it องค์ประกอบเทคโนโลยีสารสนเทศ บุคคลากรในงานคอมพิวเตอร์ (People ware)
บุคคลากรในงานคอมพิวเตอร์ (People ware) คือ บุคลากรที่มีความรู้ในงานด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ สามารถใช้งาน สั่งงานเพื่อให้คอมพิวเตอร์ทำงานตามที่ต้องการ บุคลากรในกลุ่มนี้เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ เป็นองค์ประกอบของระบบคอมพิวเตอร์อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญมาก หากบุคลากรไม่มีความรู้ความเข้าใจในการใช้งานเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ อาจจะทำให้การใช้งานไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่ได้ผลลัพธ์ตามเป้าหมายได้ กลุ่มบุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ ผู้ใช้งานทั่วไป ผู้เชี่ยวชาญ และผู้บริหาร
1. กลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป (User) เป็นผู้ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานระดับต่ำสุด ซึ่งจะเป็นผู้ปฏิบัติหรือกำหนดความต้องการในการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ว่าทำงานอะไรได้บ้าง ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ทั่วไป จะต้องเรียนรู้วิธีการใช้เครื่อง และวิธีการใช้งานโปรแกรม เพื่อให้โปรแกรมที่มีอยู่สามารถทำงานได้ตามที่ต้องการ ไม่จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญมากนักก็สามารถใช้งานได้ โดยศึกษาจากคู่มือการปฏิบัติงานหรือคู่มือใช้งานโปรแกรมที่นำมาใช้ หรืออาจต้องเข้ารับการอบรมบ้างเพื่อให้สามารถใช้งานได้ บุคลากรกลุ่มนี้มีจำนวนมากที่สุดในหน่วยงาน และลักษณะงานมักเกี่ยวข้องกับการใช้งานคอมพิวเตอร์ทั่วไป เช่น งานธุรการสำนักงาน งานป้อนข้อมูล งานบริการลูกค้าสัมพันธ์ (Call center)
การวางระบบงานคอมพิวเตอร์ขององค์กร ผู้ใช้งานถือได้ว่ามีบทบาทที่สำคัญมาก เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการใช้งานโดยตรง ซึ่งผู้ทำหน้าที่ออกแบบและวางระบบ นักวิเคราะห์ระบบจำเป็นต้องมีการสอบถามความต้องการ (requirement) ในการใช้งานเบื้องต้นของกลุ่มผู้ใช้งานเหล่านี้ด้วย โดยอาจใช้วิธีการสัมภาษณ์ลักษณะงานที่ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงออกแบบสำรวจความต้องการของระบบที่อยากได้ ซึ่งในบางครั้งอาจใช้วิธีการปรับปรุงระบบงานเดิมโดยสอบถามถึงปัญหาของระบบงานเก่าที่ใช้อยู่ว่ามีปัญหาอย่างไรบ้าง และต้องการจะให้ระบบใหม่ที่จะใช้นี้มีหน้าตาออกมาอย่างไร การสอบถามข้อมูลดังกล่าวจะทำให้ได้โปรแกรมหรือระบบงานที่ตรงตามวัตถุประสงค์มากที่สุด นอกจากนี้เมื่อได้ระบบดังกล่าวแล้ว อาจต้องนำมาทดสอบกับผู้ใช้เหล่านี้อีกครั้ง เพื่อขอรับฟังข้อแนะนำรวมถึงการทดสอบปัญหาเบื้องต้น ซึ่งพอจะสรุปความสัมพันธ์ระหว่างนักวิเคราะห์ระบบกับผู้ใช้งานได้ดังรูป
2. กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ เป็นผู้ใช้งานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นบุคลากรที่มีความชำนาญทางด้านเทคนิคดังนี้
2.1 ช่างเทคนิคคอมพิวเตอร์ (Computer Operator / Computer Technician) โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นบุคลากรที่มีความชำนาญทางด้านเทคนิคโดยเฉพาะ หน้าที่หลัก คือ การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบในหน่วยงานให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ บางครั้งก็เรียกว่า “ ช่างเทคนิคคอมพิวเตอร์ (computer technician)” กลุ่มคนประเภทนี้จะต้องมีทักษะและประสบการณ์ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เป็น อย่างดี เพราะการปฏิบัติงานกับผู้ใช้อาจเกิดปัญหาในการใช้งานได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะกับผู้ใช้งานมือใหม่และไม่มีความชำนาญเพียงพอ ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านฮาร์ดแวร์ เช่น ตัวเครื่องคอมพิวเตอร์เกิดขัดข้องในระหว่างการทำงานจนไม่สามารถทำงานต่อไปได้ หรือปัญหาของระบบซอฟต์แวร์ที่นำมาใช้ในองค์กรไม่สามารถทำงานตามที่ต้องการได้ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มักเกิดขึ้นอยู่เสมอ หน่วยงานบางแห่งอาจตั้งศูนย์ช่วยเหลือการใช้งานหรือที่เรียกว่า help desk ขึ้นเพื่อคอยช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของระบบให้ทันท่วงทีและสามารถทำงานได้ตามปกติ
