iok2u.com แหล่งรวมข้อมูลข่าวสารเรื่องราวน่าสนใจเพื่อการศึกษาแลกเปลี่ยนและเรียนรู้

มิสเตอร์เรน (Mr. Rain) และมิสเตอร์เชน (Mr. Chain)
Mr. Rain และ Mr. Chain สองพี่น้องในโลกออฟไลน์และออนไลน์ที่จะมาร่วมมือกันสร้างสื่อสารสนเทศ เพื่อเผยแพร่ให้ความรู้ในเรื่องราวต่างๆ มากมายสร้างสังคมในการเรียนรู้ หากใครคิดว่ามันมีประโยชน์ก็สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้เลยโดยไม่ต้องตอบแทนกลับมา
ยืนหยัด เข้มแข็ง และกล้าหาญ (Stay Strong & Be Brave)
ขอเป็นกำลังใจให้คนดีทุกคนในการต่อสู้ความอยุติธรรม ในยุคสังคมที่คดโกงยึดถึงประโยชน์ส่วนตนและพวกฟ้องมากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวม จนหลายคนคิดว่าพวกด้านได้อายอดมักได้ดี แต่หากยึดคำในหลวงสอนไว้ในเรื่องการทำความดีเราจะมีความสุขครับ
Pay It Forward เป้าหมายเล็ก ๆ ในการส่งมอบความดีต่อ ๆ ไป
เว็ปไซต์นี้เกิดจากแรงบันดาลใจในภาพยนต์เรื่อง Pay It Forward ที่เล่าถึงการมีเป้าหมายเล็ก ๆ กำหนดไว้ให้ส่งมอบความดีต่อไปอีก 3 คน หากใครคิดว่ามันมีประโยชน์ก็สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้เลยโดยไม่ต้องตอบแทนกลับมา อยากให้ส่งต่อเพื่อถ่ายทอดต่อไป

แนวคิดและทฤษฎี Frederick W. Taylor ทฤษฏีการจัดการตามหลักวิทยาศาสตร์ (Principle of Scientific Management)

Frederick W. Taylor ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งการจัดการตามหลักวิทยาศาสตร์ (Principle of Scientific Management) ชี้ให้เห็นถึงข้อดีของวิธีการจัดการแบบวิทยาศาสตร์ มีความสำคัญและดีกว่าการจัดการแบบความเคยชินหรือ Rule of Thumb ซึ่งเป็นการบริหารที่ไม่มีรูปแบบ อาศัยวิธีการบริหารแบบเดิมๆ ทำตามกันมาที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ

Taylor เสนอให้องค์กรมีการจัดตั้งระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยอาศัยวิธีการศึกษาที่ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย ทำให้การสร้างหลักในการบริหารจะต้องมีการทำอย่างเป็นระบบ โดยอาศัยเทคนิคหรือวิธีการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ กฎระเบียบ วิธีการในทำงาน มีมาตรฐานในการทำงานที่องค์กรจะนำมาใช้ ต้องผ่านการศึกษาวิเคราะห์เชิงประจักษ์เสียก่อน โดยมีการสังเกต จับเวลา จดบันทึกวิเคราะห์วิจัยมาแล้วอย่างดีว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุดแล้ว สามารถนำมาใช้ในการทำงานนั้นได้อย่างดี Taylor กำหนดหลักการจัดการแบบวิทยาศาสตร์ 4 ข้อคือ

1. พัฒนาหลักการแบบวิทยาศาสตร์ขึ้นมาใช้เป็นมาตรฐานในการทำงาน แทนการทำงานแบบความเคยชินที่ไม่มีระบบงาน การวางมาตรฐาน (Standardization) ในการทำงานเป็นสิ่งที่สำคัญ และมีความจำเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากการทำงานทุกอย่างต้องเข้าสู่ระบบมาตรฐานตั้งแต่ วิธีการทำงาน ปริมาณงานที่ทำ เวลาการทำงาน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันหมด เน้นเรื่องวิธีการทำงานที่ดีที่สุด (One Best Way)

2. ต้องมีการคัดเลือกคนตามหลักการวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ได้คนที่เหมาะสมกับงาน ผลประโยชน์ที่ดีที่สุดที่ฝ่ายบริหารและฝ่ายคนงานจะได้รับ จะขึ้นอยู่กับการทำงานของแต่ละคน เพราะฉะนั้นทุกคนต้องทำงานให้มีผลผลิตสูงสุดเท่าที่จะทำได้ หลักการคัดเลือกบุคคลเข้ามาทำงานตามหลักวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องพิจารณาทั้งด้านความรู้ความสามารถและความกระตือรือร้น ในการทำงานเป็นสำคัญดังนั้นการคัดเลือกบุคคลเข้ามาทำงานต้องไม่มองเฉพาะจุดของการคัดเลือกเท่านั้น ต้องมองไปถึงอนาคตด้วย ต้องอาศัยข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เช่น ทักษะ ความรู้ความสามารถความชำนาญงานที่บุคคลแสดงออกมาในขณะทำการทดสอบงาน หรือบุคลิกลักษณะไหวพริบ ความเฉลียวฉลาด ความกระตือรือร้นในการทำงานที่สามารถสังเกตได้จากการสัมภาษณ์

