การประเมินศักยภาพด้านโลจิสติกส์ในอุตสาหกรรมเซรามิก (Assessment of logistics potential in the ceramic industry)
เอกสารการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก 2550
สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
การประเมินศักยภาพด้านโลจิสติกส์
เมื่อดำเนินโครงการพัฒนาประสิทธิภาพโลจิสติกส์เชิงลึกในแต่ละโรงงานไปได้ระยะหนึ่งแล้ว ที่ปรึกษาได้รับข้อมูลเชิงลึกของการดำเนินกิจกรรมโลจิสติกส์ในแต่ละโรงงาน และสามารถนำมาประเมินศักยภาพโลจิสติกส์ด้านต่างๆ ของโรงงานได้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ทราบศักยภาพด้านต่างๆ ของการบริหารจัดการโลจิสติกส์ในองค์กร และนำไปใช้ประกอบการพิจารณาจัดทำโครงการเพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับประเด็นที่เป็นจุดอ่อนขององค์กร ซึ่งเป็นหัวข้อที่ได้คะแนนค่อนข้างต่ำจากการประเมินศักยภาพ
การประเมินศักยภาพที่ดีต้องพิจารณาจากการทำงานของฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการโลจิสติกส์ทั้งหมด ซึ่งในช่วงท้ายของการดำเนินงานที่ปรึกษาได้ประเมินร่วมกับเจ้าหน้าที่ของโรงงานที่เป็นตัวแทนมาจากฝ่ายต่างๆ ทำให้ผลการประเมินศักยภาพด้านโลจิสติกส์นี้มีความน่าเชื่อถือกว่าการสัมภาษณ์ในช่วงต้นของโครงการหรือการขอประเมินจากผู้แทนบางฝ่ายเท่านั้น ทั้งนี้ที่ปรึกษาได้ประเมินศักยภาพด้านโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการเซรามิกที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 20 บริษัท โดยการประเมินการจัดการโลจิสติกส์ 5 ด้านหลัก ได้แก่
1. การกำหนดกลยุทธ์สถานประกอบการ
2. การวางแผนและความสามารถในการปฏิบัติงาน
3. ประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้านโลจิสติกส์
4. ระบบบริหารข้อมูลสารสนเทศและเทคโนโลยีสารสนเทศ
5. ความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการ
ในการวัดศักยภาพแต่ละด้าน จะมีตัวชี้วัดแยกย่อยลงในรายละเอียด และในแต่ละตัวชี้วัดจะแบ่งระดับการให้คะแนนออกเป็น 5 ระดับ คือระดับที่ 1 ถึงระดับที่ 5 เรียงจากระดับศักยภาพต่ำที่สุดไประดับศักยภาพสูงที่สุดตามลำดับ
ผลการประเมินศักยภาพของผู้ประกอบการ ผลการประเมินศักยภาพด้านโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการผู้เข้าร่วมโครงการนำร่องฯ มาจากข้อมูลเชิงลึกที่ได้ระหว่างการเข้าปฏิบัติงานให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการแต่ละราย และนำมาประมวลผลดังต่อไปนี้ ผลการประเมินศักยภาพด้านโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการทั้ง 20 บริษัท ผลการประเมินศักยภาพด้านโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการทั้ง 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์จำนวน 20 ราย มีคะแนนเฉลี่ยของทุกกลุ่มอยู่ที่ 2.69 โดยมีคะแนนสูงสุดอยู่ที่ 4.30 ของผู้ประกอบการขนาดใหญ่ในกลุ่มสุขภัณฑ์ และมีคะแนนต่ำสุดอยู่ที่ 1.52 ของผู้ประกอบการขนาดเล็กในกลุ่มเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ของชำร่วยและเครื่องประดับ ผู้ประกอบการเซรามิกมีศักยภาพด้านโลจิสติกส์สูงที่สุด 3 อันดับแรก
1.) การมีขั้นตอนการทำงานและกระบวนการทำงานที่เป็นมาตรฐานและชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร
2.) มีการกำหนดรหัสมาตรฐานสำหรับสินค้าและกระบวนการทำงาน
3.) การมีระบบในการประเมินและพัฒนาความพึงพอใจของลูกค้า
ส่วนศักยภาพด้านโลจิสติกส์ที่ต่ำสุด 3 อันดับสุดท้ายได้แก่
1.) การเห็นถึงความสำคัญของการร่วมมือทางด้านโลจิสติกส์ระหว่างธุรกิจที่เป็นพันธมิตรกันและระหว่างธุรกิจประเภทเดียวกัน
2.) การเห็นถึงความสำคัญของการร่วมมือทางด้านโลจิสติกส์ระหว่างองค์กรและหน่วยงานวิจัยหรือพัฒนา
3.) การบริหารอัตราหมุนเวียนสินค้าคงคลังและช่วงระยะเวลารอบหมุนเวียนวัฎจักรเงินสด
