ทำอย่างไรกับสินค้าเกรดบี แนวคิดเพื่อการพัฒนาประสิทธิภาพโลจิสติกส์ในอุตสาหกรรมเซรามิก
เอกสารการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก 2550
สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ทำอย่างไรกับสินค้าเกรดบี
อาจพูดจนติดปากว่าเป็นสินค้าเกรดบี แต่ในที่นี้ให้หมายรวมถึงผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นที่ผลิตออกมาแล้วไม่ได้ตามมาตรฐานเกรด เอ หรือมาตรฐานที่ต้องการตั้งแต่แรก ข้อผิดพลาดต่าง ๆ อันเนื่องมาจากการผลิตและการปฏิบัติงานอื่น ๆ ได้แก่ รูปทรงผิดส่วน ผิดขนาด สีเพี้ยน ลวดลายไม่ตรงแบบ สีเคลือบไม่สม่ำเสมอ มีรอยบิ่น เป็นต้น บางโรงงานอาจให้ชื่อแตกต่างกัน ตามรายละเอียดของข้อผิดพลาด และสภาพของผลิตภัณฑ์ตามที่เห็น เช่น เกรดเอผิดโทนสี เกรดบี เกรดซี ฯลฯ รวมแล้วก็คือไม่ตรงกับมาตรฐานเกรดเอที่ลูกค้าต้องการนั่นเอง
พนักงานในโรงงานเซรามิกรู้ดีว่าต้องทำงานด้วยความระมัดระวังทุกขั้นตอน เพราะถ้ามีข้อผิดพลาดเพียงเล็กน้อยก็จะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ไม่ตรงกับมาตรฐานที่ตลาดหรือลูกค้าต้องการและ ชิ้นงานที่ผลิตออกมาแล้วนั้น จะทำการแก้ไขได้ยาก หรือไม่ได้เลย ในความเป็นจริงของการผลิตเซรามิกก็คือ ทุกครั้งที่ต้องการผลิตสินค้าเกรดเอ จะต้องมีสินค้าเกรดบีออกมาเสมอ ตามความสามารถของการผลิต ถ้ามี Yield อยู่ที่ 70 เปอร์เซ็นต์ ก็หมายถึงตั้งใจผลิตสินค้า 100 ชิ้น ได้สินค้าเกรดเอ 70 ชิ้นและเป็นสินค้าเกรดบี 30 ชิ้น ฝ่ายขายมักจะขายสินค้าเกรดเอ 70 ชิ้นนี้ไปให้ลูกค้าได้ก่อน เพราะมีคำสั่งซื้ออยู่แล้ว หรือเป็นที่ต้องการของตลาด จึงไม่เป็นปัญหาด้านการขายนัก แต่สินค้าเกรดบี 30 ชิ้นนี้คือประเด็นสำคัญที่มักรบกวนจิตใจสำหรับโรงงานเซรามิกทั่วไป แต่ขณะเดียวกัน ก็มักไม่ได้รับการสนใจจากทุกฝ่าย ไม่เคยถูกจัดลำดับความสำคัญในเรื่องที่ควรต้องจัดการเร่งด่วน จนกระทั่งวันหนึ่งพบว่า พื้นที่ทุกแห่งในโรงงานมีสินค้าเกรดบีที่สะสมไว้วางอยู่เต็มไปหมดแล้ว โรงงานที่มีประสิทธิภาพการผลิตสูงก็สามารถผลิตได้เกรดเอออกมาในอัตราส่วนที่ดี เช่นสามารถผลิตเกรดเอได้มากถึงร้อยละ 90 ทำให้ภาระในการจัดการเกรดบีง่ายขึ้นเพราะมีน้อย ส่วนโรงงานที่มีประสิทธิภาพการผลิตต่ำลง โดยได้เกรดเอออกมาในอัตราส่วนที่ต่ำ บางโรงงานต่ำกว่าร้อยละ 50 จะมีภาระในการจัดการกับเกรดบีมาก
สินค้าเกรดบีมีผลกระทบต่อบริษัทหลายด้าน ส่วนที่เห็นชัดเจนคือผลกระทบกับปริมาณสินค้าคงคลังที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการสำรวจพบว่าหากไม่มีการจัดการที่ดี สินค้าคงคลังที่เก็บอยู่ในโรงงานจะเป็นสินค้าเกรดบีซึ่งมีอัตราการหมุนเวียนช้า มากกว่าสินค้าเกรดเอซึ่งมีอัตราการหมุนเวียนเร็วกว่า จึงเป็นภาระที่ต้องรีบจัดการให้ดี
การจัดการสินค้าเกรดบี ต้องจัดการทั้ง 2 ด้าน หมายถึงทั้งด้านขาเข้าคือการจัดการด้านการผลิตและปฏิบัติการ และด้านขาออก คือการจัดการด้านขายหรือการกำจัดออกไปจากระบบ ในด้านการผลิตและปฏิบัติการ คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและควบคุมอัตราการผลิตเกรดเอให้ได้ตามแผน หรือไม่ให้มีเกรดบีออกมาเกินกว่าที่กำหนดไว้ตั้งแต่แรก ซึ่งการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิตมีส่วนสำคัญมาก เช่น เครื่องมือการตรวจสอบคุณภาพในแต่ละขั้นตอน ใช้อุปกรณ์การผลิตที่ได้มาตรฐาน ทำให้ได้ผลผลิตที่คุ้มกับปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ไป (มี Yield สูง) สามารถลดความสูญเสียจากการผลิตลง บริษัทต้องพัฒนาบุคลากรในฝ่ายผลิตและปฏิบัติการให้มีความรู้ ความชำนาญในการปฏิบัติงานให้ถูกต้องและระมัดระวังทุกขั้นตอน มีการวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นหน้างานอย่างรวดเร็ว ก็จะช่วยให้มีความผิดพลาดน้อยลง
