ทำงานกับตัวเลขบ้าง แนวคิดเพื่อการพัฒนาประสิทธิภาพโลจิสติกส์ในอุตสาหกรรมเซรามิก
เอกสารการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก 2550
สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ทำงานกับตัวเลขบ้าง
การทำงานในโรงงานเพื่อผลิตชิ้นงานเซรามิก ปกติก็ต้องมีตัวเลขเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ตัวเลขพื้นฐานที่ต้องใช้ประจำวัน และต้องคำนวณให้ได้ในเบื้องต้นเพื่อการส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าตามที่ต้องการก่อน เช่น ลูกค้าสั่งล็อตนี้ 2,000 ชิ้น ส่งภายใน 1 เดือน สัปดาห์นี้ต้องสั่งดิน 2 เที่ยวๆ ละ 6 ตัน เป็นต้น ตัวเลขเหล่านี้นำมาใช้คำนวณเพื่อให้ได้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจต่างๆ และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น การไม่ทราบเลยว่าแต่ละขั้นตอนมีข้อมูลที่เป็นตัวเลขอย่างไร ทำให้การทำงานขาดประสิทธิภาพและไม่ช่วยให้เกิดการตัดสินใจแก้ปัญหาที่ดี เช่น รู้ว่ามีสินค้าคงคลังมากจนล้นแต่ไม่รู้ว่าเท่าไร มีการส่งสินค้าล่าช้าเป็นประจำแต่ไม่ทราบว่ากี่ออเดอร์ วัตถุดิบเหลือเท่าไร ต้องสั่งซื้อแล้วหรือยัง เหล่านี้เป็นคำถามที่ตอบได้ไม่ชัดเจนถ้าไม่มีตัวเลขรองรับ ทำให้เสี่ยงต่อความผิดพลาดได้ง่าย
มีการทำงานกับตัวเลขที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ การวิเคราะห์ประสิทธิภาพการทำงานด้านโลจิสติกส์ซึ่งมีตัวชี้วัดหลายประการ เช่น อัตราการส่งมอบสินค้า คิดเป็นร้อยละของใบสั่งซื้อที่สามารถส่งได้ตรงเวลาและครบถ้วนตามที่ตกลงกับลูกค้าตั้งแต่แรก เทียบกับจำนวนใบสั่งซื้อทั้งหมดตัวอย่างเช่น เดือนนี้มีใบสั่งซื้อต้องส่งมอบทั้งหมด 120 ใบสั่งซื้อ ส่งได้ตรงเวลาและครบถ้วนทั้งสิ้น 92 ใบสั่งซื้อ คำนวณได้เท่ากับ 92 / 120 x 100 เท่ากับประมาณ 77 % จำนวนใบสั่งซื้อที่ส่งมอบไม่ได้ 23 %
อาจมีหลายสาเหตุที่ทำให้ไม่สามารถส่งมอบได้ ซึ่งต้องวิเคราะห์หาสาเหตุหลักต่อไป การวิเคราะห์ประสิทธิภาพการทำงานต่างๆ เหล่านี้จะไม่สามารถทำได้เลย ถ้าไม่มีการเก็บข้อมูลที่เป็นตัวเลขในแต่ละกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ ผู้จัดการในแต่ละแผนกจึงควรจัดให้มีการเก็บตัวเลขที่สำคัญๆ ทุกขั้นตอนและรายงานผู้บริหารหรือผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ เวลาต้องการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อแสดงผลประกอบการจะสามารถทำได้ง่ายขึ้น
การวัดผลในแต่ละขั้นตอน และนำมาเปรียบเทียบกับแผน หรือมาตรฐานที่กำหนดไว้นั้น ต้องอาศัยการคำนวณตัวเลขต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้ทราบผลประกอบการได้อย่างรวดเร็ว และหาทางแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การวัดผลเป็นตัวเลขเช่นนี้ เป็นการนำผลที่ได้ไปเปรียบเทียบกับผลงานของตัวเองในอดีต และเปรียบเทียบกับโรงงานอื่นในวงการเดียวกัน เพื่อจะได้ทราบว่าเราเก่งในระดับไหน และยังสามารถวัดผลในอนาคตได้ว่าปรับปรุงแล้วดีขึ้นหรือไม่ รวมถึงสามารถวางแผนได้ว่าจะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร เช่น ถ้า 23 % ที่ส่งมอบไม่ได้ ทำให้ลูกค้ากลุ่มนั้นหายไปไม่สั่งซื้อจากเราอีก แต่กลับไปหาโรงงานอื่นที่เขาส่งมอบได้ดีกว่า ตัวอย่างการนำตัวเลขมาวิเคราะห์ผลประกอบการด้านโลจิสติกส์ ได้แก่ ระยะเวลาส่งมอบสินค้า อัตราการส่งมอบสินค้า อัตราการใช้รถบรรทุก ต้นทุนโลจิสติกส์ ความถูกต้องของข้อมูลสินค้าคงคลัง ความถูกต้องของการพยากรณ์ยอดขาย ประสิทธิภาพการผลิต ประสิทธิภาพการบรรจุ อัตราการสูญเสีย อัตราการใช้พื้นที่คลังสินค้า เป็นต้น
-----------------------------------------------