3. ต้องพัฒนาบุคคลแต่ละคนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด (Develop person) เพื่อให้ทุกคนทำงานได้อย่างถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ต้องทำควบคู่ไปกับการทำงานในข้อ 2 เมื่อรับบุคคลเข้าทำงานแล้วต้องมีการฝึกอบรม สอนงานให้แต่ละคนทำงานอย่างถูกต้องตามขั้นตอนและวิธีการในการที่องค์การกำหนดไว้ด้วย เพื่อเป็นการเตรียมตัวให้ผู้ที่ทำงานสามารถทำงานที่องค์การกำหนดไว้ได้อย่างดี และมีโอกาสก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ในอนาคตด้วย แนวความคิดของ Taylor เกิดจากความเชื่อที่ว่า หัวหน้างานแต่ละคนเป็นผู้นำที่มีความชำนาญทางการปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้นหัวหน้างานคนหนึ่งจึงไม่สามารถกำกับควบคุมการทำงานทุกอย่าง จึงได้เสนอให้จำกัดอำนาจหน้าที่ของหัวหน้างานแต่ละคน ให้ทำงานที่เขามีความชำนาญเพียงอย่างเดียว

4. สร้างความร่วมมือในการทำงานอย่างฉันท์มิตรให้เกิดขึ้นในองค์การ (Friendly Cooperation) โดยต่างฝ่ายต่างต้องเห็นใจซึ่งกันและกันคือ ฝ่ายบริหารต้องมีความเห็นใจคนงาน โดยมอบหมายงานให้แก่คนงานในปริมาณและมาตรฐานของงานที่จะให้คนงานทำในแต่ละวัน ควรมีปริมาณที่เหมาะสมไม่หนักเกินไป ฝ่ายบริหารต้องให้รางวัลพิเศษแก่คนงานที่ทำงานดีเด่นและสอดคล้องกับหลักวิทยาศาสตร์ด้วย ฝ่ายจัดการต้องคอยเอาใจใส่สอนคนงานให้ทำงานในแต่ละขั้นตอนของงานอย่างถูกวิธี โดยจัดให้มีหัวหน้างานคอยสอนงานดูแล แนะนำคนงานให้ทำงานอย่างถูกต้อง และฝ่ายจัดการต้องเปิดโอกาสให้คนงานได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับวิธีการทำงานที่ทำ และนำไปพิจารณาปรับปรุงต่อไปโดยใช้การวิเคราะห์ทดลองตามหลักวิทยาศาสตร์

ข้อดี ของหลักการจัดการแบบวิทยาศาสตร์

1.ทำให้นายจ้างและลูกจ้างมีความสามัคคีกลมเกลียวกันดีขึ้น เนื่องจากทั้งสองฝ่ายต่างรู้ถึงภาระหน้าที่ของตนเป็นอย่างดีว่า แต่ละฝ่ายมีหน้าที่ต้องทำอะไร นั่นคือ ฝ่ายบริหารมีหน้าที่กำหนดหลักและวิธีการทำงานของแต่ละอย่างขึ้นมาเพื่อให้คนงานปฏิบัติตาม ส่วนฝ่ายคนงานมีหน้าที่ต้องทำงานตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดไว้ให้ได้อย่างถูกต้องและต้องทำงานให้ได้ปริมาณและมีคุณภาพตามที่องค์การกำหนดไว้

2.คนงานทราบว่าถ้าทำงานได้ตามปริมาณและมีคุณภาพตามที่องค์การกำหนดไว้แล้วจะได้รับค่าตอบแทนเท่าใด ถ้าทำได้มากกว่าหรือน้อยกว่ามาตรฐานจำได้ค่าตอบแทนเท่าใด จึงทำให้ฝ่ายคนงานและฝ่ายจัดการทราบถึงผลประโยชน์ที่แต่ละฝ่ายจะได้รับเป็นอย่างดี ความเข้าใจกันจึงเกิดขึ้น

3. ทำให้องค์การได้รับผลผลิตสูง ขณะที่ฝ่ายลูกจ้างได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้นตามผลผลิตที่ทำได้ โดยทั้งสองฝ่ายต่างพยายามพัฒนาผลิตภาพการผลิตให้กับองค์การอย่างเต็มที่ ทำให้องค์การประสบความสำเร็จในการดำเนินกิจการมากขึ้น

ข้อเสีย ของหลักการจัดการแบบวิทยาศาสตร์

1.หลักการจัดการแบบวิทยาศาสตร์มีแนวมุ่งว่าผลสำเร็จของการดำเนินงานองค์การอยู่ที่ผลผลิตและผลตอบแทนของลูกจ้าง โดยใช้เงินเป็นสิ่งจูงใจ ส่งผลให้คนพยายามทำงาน เพื่อให้ได้ค่าจ้างสูงสุดแต่ไม่ได้คำนึงถึงความต้องการทางด้านจิตใจ ความต้องการทางด้านสังคมของบุคคลที่ทำงานอยู่ในองค์การเลย ทุกคนต้องทำงานตามหลักเกณฑ์ขั้นตอนและวิธีการที่องค์การกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

2. หลักวิทยาศาสตร์การจัดการทำให้เกิดการแข่งขัน ชิงดีชิงเด่นกันทำงานเพราะต้องการได้ค่าจ้างสูงกว่าคนอื่นๆ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนที่ทำงานด้วยกันถูกทำลายลงเพราะคนงานต่างมุ่งทำงานในหน้าที่ของตนโดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น เพราะฉะนั้นจึงทำให้ความรักใคร่ สามัคคี สนิทสนมกลมเกลียว และการทำงานร่วมกันเป็นทีมไม่เกิดขึ้น

3. หลักการจัดการแบบวิทยาศาสตร์ไม่มีการกำหนดถึงมาตรฐานทางด้านแรงงานไว้ เช่น สวัสดิการ สิทธิประโยชน์ต่างๆ ทำให้ไม่มีวิธีการบริหารงานบุคคลที่เป็นระบบจึงต้องให้หัวหน้างานเป็นผู้ควบคุมการทำงานทุกขั้นตอนอย่างเคร่งครัดและใช้วิธีการให้รางวัลกับคนงานที่เชื่อฟังและทำได้ดีตามหลักการและลงโทษคนงานที่ไม่เชื่อฟังหรือทำงานไม่ดี

4. หลักการบริหารแบบวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจกับเทคนิควิธีการทำงานมากเกินไป มีการแบ่งงานกันทำเฉพาะด้านมากเกินไป เหมาะสมที่จะนำไปใช้เฉพาะการทำงานที่ต้องทำซ้ำๆกันเป็นส่วนใหญ่ เพราะระบบการทำงานแบบสายพานการผลิตได้มีการแบ่งงานออกเป็นขั้นตอนตามกระบวนการของงาน และมีการวางโปรแกรมให้คนงานทำงานด้วยการใช้แนวทางตามกลไกของเครื่องจักรกล เป็นระบบการผลิตแบบที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labor Intensive Industrial) คนงานมีความรู้ต่ำ จึงต้องสอนและติดตามควบคุมอยู่ตลอดเวลาโดยหัวหน้างานที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน

การจัดการอย่างมีหลักการของ Taylor จะเห็นว่าสามารถนำไปใช้ได้กับขั้นตอนการปฏิบัติงานทุกประเภท อย่างไรก็ตามความคิดของ Taylor ก็ยังได้รับการต่อต้านจากหลายฝ่ายเช่น นักบริหารระดับผู้จัดการ หัวหน้างานที่ไม่มีความรู้ หลายคนมองว่าการบริหารจัดการแบบวิทยาศาสต์แบบนี้ถูกวิจารณ์ว่าไม่ได้คำนึงถึงองค์ประกอบที่เป็นมนุษย์ให้ขาดความไว้วางใจ เกิดต่อต้านเพราะรู้สึกว่า Taylor มองคนเหมือนหุ่นยนต์

อ้างอิงที่มา 

แนวคิดและทฤษฎี http://ioklogistics.blogspot.com/2018/03/blog-post_11.html

กรอบแนวคิดในการบริหารจัดการ http://ioklogistics.blogspot.com/2018/03/11.html

ที่มาภาพและรวบรวมโดย www.iok2u.com

-------------------------------------------------

สนใจเรื่องราว การจัดการธุรกิจ (Business Management) เพิ่มเติมคลิกที่นี่

BA รวมเรื่องราวการจัดการธุรกิจ (Business Management)

-------------------------------------------------

 

ขอต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์
www.iok2u.com
แหล่งข้อมูลสารสนเทศเพื่อคุณ

เว็บไซต์ www.iok2u.com นี้เกิดมาจาก แรงบันดาลใจในภาพยนต์เรื่อง Pay It Forward โดยมีเป้าหมายเล็ก ๆ ที่กำหนดไว้ว่า ทุกครั้งที่เข้าเรียนสัมมนาหรืออบรมในแต่ละครั้ง จะนำความรู้มาจัดทำเป็นบทความอย่างน้อย 3 เรื่อง เพื่อมาลงในเว็บนี้
ความตั้งใจที่จะถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับมาทำการถ่ายทอดต่อไป และหวังว่าจะมีคนมาอ่านแล้วเห็นว่ามีประโยชน์นำเอาไปใช้ได้ หากใครคิดว่ามันมีประโยชน์ก็สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้เลย โดยอาจไม่ต้องอ้างอิงที่มาหรือมาตอบแทนผู้จัด แต่ขอให้ส่งต่อหากคิดว่ามันดีหรือมีประโยชน์ เพื่อถ่ายทอดความรู้และสิ่งดี ๆ ต่อไปข้างหน้าต่อไป Pay It Forward