก็บรักษา และการจัดการเกี่ยวกับวัสดุ การคลังสินค้า ระบบการควบคุมสินค้าคงเหลือ กำหนดตารางการเคลื่อนย้าย และการรับคืน
(1.2) การปฏิบัติการ (Operations) เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนหรือแปรรูปวัตถุดิบให้ออกมาเป็นสินค้า เป็นขั้นตอนการผลิตกิจกรรมที่เปลี่ยนปัจจัยการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สุดท้าย เป็นการทำผลิตภัณฑ์ให้ดีและมีคุณภาพดียิ่งขึ้น
(1.3) การขนส่งขาออก (Outbound Logistics) เกี่ยวข้องกับการจัดส่งผลิตภัณฑ์สุดท้ายหรือสินค้าสำเร็จรูปออกสู่ตลาด
(1.4) การตลาดและการขาย (Marketing and Sales) เป็นกิจกรรมเกี่ยวข้องกับการตลาดและการขายสินค้าประกอบด้วย ส่วนประสมผลิตภัณฑ์ (Product Mix), การตั้งราคา (Pricing), การส่งเสริมการตลาด (Promotions) และช่องทางจัดจำหน่าย (Channel of Distributions)
(1.5) การบริการ (Services) การให้บริการลูกค้าถือว่าเป็นกิจกรรมสร้างคุณค่าของธุรกิจ ความจำเป็นในการบริการโดยพยายามให้การบริการที่เหนือกว่าแก่ลูกค้าซึ่งเป็นจุดแข็งขององค์กร
(2) กิจกรรมสนับสนุน (Support Activities) เป็นกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้กิจกรรมหลักสามารถดำเนินไปได้ประกอบด้วย 4 กิจกรรมย่อยคือ
(2.1) โครงสร้างพื้นฐานขององค์กร (Firm Infrastructure) เช่น การเงิน การบัญชี กฎหมาย รัฐบาล ระบบสารสนเทศ และการจัดการทั่วไป กิจกรรมเหล่านี้สนับสนุนเครือข่ายในการสร้างคุณค่า และเป็นจุดเริ่มต้นที่มีกันในทุกระดับภายในองค์กร ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในกิจกรรมโครงสร้างพื้นฐานจะถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด
(2.2) การบริหารทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Management) การสรรหาคัดเลือกฝึกอบรมพัฒนาและกำหนดค่าตอบแทนทุกระดับของพนักงาน การบริหารทรัพยากรมนุษย์ควรมีในทุกกิจกรรม การรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับพนักงานเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างคุณค่า ลดต้นทุนการรักษาพนักงาน โดยการเพิ่มประสิทธิภาพและความพึงพอใจในงานของพนักงาน
(2.3) การพัฒนาเทคโนโลยี (Technology Development) กิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยในการเพิ่มคุณค่าให้สินค้าและบริการหรือกระบวนการผลิต มีผลกระทบต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการทำให้เกิดคุณค่าในการจำหน่ายและบริการสินค้าไปสู่ลูกค้า
(2.4) การจัดการทรัพยากร (Procurement) หมายถึง การจัดหาจัดซื้อเพื่อให้ได้วัตถุดิบวัสดุสิ้นเปลืองและปัจจัยในการผลิตซึ่งจำเป็นต้องใช้ในกระบวนการผลิต วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต
จะพบว่าในกิจกรรมหลักนั้นกิจกรรมทุกส่วนจะต้องมีการทำงานที่สอดคล้องประสานงานกันได้ดีจึงจะก่อให้เกิดคุณค่าที่เพิ่มขึ้นได้ และยังต้องมีการอาศัยกิจกรรมสนับสนุนมาช่วย โดยกิจกรรมสนับสนุนเองนอกจากจะทำหน้าที่สนับสนุนกิจกรรมหลักแล้วยังต้องทำหน้าที่สนับสนุนกิจกรรมย่อยอีกด้วย จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีสารสนเทศจะเป็นองค์ประกอบสำคัญในห่วงโซ่คุณค่า โดยการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศจะช่วยให้การนำข้อมูลที่มีมาช่วยในการวางแผน การดำเนินงาน การตัดสินใจ และการควบคุม โดยจะต้องทำหน้าที่สนับสนุนเชื่อมต่อกิจกรรมทุกส่วนในห่วงโซ่คุณค่า เป็นการสร้างความได้เปรียบในเชิงแข่งขันของธุรกิจหรือองค์กรได้
ที่มาภาพและรวบรวมโดย www.iok2u.com
-------------------------------------------------
สนใจเรื่องราว การจัดการธุรกิจ (Business Management) เพิ่มเติมคลิกที่นี่
BA รวมเรื่องราวการจัดการธุรกิจ (Business Management)
-------------------------------------------------