ธุรกิจปั้นดินให้เป็นดาว แนวคิดเพื่อการพัฒนาประสิทธิภาพโลจิสติกส์ในอุตสาหกรรมเซรามิก
เอกสารการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก 2550
สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ธุรกิจปั้นดินให้เป็นดาว
เซรามิกหรือเครื่องเคลือบดินเผา เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ดินเป็นวัตถุดิบหลักเพื่อผลิตสินค้าประเภทจานชาม กระเบื้อง สุขภัณฑ์ ลูกถ้วยไฟฟ้า บางชิ้นงานมีคุณค่าควรแก่การเก็บรักษาและเป็นเจ้าของอย่างภาคภูมิใจ เช่น เครื่องประดับตกแต่ง เป็นต้น
การแปรสภาพจากดินเป็นชิ้นงานเซรามิกที่สวยงาม ผู้ประกอบการเซรามิกบางท่านเปรียบเปรยว่าธุรกิจของเขาเหมือนการปั้นดินให้เป็นดาว ดินก็คือดินวัตถุดิบ ดาวก็คือผลิตภัณฑ์ที่สวยงาม เมื่อเปลี่ยนแปลงจากดินให้เป็นดาวย่อมยกสถานะของดินให้เด่นและมีคุณค่าขึ้น เด่นมากหรือน้อยก็ขึ้นกับความสามารถของแต่ละโรงงาน ก็คือความสามารถในการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้านั่นเอง
ไม่ว่าอุตสาหกรรมไหน ก็จะมีทิศทางด้านผลิตภัณฑ์แบบเดียวกัน คือการทำให้โดดเด่นมีเอกลักษณ์ สร้างแบรนด์ให้สามารถเพิ่มมูลค่าและทำราคาให้กับสินค้าได้ เพิ่มโอกาสในการหาตลาดใหม่ๆ ที่มีการแข่งขันน้อย ตัวอย่างจากอุตสาหกรรมพลาสติกก็เช่นเดียวกัน ที่ผู้ประกอบการพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์จากที่เคยทำกันมานาน จำพวกถุง ถัง กะละมัง หวี ให้เป็นชิ้นงานประเภทชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีมูลค่ามากกว่า อุตสาหกรรมเซรามิก ก็จะต้องมีการพัฒนาจากการผลิตชิ้นงานประเภทถ้วย จานชาม กระเบื้อง สุขภัณฑ์แบบธรรมดาๆ ให้เป็นชิ้นงานพิเศษที่มีความเป็นศิลปะ ให้อารมณ์ มีชีวิตชีวาในชิ้นงานเพื่อให้เกิดความแตกต่าง มีเอกลักษณ์ และให้คุณค่าแก่การครอบครอง
ในอุตสาหกรรมเซรามิก มีความแตกต่างของความสามารถในการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ เช่นผู้ประกอบการ ก ซื้อดินมาจำนวนหนึ่งราคา 100 บาท สามารถนำมาผลิตเป็นสินค้าแบบง่ายๆ ออกมาขายได้ในราคา 200 บาท ก็คือความสามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ได้อีกหนึ่งเท่าเมื่อเทียบกับต้นทุนวัตถุดิบ โดยจะให้รางวัลผู้ประกอบการ ก สำหรับความสามารถนี้เท่ากับหนึ่งดาว คราวนี้นำมาเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการ ข ซึ่งสามารถผลิตสินค้าจากวัตถุดิบชนิดเดียวกันที่ต้นทุน 100 บาท แต่สามารถผลิตสินค้าออกมาขายได้ราคา 500 บาท หรือเท่ากับ 5 เท่าเมื่อเทียบกับต้นทุนวัตถุดิบ ผู้ประกอบการ ข ก็ควรได้รางวัล 5 ดาว ถ้าบางคนทำแล้วขายได้ 5,000 บาท ก็ถือว่ามีศักยภาพในการปั้นดินให้เป็นดาวเจิดจรัสชั้นดีได้
ในความเป็นจริง ไม่ใช่ทุกรายที่จะสามารถไปถึงดวงดาวเจิดจรัสชั้นดีที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ได้ถึง 50 เท่าตามตัวอย่างข้างต้น มีผู้ประกอบการเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่สามารถทำให้ผลิตภัณฑ์ของตนกลายเป็นดาว และการจะก้าวไปถึงขั้นนั้นต้องใช้การปรับปรุงกระบวนการผลิตและการบริการทั้งหมดให้สอดคล้องกับระดับของตลาดและสินค้าที่สูงขึ้น มีการสร้างรูปแบบสินค้าให้โดดเด่น มีเอกลักษณ์ และพยายามสร้างแบรนด์เพื่อให้สามารถทำราคาได้ สร้างความเชื่อมั่นแก่ลูกค้า และสร้างความแตกต่างของสินค้าเมื่อเทียบกับคู่แข่ง รวมถึงการเสาะหาตลาดใหม่ๆ ในการขายสินค้า ผู้ประกอบการรายใดที่สามารถเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าได้มาก ก็มักมีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากกว่ารายอื่นๆ
ผู้ประกอบการเซรามิกควรให้ความสำคัญต่อการลงทุนทำวิจัยและพัฒนา (Research and Development; R&D) ตามสถานะของตน ทั้งนี้เพื่อสร้างสินค้าใหม่หรือพัฒนาสินค้าเดิม ให้มีความแตกต่าง เป็นสินค้าแบบพิเศษ มีเอกลักษณ์ถูกใจ มีคุณภาพดี การทำสินค้าอย่างนี้ได้ก็ต้องมีมาตรฐานที่ดีตั้งแต่การออกแบบ การผลิตที่ได้มาตรฐาน มีเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพสินค้า มีกระบวนการควบคุมคุณภาพตลอดทั้งซัพพลายเชน มีเทคนิคในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างการผลิตอย่างมืออาชีพ ได้แก่ ความสามารถในการสืบค้นหาสาเหตุของปัญหาด้วยเทคนิคที่เป็นมาตรฐาน และมีระบบการแก้ปัญหาอย่างถูกต้องทันการณ์ นอกจากการผลิตสินค้าแล้ว งานด้านบริการต้องมีระบบและกระบวนการจัดการด้านโลจิสติกส์ที่ดี มีตัวชี้วัดชัดเจนในขั้นตอนที่สำคัญทั้งหมด เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถส่งมอบสินค้าได้อย่างครบถ้วนและตรงเวลาที่ลูกค้าต้องการเสมอ งานบริการที่ไม่ดีมีข้อผิดพลาดอยู่เรื่อยๆ ก็อาจทำให้มีต้นทุนเพิ่มโดยไม่จำเป็น รวมทั้งมีโอกาสเสียลูกค้าไป ถึงแม้จะมีผลิตภัณฑ์ที่ดีเลิศก็ตาม
-----------------------------------------------
ข้อมูลเพิ่มเติม
-----------------------------------------------
? ติดตามข้อมูลข่าวสารได้จากช่องทางสื่อสาร iOK2u ได้ที่
? Facebook: https://www.facebook.com/iok2u