การผลิตที่ดีมีเกรดบีออกมาน้อยลง หรือมีส่วนสูญเสียน้อยที่สุด นอกจากจะช่วยให้บริษัทมีโอกาสทำผลประกอบการที่ดีแล้ว ยังช่วยให้การใช้ทรัพยากรดินและวัตถุดิบอื่น รวมถึงการใช้พลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เท่ากับช่วยประเทศชาติอีกทางหนึ่งด้วย
ในด้านการขาย แผนการตลาดและการขายของทุกบริษัท จะมีแผนสำหรับสินค้าเกรดเอชัดเจน เพราะนั่นคือเป้าหมายหลัก มีน้อยรายมากที่จะทำแผนการขายเกรดบีอย่างชัดเจน บางส่วนกลับไม่อยากรับผิดชอบอีกต่างหาก มองว่าเป็นผลงานของฝ่ายผลิตบ้าง ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดในส่วนที่เป็นเป้าหมายหลักบ้าง ถูกกดราคามากไม่อยากขายบ้าง ในที่สุดก็ยังคงกองอยู่ในคลังสินค้าไม่ขยับไปไหนเป็นเวลานาน บางแห่งเป็นเวลาหลายปี
การจัดการสินค้าเกรดบี หมายความว่าบริษัทต้องจัดทำแผนการขายเกรดบีให้ชัดเจน โดยแยกออกมาจากแผนการขายเกรดเอ เพราะต้องการแผน มาตรการ และวิธีการที่แตกต่างกัน ใช้กับตลาดที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ซึ่งมักเป็นคนละตลาดกับสินค้าเกรดเอที่บริษัทดำเนินการอยู่
การจัดการสินค้าเกรดบีให้ได้ผลควรจัดให้มีผู้รับผิดชอบโดยเฉพาะ กำหนดเป้าหมายการขายสินค้าเกรดบีให้สอดคล้องกับแผนการผลิต และแผนการจัดการสินค้าคงคลัง คือต้องทราบสถานะของปริมาณสินค้าเกรดบีที่มีอยู่ในปัจจุบัน และทราบแนวโน้มของสินค้าเกรดบีที่กำลังจะผลิตออกมาใหม่ในอนาคตด้วย พร้อมสำรวจตลาดที่จะมารับซื้อสินค้าส่วนนี้ จัดทำโครงการ วิธีการเฉพาะขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์หลักอยู่ที่การจัดการสินค้าเกรดบีส่วนนี้ให้หมดไปจากระบบภายในระยะเวลาที่แน่นอน และต้องจัดการทุกครั้งที่มีผลิตภัณฑ์ออกมา ถ้าปราศจากวัตถุประสงค์นี้แล้ว คงยากยิ่งที่จะจัดการให้ได้ผลทันการ
แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการสินค้าเกรดบีทำได้หลายวิธี ขึ้นกับวัตถุประสงค์และเงื่อนไขของแต่ละโรงงาน ขอยกตัวอย่างที่ทำกันอยู่ในอุตสาหกรรมเซรามิกดังนี้
- เปิด Outlet ณ สถานที่ที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย
- จัดทำการขายแบบพิเศษ ทำโปรโมชั่น ขายในราคาพิเศษ ลด แลก แจก แถม
- ร่วมมือกับภาครัฐเพื่อสนับสนุนในโครงการต่างๆ เช่น โครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสึนามิ หรือภัยน้ำท่วมเป็นต้น
- ทำการตลาดระดับล่างในการระบายสินค้า
- ให้พ่อค้ามาเหมาสินค้าเกรดบี หรือสินค้าที่เสียหายไปจากโรงงานตั้งแต่ที่สินค้าถูกผลิตออกมา ถึงแม้ได้ราคาที่ถูกหน่อยแต่เก็บไว้ก็ไม่ทำให้ได้ราคาที่ดีขึ้น กลับต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มอันเนื่องมาจากการดูแลรักษาอีกไม่รู้ว่าเมื่อไรจึงจะขายได้
- สุดท้ายเมื่อไม่มีวิธีการอื่นที่ดีหรือไม่ต้องการให้สินค้ามีตำหนิออกสู่ตลาด บางโรงงานก็เลือกวิธีทุบทำลายทิ้ง เพื่อกำจัดออกไปจากระบบ
-----------------------------------------------