ผลการประเมินศักยภาพด้านโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการกลุ่มสุขภัณฑ์ ผลการประเมินศักยภาพด้านโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการกลุ่มสุขภัณฑ์จำนวน 5 ราย มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 2.93 โดยมีคะแนนสูงสุดอยู่ที่ 4.30 ของผู้ประกอบการขนาดใหญ่ในจังหวัดสระบุรี และมีคะแนนต่ำสุดอยู่ที่ 1.74 ผู้ประกอบการขนาดกลางในจังหวัดสมุทรสาคร ผู้ประกอบการเซรามิกกลุ่มสุขภัณฑ์มีศักยภาพด้านโลจิสติกส์สูงที่สุด 3 อันดับแรกในด้าน
1.) การมีขั้นตอนการทำงานและกระบวนการทำงานที่เป็นมาตรฐานและชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร
2.) การเห็นถึงความสำคัญของกลยุทธ์ด้านโลจิสติกส์และมีการวางแผนกลยุทธ์ด้านโลจิสติกส์
3.) การมีระบบในการประเมินและพัฒนาความพึงพอใจของลูกค้า
ส่วนศักยภาพด้านโลจิสติกส์ที่ต่ำสุด 3 อันดับสุดท้ายได้แก่
1.) การเห็นถึงความสำคัญของการร่วมมือทางด้านโลจิสติกส์ระหว่างธุรกิจที่เป็นพันธมิตรกันและระหว่างธุรกิจประเภทเดียวกัน
2.) ความสามารถในการพยากรณ์ความต้องการของลูกค้าและแนวโน้มทางการตลาด
3.) การพัฒนากิจกรรมด้านโลจิสติกส์
ผลการประเมินศักยภาพด้านโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการกลุ่มกระเบื้อง ผลการประเมินศักยภาพด้านโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการกลุ่มกระเบื้องจำนวน 4 ราย มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 2.96 โดยมีคะแนนสูงสุดอยู่ที่ 3.26 ของผู้ประกอบการขนาดใหญ่ในจังหวัดสระบุรี และมีคะแนนต่ำสุดอยู่ที่ 2.52 ผู้ประกอบการขนาดกลางในจังหวัดสระบุรี ผู้ประกอบการเซรามิกกลุ่มกระเบื้องมีศักยภาพด้านโลจิสติกส์สูงที่สุด 3 อันดับแรก
1.) การมีขั้นตอนการทำงานและกระบวนการทำงานที่เป็นมาตรฐานและชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร
2.) มีการกำหนดรหัสมาตรฐานสำหรับสินค้าและกระบวนการทำงาน
3.) มีการพัฒนาบุคลากรด้านการบริหารจัดการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทางด้านซัพพลายเชนโลจิสติกส์
ส่วนศักยภาพด้านโลจิสติกส์ที่ต่ำสุด 3 อันดับสุดท้ายได้แก่
1.) การเห็นถึงความสำคัญของการร่วมมือทางด้านโลจิสติกส์ระหว่างธุรกิจที่เป็นพันธมิตรกันและระหว่างธุรกิจประเภทเดียวกัน
2.) การเห็นถึงความสำคัญของการร่วมมือทางด้านโลจิสติกส์ระหว่างองค์กรและหน่วยงานวิจัยหรือพัฒนา
3.) การบริหารอัตราหมุนเวียนสินค้าคงคลังและช่วงระยะเวลารอบหมุนเวียนวัฎจักรเงินสด
4. ผลการประเมินศักยภาพด้านโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการกลุ่มเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ของชำร่วย และเครื่องประดับ
ผลการประเมินศักยภาพด้านโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการกลุ่มเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ของชำร่วยและเครื่องประดับ จำนวน 11 ราย มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 2.49 โดยมีคะแนนสูงสุดอยู่ที่ 3.70 ของผู้ประกอบการขนาดใหญ่ในจังหวัดสระบุรี และมีคะแนนต่ำสุดอยู่ที่ 1.52 ผู้ประกอบการขนาดเล็กในจังหวัดลำปางผู้ประกอบการเซรามิกกลุ่มเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ของชำร่วยและเครื่องประดับ มีศักยภาพด้านโลจิสติกส์สูงที่สุด 3 อันดับแรก ในด้าน
1.) การกำหนดรหัสมาตรฐานสำหรับสินค้าและกระบวนการทำงาน
2.) มีระบบในการติดตามสถานะของสินค้า วัสดุคงคลังและกิจกรรมด้านโลจิสติกส์
3.) มีระบบในการประเมินและพัฒนาความพึงพอใจลูกค้า
ส่วนศักยภาพด้านโลจิสติกส์ที่ต่ำสุด 3 อันดับสุดท้ายได้แก่
1.) การเห็นถึงความสำคัญของการร่วมมือทางด้านโลจิสติกส์ระหว่างธุรกิจที่เป็นพันธมิตรกันและระหว่างธุรกิจประเภทเดียวกัน
2.) การเห็นถึงความสำคัญของการร่วมมือทางด้านโลจิสติกส์ระหว่างองค์กรและหน่วยงานวิจัยหรือพัฒนา
3.) การเห็นถึงความสำคัญของกลยุทธ์ด้านโลจิสติกส์และมีการวางแผนกลยุทธ์ด้านโลจิสติกส์
-----------------------------------------------