หลุมพรางการส่งสินค้าตัวอย่าง แนวคิดเพื่อการพัฒนาประสิทธิภาพโลจิสติกส์ในอุตสาหกรรมเซรามิก
เอกสารการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก 2550
สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
หลุมพรางการส่งสินค้าตัวอย่าง
ในการผลิตแบบ Make to Order เป็นการบริหารการผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อของลูกค้าที่ต้องการสินค้าแบบพิเศษ อาจเป็นชิ้นงานที่ลูกค้าเป็นผู้ออกแบบเอง หรือส่งชิ้นงานมาให้และปรับแก้ตามที่ลูกค้าให้รายละเอียดไว้ อาจเป็นแบบที่มีอยู่แล้วแต่เพิ่มลวดลาย เพิ่มข้อความ หรือใส่โลโก้เข้าไปตามที่ลูกค้าต้องการ
หลังการทำความเข้าใจในสินค้าที่ต้องการแล้ว ยังมีขั้นตอนในช่วงแรกก่อนที่จะมาถึงการทำข้อตกลงสั่งผลิตหรือมีคำสั่งซื้อออกมา ลูกค้าจะให้ผู้ประกอบการผลิตและส่งชิ้นงานตัวอย่างจำนวนหนึ่งเพื่อจะได้นำมาพิจารณา ตรวจสอบเพื่ออนุมัติ หรือให้ความเห็นถ้ามีบางส่วนที่อาจขอให้ทำการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง หรืออาจขอให้ส่งชิ้นงานที่ปรับใหม่เพิ่มเติมไปอีก
ขั้นตอนการเตรียมชิ้นงานและส่งตัวอย่างให้ลูกค้านี้ถือเป็นขั้นตอนด้านการตลาด ยังไม่ใช่ขั้นตอนการผลิตจริง เพราะวัตถุประสงค์ของขั้นตอนนี้คือการทำให้ลูกค้าสั่งซื้อ แนวคิดที่สำคัญในการส่งตัวอย่างของผู้ประกอบการเซรามิก ตามที่ได้มีการสำรวจในโครงการจะมีอยู่ 2 แนวคิดคือ แนวคิดเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางการตลาด และแนวคิดเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการส่งมอบสินค้า
ขอยกตัวอย่างในกรณีที่ลูกค้าต่างประเทศรายหนึ่งขอให้ส่งชิ้นงานตัวอย่างมาให้พิจารณาเป็นจำนวน 2 ชิ้น และผู้ประกอบการเซรามิกได้ดำเนินการเตรียมชิ้นงานตัวอย่างออกมา 10 ชิ้นเพื่อทำการคัดเลือกตามแบบที่ลูกค้าต้องการ ในขั้นตอนการคัดเลือก ผู้ประกอบการก็อาจจะมีวิธีคัดเลือกชิ้นงานตัวอย่าง 2 ชิ้นที่ต่างกัน เพราะแนวคิดและวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันดังกล่าว
แล้วจะมีผลที่แตกต่างกันอย่างไร?
กลุ่มที่หนึ่งซึ่งมีแนวคิดเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางการตลาด ก็จะคัดเลือกชิ้นงานที่ดีที่สุด 2 ชิ้นส่งเป็นตัวอย่างสินค้าให้ลูกค้าเพื่อต้องการให้ลูกค้าประทับใจในชิ้นงานและทำให้แนวโน้มหรือโอกาสในการได้คำสั่งซื้อจากลูกค้ามีสูงขึ้น
ประเด็นที่ควรพิจารณาคือ การคัดเลือก 2 ชิ้นที่ดีที่สุดจากทั้งหมด 10 ชิ้นที่เตรียมไว้ หรือที่เรียกว่าดึงตัวอย่างจากกลุ่ม 20 เปอร์เซนไทล์ (20 percentile) จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด เป็นการบ่งบอกให้ลูกค้าทราบว่า ชิ้นงาน 2 ชิ้นที่ส่งให้เป็นตัวอย่าง คือตัวแทนของสินค้าที่จะส่งมอบให้ได้เมื่อมีคำสั่งซื้อเข้ามา ลูกค้าเองก็ต้องมีความคาดหวังว่าสินค้าที่จะสั่งซื้อทั้งหมดจะมีคุณภาพตรงกับตัวอย่างที่ส่งให้ ถึงแม้บางรายอาจจะมีข้อยกเว้นให้ แต่ก็คงกำหนดค่าความคลาดเคลื่อนให้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ปัญหาก็คือเมื่อมีคำสั่งซื้อเข้ามา พอถึงในขั้นตอนการผลิตจริง โรงงานโดยทั่วไปมักมีแนวโน้มที่จะได้ประสิทธิภาพการผลิตที่ต่ำกว่าตอนทำชิ้นงานตัวอย่าง หมายความว่า การผลิตให้ได้ชิ้นงานที่มีคุณภาพตามตัวอย่างอาจได้ต่ำกว่า 20% ของสินค้าที่ผลิตออกมาทั้งหมด จึงต้องผลิตชิ้นงานออกมาเป็นจำนวนมากเพื่อสามารถคัดเลือกสินค้าตามคุณภาพสินค้าตัวอย่าง และในจำนวนที่ระบุในคำสั่งซื้อ ทำให้เกิดต้นทุนรวมสูงมาก นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังต้องตามไปแก้ปัญหาสินค้าคงเหลือจากล็อตที่ผลิตให้ลูกค้ารายนี้ แต่ยังไม่มีตลาดอื่นรองรับ เนื่องจากเป็นสินค้าที่ผลิตให้เฉพาะลูกค้ารายนี้เท่านั้น
การคัดเลือกตัวอย่างจากกลุ่มที่ดีที่สุดดังตัวอย่างข้างต้นจึงเหมือนเป็นหลุมพรางที่ทำให้การผลิตสินค้าจริงเกิดความสูญเสียมากจนอาจไม่คุ้มทุน
สำหรับกลุ่มที่สอง ในกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเซรามิก ซึ่งมีแนวคิดเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการส่งมอบสินค้า ก็จะคัดเลือกชิ้นงานในระดับที่พิจารณาแล้วสามารถผลิตได้จริง
ตามความสามารถของตนเอง ในขณะเดียวกันก็ต้องมีคุณภาพดีพอเพื่อให้ลูกค้ายอมรับและมีโอกาส
ในการได้คำสั่งซื้อจากลูกค้าด้วย การให้ความสำคัญจึงเท่ากันทั้งการตลาดและการผลิต เมื่อได้คำสั่งซื้อมาก็ต้องมั่นใจด้วยว่าจะสามารถผลิตได้ด้วยประสิทธิภาพสูงสุด และสามารถควบคุมต้นทุนในระดับที่ยอมรับได้
ขั้นตอนการคัดเลือกภายใต้แนวคิดนี้จึงแตกต่างไป การคัดเลือก 2 ชิ้นจากทั้งหมด 10 ชิ้นที่เตรียมไว้ก็จะไม่เลือก 2 ชิ้นที่ดีที่สุดอย่างกลุ่มแรก หากต้องผ่านกระบวนการวิเคราะห์เปรียบเทียบต้นทุนการผลิตกับคุณภาพสินค้าที่จะส่งมอบได้จริง เพื่อประกอบการตัดสินใจดึงตัวอย่างจากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด จากการสำรวจผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทชั้นนำพบว่าการคัดเลือกชิ้นงานจะอยู่ในกลุ่มประมาณ 40-60 เปอร์เซนไทล์ (percentile) จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด หรือช่วงที่เป็นคุณภาพระดับกลาง เพราะเป็นระดับที่โรงงานสามารถผลิตได้จริงโดยมีประสิทธิภาพการผลิตและต้นทุนที่ยอมรับได้ เป็นการบ่งบอกให้ลูกค้าทราบว่า ชิ้นงาน 2 ชิ้นที่ส่งให้เป็นตัวอย่าง คือตัวแทนของสินค้าที่จะส่งมอบให้ได้เมื่อมีคำสั่งซื้อเข้ามา ปัญหาอาจมีอยู่ในขั้นตอนด้านการตลาดนี้ ซึ่งตัวอย่างที่ส่งให้ลูกค้าอาจไม่ใช่ชิ้นงานที่ดีที่สุด จึงอาจมีความเสี่ยงเรื่องการจูงใจให้ลูกค้าออกใบสั่งซื้อ แต่หากมีคำสั่งซื้อเข้ามา พอถึงในขั้นตอนการผลิตจริง โรงงานก็จะไม่มีปัญหาด้านประสิทธิภาพการผลิต เนื่องจากคุณภาพของสินค้าที่ต้องการผลิตให้ได้ตามสินค้าตัวอย่าง อยู่ในระดับค่าเฉลี่ยที่โรงงานสามารถผลิตได้ดีอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องผลิตชิ้นงานออกมาเป็นจำนวนมากเพื่อสามารถคัดเลือกสินค้าตามคุณภาพสินค้าตัวอย่าง และในจำนวนที่ระบุในคำสั่งซื้อ โอกาสที่จะผลิตสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพตามตัวอย่างจะน้อยลง ทำให้สามารถควบคุมต้นทุนรวมได้ดี มีสินค้าคงเหลือจากล็อตที่ผลิตให้ลูกค้ารายนี้ออกมาน้อยในระดับที่สามารถจัดการได้ง่ายขึ้น
จากการสำรวจแนวทางการดำเนินงานของโรงงานเซรามิกจำนวนหนึ่งพบว่า โรงงานที่เลือกตัวอย่างที่เป็นชิ้นงานที่มีคุณภาพดีที่สุดให้กับลูกค้ามีประมาณ 70% ในขณะที่อีก 30% จะเลือกตัวอย่างในระดับที่แน่ใจว่าฝ่ายผลิตของโรงงานจะผลิตตามคุณภาพดังตัวอย่างที่ส่งให้ลูกค้าได้จริง จึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่อาจทำให้ต้นทุนการผลิตและต้นทุนโลจิสติกส์สูงขึ้น สำหรับผู้ผลิตสินค้าประเภท Make to Order ดังกล่าว
-----------------------------------------------