แผนธุรกิจแคนวาส (Business Model Canvas, BMC) 9 ข้อ
แผนธุรกิจแคนวาส (Business Model Canvas, BMC) เป็นเครื่องมือใหม่สำหรับผู้ที่กำลังคิดจะเริ่มต้นธุรกิจ หรือปรับปรุงธุรกิจเดิมให้เติบโตมากยิ่งขึ้น
ผู้ประกอบการควรมี Business Model ที่ชัดเจน เพื่อลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจนั้นๆ และทำให้เรารู้และเข้าใจภาพรวมของธุรกิจของตัวเองได้มากขึ้น แต่เนื่องจาก Business Model อาจยังไม่สามารถช่วยในการมองภาพธุรกิจของตนได้ชัดพอ Alex Osterwalder จึงได้คิดพัฒนาBusiness Model Canvasขึ้นมาให้เป็นเครื่องมือสำเร็จรูป (template) เพื่อมาเติมเต็มช่องว่างของโมเดลธุรกิจ ให้สามารถแสดงภาพรวมของธุรกิจได้อย่างครบถ้วน ช่วยให้สามารถมองเห็นภาพรวมของธุรกิจ ประเมินโอกาสช่องทาง และความเสี่ยงในการลงทุนได้ดีขึ้น
Business Model Canvas จะเริ่มจากการลงรายละเอียดต่างๆ เพื่อตอบคำถามสำคัญของการทำธุรกิจ โดยจะมีข้อมูลสำคัญ 9 ข้อประกอบด้วยรายละเอียดดังนี้
1. กลุ่มลูกค้า (Customer Segments, CS) ระบุกลุ่มลูกค้าที่จะเป็นเป้าหมาย หัวใจสำคัญของการทำธุรกิจคือต้องหาลูกค้าให้ได้ เพราะหากสินค้าที่ทำออกมาไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย การซื้อขายก็ยากที่จะเกิดขึ้น
2. การกำหนดคุณค่าสินค้า (Value Proposition, VP) ต้องสามารถระบุตำแหน่งคุณค่าให้ได้ว่า สินค้าหรือบริการของเรานั้นดีมีคุณค่าอย่างไร สามารถให้ประโยชน์อะไรแก่ลูกค้า ส่วนนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อ
3. ช่องทางการเข้าถึงลูกค้า (Channels, CH) กำหนดช่องทางในการติดต่อเข้าถึงลูกค้า ดูว่ามีช่องทางไหนไหนที่จะช่วยให้เข้าถึงลูกค้าได้ ต้องให้ความสำคัญทั้ง ช่องทางการสื่อสาร ช่องทางในการส่งมอบสินค้าไปถึงลูกค้า และช่องทางให้บริการลูกค้า
4. ความสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relationships, CR) เพื่อวางแผนสร้างและรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าให้ถูกต้อง แต่ละกลุ่มเป้าหมายก็จะมีรูปแบบวิธีในการที่จะรักษาความสัมพันธ์แตกต่างกัน
5. รายได้หลัก (Revenue Streams, RS) รายได้ที่จะได้รับกลับมา ต้องมองให้ออกว่ารายได้จะเข้ามาวิธีการใดเช่น ค่าสินค้า ค่าบริการ ค่าสมาชิก ค่าเช่าสัญญาณ ฯลฯ
6. ทรัพยากรหลัก (Key Resources, KR) ทรัพยากรที่มีในองค์กรที่มีส่วนสำคัญในการดำเนินธุรกิจให้สำเร็จ ประกอบด้วย ทรัพยากรที่มีอยู่แล้วและที่จำเป็นจะต้องมี สามารถใช้หลัก 4 M มาช่วยกำหนดได้เช่น เงินลงทุน (Money), เครื่องจักร (Machine), คน (Man) หรือการจัดการเทคโนโลยี (Management) เป็นต้น
7. กิจกรรมหลัก (Key Activities, KA) งานกิจกรรมหรือกระบวนการหลักของธุรกิจคืออะไร เช่น การผลิต การให้บริการ หรือการจัดการ
8. พันธมิตรหลักในธุรกิจ (Key Partnerships, KP) กิจกรรมหลักบางอย่างเราอาจไม่สามารถทำได้เอง หรืออาจใช้คนนอกที่สามารถทำได้ดีกว่า จึงต้องมีการหาหุ้นส่วนทางธุรกิจ มาร่วม เพื่ออำนวยความสะดวก ช่วยกระจายความเสี่ยงในการลงทุน และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ธุรกิจ เช่น การจ้าง supplier หรือการหาคนร่วมหุ้นเพื่อพัฒนาธุรกิจเป็นต้น
9. โครงสร้างต้นทุน (Cost Structure, CS) ค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจ ซึ่งมีทั้งรายจ่ายที่คงที่และไม่คงที่เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าวัตถุดิบ ค่าเช่าสถานที่ รวมถึงค่าใช้จ่ายทางด้านการตลาดด้วยเช่นกัน เมื่อนำรายจ่ายที่มีลบกับรายได้หลัก (RS) จะผลประโยชน์ที่องค์ได้รับ
----------------------------------------
@ ลงข้อมูล / เกียรติพงษ์ อุดมธนะธีระ
@ ที่มาข้อมูล
- ฺWeb: www.iok2u.com
- FB: https://www.facebook.com/iok2u
- Line: @iok2u.com
- Mail: