E-Learning องค์ประกอบของการเรียนรู้โดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Learning Element)
องค์ประกอบของ E-Learning
การเรียนการสอนแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Learning มีองค์ประกอบที่สำคัญหลายส่วน แต่ละส่วนต้องมรการจัดการและออกแบบเฉพาะ ให้ดี เมื่อนำมาประกอบรวมเข้าเป็นระบบแล้ว ทั้งหมดจะต้องทำงานเชื่อมโยงประสานกันได้อย่างลงตัวไร้รอยต่อ องค์ประกอบที่ควรให้ความสนใจ ได้แก่
1 ระบบบริหารการศึกษา (Education Management System) หรือ ระบบบริหารการเรียน (LMS: Learning Management System) ส่วนนี้เป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญ ทำหน้าที่ควบคุม และประสานงานให้ระบบดำเนินไปอย่างถูกต้อง องค์ประกอบนี้สำคัญที่สุดเพราะทำหน้าที่ในการวางแผน กำหนดหลักสูตร ตารางเวลา แผนด้านบุคลากร แผนงานบริการ แผนด้านงบประมาณ แผนอุปกรณ์เครือข่าย แผนประเมินผลการดำเนินงาน และทำให้แผนทั้งหมด ดำเนินไปอย่างถูกต้อง รวมถึงการประเมิน และตรวจสอบ กระบวนการต่าง ๆ ในระบบ และนำหาแนวทางแก้ไข เพื่อให้ระบบดำเนินต่อไปด้วยดี และไม่หยุดชะงัก
E-Learning เป็นการเรียนที่สนับสนุนให้ผู้เรียนได้ศึกษา เรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นระบบบริหารการเรียนจึงทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางที่กำหนดลำดับของเนื้อหาในบทเรียน นำส่งบทเรียนผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ไปยังผู้เรียน รวมทั้งประเมินผลความสำเร็จของบทเรียน ควบคุม และสนับสนุนการให้บริการทั้งหมดแก่ผู้เรียน LMS จึงถือว่าเป็นองค์ประกอบของ E- Learning ที่สำคัญมาก เพราะจะทำหน้าที่ตั้งแต่ผู้เรียนเริ่มเข้ามาเรียน โดยจัดเตรียมหลักสูตรและบทเรียนทั้งหมดเอาไว้ให้พร้อมที่จะให้ผู้เรียนได้เข้ามาเรียน เมื่อผู้เรียนได้เริ่มต้นบทเรียนแล้วระบบจะเริ่มทำงานโดยส่งบทเรียนตามคำขอของผู้เรียนผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (อินเทอร์เน็ต, อินทราเน็ต หรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์อื่นๆ) ไปแสดงที่ web browser ของผู้เรียน จากนั้นระบบก็จะติดตามและบันทึกความก้าวหน้า รวมทั้งสร้างรายงานกิจกรรมและผลการเรียนของผู้เรียนในทุกหน่วยการเรียนอย่างละเอียด จนกระทั่งจบหลักสูตร
2 เนื้อหารายวิชา (Contents) ส่วนนี้เป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญ ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้สอนคือ การเขียนคำอธิบายรายวิชา วางแผนการสอนเป็นบทและเป็นขั้นตอน ให้เหมาะสมกับเวลา ตรงกับความต้องการของสังคม สร้างสื่อการสอนที่เหมาะสม แยกบทเรียนเป็นบท มีการมอบหมายงานเมื่อจบบทเรียน และทำสรุปเนื้อหาไว้ตอนท้ายของแต่ละบท พร้อมแนะนำแหล่งอ้างอิงเพิ่มเติมให้ไปศึกษาค้นคว้า
เนื้อหาถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของการเรียนการศึกษาไม่ว่าระบบใดก็ตาม แม้แต่ E-Learning ก็เช่นกัน แต่เนื่องจาก E-Learning นั้นถือว่าเป็นการเรียนรู้แบบใหม่สำหรับวงการการศึกษาในประเทศไทย ดังนั้นเนื้อหาของการเรียนแบบนี้ที่พัฒนาเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงมีอยู่น้อยมาก ไม่เพียงพอกับความต้องการที่จะใช้ในการเรียนการสอน การฝึกอบรม เพิ่มพูนความรู้ และการพัฒนาศักยภาพทั้งของบุคคลโดยส่วนตัวและของหน่วยงานต่างๆ อย่างไรก็ตาม สถาบันที่เกี่ยวข้องได้มีความพยายามแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้มีการประสานและสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เพื่อพัฒนาบทเรียนออนไลน์วิชาภาษาอังกฤษสำหรับเจ้าหน้าที่สำนักงาน นอกจากนั้นยังมีการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รวมทั้งสถาบันการศึกษา วิทยาลัย โรงเรียน หน่วยราชการ และผู้สนใจทั่วไปที่มีความสนใจจะนำเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่ มาพัฒนาเป็นบทเรียนออนไลน์ ทั้งนี้ เจ้าของเนื้อหาวิชา(Content Provider) ที่เป็นแหล่งความรู้ทั้งหลายนั้น แต่ละท่านจะเป็นผู้มีความเด่นในเนื้อหาด้านต่างๆ ทั้งด้านวิชาการและวิชาชีพ ตลอดจนความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วย
3 การสื่อสารในระบบ (Communication)
การเรียนทางไกล (Distance Learning) โดยทั่วไปแล้วมักจะเป็นการเรียนด้วยตัวเอง โดยผู้เรียนไม่ต้องมาเข้าที่ห้องเรียนเหมือนปกติ ผู้เรียนจะสามารถเรียนรู้ได้จากสื่อการเรียนการสอนที่มีการจัดเตรียมไว้ เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ซึ่งการเรียนแบบ E-Learning ถือเป็นการเรียนทางไกลอีกแบบหนึ่ง E-Learning มีความโดดเด่นและแตกต่างไปจากการเรียนทางไกลทั่วไปคือ เป็นการนำรูปแบบการเรียนรู้ที่มีการติดต่อสื่อสารไปกลับหรือที่เรียกว่าสื่อสารไปมาได้ 2 ทาง ช่วยเพิ่มความน่าสนใจ ประสิทธิภาพในการเรียนรู้ และความตื่นตัวให้กับผู้เรียน ให้มีความสนใจต่อกิจกรรมการสอนและบทเรียนให้ได้มากกว่าไปสอนทางเดียวในแบบการสอนทางทั่วไป ยังเป็นเครื่องมือช่วยให้ ผู้เรียนได้ติดต่อสอบถามปรึกษาหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างตัวผู้เรียนกับครูอาจารย์ผู้สอน และระหว่างผู้เรียนกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนคนอื่น ๆ ได้ด้วย
การสื่อสารในระบบ (Communication) เป็นการสื่อสารระหว่างผู้เรียนและผู้สอนหรือระหว่างผู้เรียนด้วยกัน ทุกคนในชั้นเรียนสามารถติดต่อสื่อสารกัน หาข้อมูลช่วยเหลือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือตอบข้อซักถาม เพื่อให้การศึกษาได้ประสิทธิผลสูงสุด สิ่งสำคัญที่ทำให้ e-learning มีความโดดเด่นและแตกต่างไปจากการเรียนทางไกลทั่ว ๆ ไปก็คือการนำรูปแบบการติดต่อสื่อสารแบบ 2 ทางมาใช้ประกอบในการเรียน เพิ่มความสนใจและความตื่นตัวของผู้เรียนที่มีต่อบทเรียนให้มากยิ่งขึ้น โดยเครื่องมือที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภทดังนี้
- ประเภท Real-time ได้แก่ Chat (message, voice), White board / Text slide, Real-time Annotations, Interactive poll, Conferencing และอื่น ๆ เป็นต้น
- ประเภท Non real-time ได้แก่ Web-board, e-mail เป็นต้น
4 การวัดผลการเรียน (Evaluation) ในการเรียนการสอนทั่วไปปกติต้องมี การสอบการวัดผลการเรียนหรือการประเมินผลการเรียนเป็นส่วนหนึ่งอยู่เสมอ การสอบการวัดผลการเรียน เป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะทำให้การจัดการเรียนการสอนในแบบ e-learning มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพราะกิจกรรมใดที่เราไม่สามารถวัดผลได้ก็ยากที่เราจะทำการปรับปรุงได้ การวัดผลมีหลายแบบบางครั้ง เราอาจจำเป็นต้องทำการวัดระดับความรู้ก่อนเข้าสมัครเข้าเรียน เพื่อให้ผู้เรียนได้เลือกเรียนในบทเรียนหรือหลักสูตรที่เหมาะสมมากที่สุด ซึ่งทำให้การเรียนที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ในการเรียนรู้แต่ละบทก็อาจจะมีการสอบย่อยหรือทำแบบฝึกหัดในท้ายบท จนสุดท้ายเมื่อเรียนรู้ครบถ้วนในแต่ละหลักสูตรก็ควรที่จะต้องมีการสอบใหญ่ก่อนที่จะจบหลักสูตรทุกครั้ง เพื่อประเมินผลที่ได้จากการให้ความรู้ของระบบว่ามีประสิทธิภาพเพียงใด ระบบบริหารการเรียน จะเรียกข้อสอบที่จะใช้มาจากระบบบริหารคลังข้อสอบ (Test Bank System) ซึ่งมีเป็นส่วนย่อยรวมในระบบบริหารการเรียน LMS การวัดผลการเรียนเป็นการสร้างมาตรฐานที่จะนำผลการสอบไปใช้งานได้ ดังนั้น E-learning ที่ดีควรมีการสอบว่าผู้เข้าอบรมเมื่อได้เรียนรู้ผ่านระบบแล้วมีความรู้ความเข้าตรงตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้และตามเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่
-------------------------------------------------
E-Learning การเรียนรู้โดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Learning) รวมข้อมูล
E-Learning รวมแหล่งเรียนรู้ออนไลน์
---------------------------------------------