2.2 นักวิเคราะห์และออกแบบระบบ (Systems Analyst and Designer: SA) ทำหน้าที่ศึกษาและรวบรวมความต้องการของผู้ใช้ระบบ และทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างผู้ใช้ระบบและนักเขียนโปรแกรม (Programmer) หรือปรับปรุงคุณภาพงานเดิม นักวิเคราะห์ระบบต้องมีความรู้เกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ พื้นฐานการเขียนโปรแกรม และควรจะเป็นผู้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี มีหน้าที่วิเคราะห์ความต้องการของผู้ใช้รวมไปถึงผู้บริหารของหน่วยงานนั้น ๆ ด้วยว่าต้องการระบบโปรแกรมหรือลักษณะงานแบบไหนอย่างไร เพื่อจะพัฒนาระบบงานให้ตรงตามความต้องการมากที่สุด หน้าที่ดังกล่าวอาจรวมถึงการออกแบบกระบวนการทำงานของระบบโปรแกรมต่าง ๆ ทั้งหมดด้วย ซึ่งมักจะใกล้ชิดกับผู้ใช้งานมากที่สุดเนื่องจากต้องคอยสอบถามความต้องการเพื่อวิเคราะห์งานอยู่เสมอ
2.3 โปรแกรมเมอร์ (Programmer) หรือนักเขียนโปรแกรม คือ บุคคลที่ทำหน้าที่เขียนซอฟต์แวร์ต่างๆ หรือเขียนโปรแกรมเพื่อสั่งงานให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานตามความต้องการของผู้ใช้ โดยเขียนตามแผนผังที่นักวิเคราะห์ระบบได้เขียนไว้ เมื่อนักวิเคราะห์ระบบทำการวิเคราะห์ระบบงานเสร็จสิ้น ก็จะส่งต่อมายังผู้ที่ชำนาญในเรื่องของการเขียนโปรแกรมโดยเฉพาะ เพื่อสร้างระบบงานนั้นให้ออกมาใช้งานได้จริง ๆ
2.4 วิศวกรซอฟต์แวร์ (Software Engineer) เป็นผู้กำกับดูแลการผลิตซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมที่ใช้งาน คอยควบคุมการออกแบบหรือการเขียนโปรแกรมนั้นมีปัญหาด้านใดบ้างจะแก้ปัญหาอย่างไร เมื่อสร้างเสร็จแล้วต้องมีการตรวจสอบหรือวัดคุณภาพของโปรแกรมที่เขียน ด้วยว่าเป็นไปตามหลักมาตรฐานการออกแบบมากน้อยเพียงใดตรงตามความต้องการของลูกค้าหรือไม่
2.5 ผู้ดูแลเน็ตเวิร์ก (Network Administrator) หรือผู้ที่มีหน้าที่ดูแลและบริหารระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขององค์กร มักเกี่ยวข้องกับลักษณะงานหนัก ๆ ทางด้านเครือข่ายโดยเฉพาะ เช่น การติดตั้งระบบเครือข่าย การควบคุมสิทธิ์ของผู้ที่จะใช้งาน การป้องกันการบุกรุกเครือข่าย เป็นต้น
2.6 ผู้ปฏิบัติการ (Operator) สำหรับระบบขนาดใหญ่ เช่น เมนเฟรม จะต้องมีเจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์ที่คอยปิดและเปิดเครื่องและเฝ้าดูจอภาพเมื่อมีปัญหาซึ่งอาจเกิดขัดข้องจะต้องแจ้ง System Programmer ซึ่งเป็นผู้ดูแลตรวจสอบแก้ไขโปรแกรมระบบควบคุมเครื่อง (System Software) อีกทีหนึ่ง
2.7 ผู้บริหารฐานข้อมูล (Database Administrator: DBA) กลุ่มบุคคลที่ทำหน้าที่ดูแลข้อมูลผ่านระบบจัดการฐานข้อมูล ซึ่งจะควบคุมให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น นอกจากนี้ยังทำหน้าที่กำหนดสิทธิการใช้งานข้อมูล กำหนดในเรื่องความปลอดภัยของการใช้งาน พร้อมทั้งดูแลดาต้าเบสเซิร์ฟเวอร์ (Database Server) ให้ทำงานอย่างปกติด้วย
2.8 ผู้จัดการระบบ (System Manager) คือ ผู้วางนโยบายการใช้คอมพิวเตอร์ให้เป็นไปตามเป้าหมายของหน่วยงาน เป็นผู้ที่มีความหมายต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวของการนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้งานเป็นอย่างมาก
3. กลุ่มผู้บริหาร สมาชิกในองค์การที่มีหน้าที่ ในการจัดสรรทรัพยากร และประสานภารกิจของบุคคลอื่นในองค์กรให้ไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้เป็น ผู้แก้ปัญหาอุปสรรค ขจัดความยุ่งยากซับซ้อน ด้วยการปฏิบัติตามหลักการบริหารงานที่ดี
3.1 หัวหน้างานด้านคอมพิวเตอร์ (Computer Center Manager / Information Technology Manager) เป็นผู้จัดการหรือหัวหน้างานทางด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีขององค์กร มีหน้าที่ดูแลและกำกับงานทางด้านคอมพิวเตอร์ ให้บรรลุเป้าหมายตามแผนงานและทิศทางที่ได้วางไว้โดย CIO
3.2 ผู้บริหารสูงสุดด้านสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ (CIO-Chief Information Office) สำหรับในหน่วยงานขนาดใหญ่ที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เพื่อขับเคลื่อนงานธุรกิจในองค์กร อาจมีบุคลากรตำแหน่งที่มักเรียกว่า CIO (Chief Information Office) ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดทางด้านการบริหารงานคอมพิวเตอร์ในองค์กรอีกได้ CIO จะทำหน้าที่กำหนดทิศทาง นโยบายและแผนงานทางคอมพิวเตอร์ในองค์กรทั้งหมดว่าควรเป็นไปในรูปแบบใด
.
ที่มา https://www.ocsc.go.th/digital_learning_sources
รวบรวมข้อมูลและรูปภาพ www.iok2u.com
--------------------------------------------------------------
Digital Literacy ทักษะด้านดิจิทัลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ
--------------------------------------------------------------