ประหยัดทุกอย่างที่ขวางหน้า แนวคิดเพื่อการพัฒนาประสิทธิภาพโลจิสติกส์ในอุตสาหกรรมเซรามิก
เอกสารการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก 2550
สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ประหยัดทุกอย่างที่ขวางหน้า
การทำธุรกิจในยามนี้ บอกได้เลยว่าทุกคนต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ เชื่อว่าคงไม่มีใครจะอยู่นิ่งและทำงานแบบเดิมๆ โดยไม่เปลี่ยนแปลงได้ ในเมื่อคนอื่นๆ ก็ล้วนปรับตัวกันหมด แล้วเราควรเริ่มต้นตรงไหนก่อนดีล่ะ
ข้อแนะนำง่ายๆ ก็คือ พยายามทำให้ทุกอย่างดีขึ้น โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม แล้วจะทำอย่างไร ?
การทำทุกอย่างให้ดีขึ้นสำหรับโรงงานเซรามิกในที่นี้ หมายถึง การสร้างแนวคิดให้เกิดการประหยัดในทุกๆ กระบวนการ การประหยัดก็คือการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด โดยที่ไม่ต้องลงทุนเพิ่มเติม ทรัพยากรในที่นี้ หมายถึง เงิน พลังงาน บุคลากร พื้นที่ รถขนส่ง เวลา
การจัดการให้การผลิตมีประสิทธิภาพที่สุด หมายถึง ทุกขั้นตอนจะต้องเกิดของเสียในระบบน้อยที่สุด ทั้งในตัวผลิตภัณฑ์และกิจกรรมโลจิสติกส์ การผลิตเซรามิกมีส่วนสูญเสียมากเมื่อเทียบกับการผลิตอื่นๆ การป้องกันการสูญเสียตลอดทั้งกระบวนการเพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้าจะได้รับสินค้าและบริการเป็นที่น่าพอใจ จะต้องทำการตรวจสอบทั้งองค์กรว่ามีการจัดการที่ดีแล้วหรือยัง การจัดการที่ดีนี้อาจตรวจสอบได้โดยใช้แนวคิดแบบลีน (LEAN)
ประหยัดการใช้เงินซื้อของ
การจัดซื้อเป็นกระบวนการขั้นต้นๆ ของการดำเนินงาน เป็นการตัดสินใจที่มีส่วนได้ส่วนเสียต่อกิจกรรมต่อเนื่องต่างๆ ที่จะตามมา รวมถึงอาจมีผลต่อกำไรขาดทุนของบริษัทด้วยในการจัดซื้อในราคาที่ถูก หรือเหมาะสมกับสถานการณ์ ต้องมีการวางแผนด้านวัตถุดิบ ระยะเวลาส่งมอบ จำนวนที่ต้องการซื้อ ประเภทหรือชนิดให้ถูกต้อง กระบวนการชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อน ไม่ต้องมาเริ่มทำใหม่ อาจทำให้ไม่ทันการ การจัดซื้อที่แพงมากๆ ส่วนใหญ่คือการจัดซื้อวัตถุดิบที่ต้องการเร่งด่วนเพราะไม่เพียงพอต่อการผลิต ยอมซื้อด้วยราคาแพง หรือบางครั้งต้องยอมขนสินค้าขึ้นเครื่องบินมา กำไรจะหดหายไปอย่างน่าใจหาย
ประหยัดการใช้พลังงาน
ปัจจุบัน อุตสาหกรรมเซรามิกใช้ก๊าซธรรมชาติอัด (Compressed Natural Gas หรือ CNG) และก๊าซแอล-พี-จี (LPG) เป็นเชื้อเพลิงในการเผา ซึ่งมีการใช้ในปริมาณมาก โรงงานที่อยู่ใกล้พื้นที่ที่มีท่อก๊าซธรรมชาติผ่านก็จะสามารถเชื่อมต่อท่อก๊าซธรรมชาติเข้าสู่โรงงานเพื่อใช้ในการผลิต ได้แก่โรงงานบริเวณสระบุรี ส่วนโรงงานอื่นๆ ต้องใช้ก๊าซแอล-พี-จี ด้วยการขนส่งมาจากรถบรรทุกก๊าซ เช่น ลำปาง เชียงใหม่ ราชบุรี เป็นต้น การใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงเพื่อเพิ่มอุณหภูมิในเตาเผาต้องใช้ในปริมาณมากเพื่อให้ถึงอุณหภูมิที่ต้องการตามมาตรฐานของชิ้นงานที่กำลังผลิตอยู่ ในขณะที่ราคาทั้งก๊าซธรรมชาติอัดและก๊าซแอลพีจีช่วงที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นโดยตลอด การประหยัดพลังงานสำหรับเตาเผา จึงมีการออกแบบให้ป้องกันการรั่วไหลของความร้อน มีการออกแบบที่ทำให้มีการกระจายความร้อนอย่างทั่วถึงตามโซนที่ต้องการ มีเครื่องมือที่จะช่วยดึงความร้อนเหลือใช้ที่ปล่อยออกสู่อากาศภายนอกให้สามารถกลับมาใช้ใหม่เพื่ออบชิ้นงาน หรือเพื่อเพิ่มอุณหภูมิอากาศที่เข้าเตาเพื่อช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงลงได้
ประหยัดการใช้บุคลากร
ต้นทุนเรื่องบุคลากรจะเพิ่มขึ้นทุกปี และองค์กรก็ไม่สามารถลดต้นทุนโดยการลดพนักงานประจำได้ง่ายนัก และอาจเป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะทำ แล้วควรทำอย่างไรกับบุคลากรที่มีอยู่? หนทางที่ผู้ประกอบการเซรามิกเลือกคือการพัฒนาบุคลากรในองค์กรให้มีความสามารถในหลายๆ ด้าน ให้มีความรู้และทักษะ ทั้งด้านงานในหน้าที่ประจำ และงานที่เป็นโครงการเพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน การที่พนักงานสามารถทำงานมีประสิทธิผลมากขึ้นเท่ากับเป็นการประหยัดการใช้บุคลากรอย่างได้ผลที่สุด
ประหยัดการใช้พื้นที่
การใช้พื้นที่ในโรงงานมีสามส่วนหลักคือ พื้นที่การผลิต พื้นที่สำนักงาน และพื้นที่เพื่อกิจกรรมโลจิสติกส์ จะสังเกตว่าพื้นที่ผลิตและพื้นที่สำนักงานไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่พื้นที่เพื่อกิจกรรมโลจิสติกส์ เช่น คลังวัตถุดิบ คลังสินค้า คลังบรรจุภัณฑ์ สถานที่บรรจุหีบห่อ สถานที่จัดเตรียมสินค้าขึ้นรถ สถานที่ขึ้นสินค้า มักมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา พื้นที่ส่วนที่จะใช้มากที่สุด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือพื้นที่คลังสินค้า อันเป็นผลมาจากปริมาณสินค้าคงคลังที่เพิ่มขึ้น จึงต้องดำเนินการจัดการเรื่องการลดสินค้าคงคลังดังที่กล่าวในบทข้างต้น ซึ่งจะมีผลต่อการลดพื้นที่การใช้คลังสินค้าของโรงงานลง การใช้พื้นที่ให้คุ้มค่าต้องมีการจัดระบบ แบ่งสัดส่วนพื้นที่ และสามารถใช้ประโยชน์พื้นที่แนวสูงให้เต็มที่ได้ด้วย ตัวอย่างเช่น คลังสินค้าแห่งหนึ่งมีพื้นที่ 1,000 ตรม. และความสูง 6 ม. ต้องคิดว่ามีสถานที่เก็บสินค้าได้ถึง 6,000 ลบ.ม. ไม่ใช่เพียง 1,000 ตรม. เท่านั้น
ประหยัดการใช้รถขนส่ง
กิจกรรมขนส่ง ไม่ว่าจะมีรถขนส่งเองหรือว่าจ้างบริษัทขนส่งมาดำเนินการ ต้องยึดหลักการดังนี้ ถ้ามีรถแล้วต้องให้ล้อหมุนรถจอดทิ้งไว้ก็เปล่าประโยชน์ ถ้าล้อหมุนแล้วต้องมีสินค้าบรรทุกให้ได้มากที่สุด ถ้าวิ่งโดยบรรทุกไม่เต็มคันหรือวิ่งเที่ยวเปล่า เป็นการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง เพิ่มมลพิษในอากาศโดยเปล่าประโยชน์ บางคนกล่าวว่ารถบรรทุกต้องขนสินค้าไม่ใช่ขนอากาศ ให้ตรวจสอบดูว่ารถของเราขนสินค้าหรือขนอากาศมากกว่ากัน ตัวอย่างโครงการที่ดีในการใช้รถขนส่งให้คุ้มค่าได้แก่ การรวมคำสั่งซื้อให้สามารถขนส่งไปในรถคันเดียวกัน การวิ่งรถร่วมกับผู้ประกอบการอื่นๆ ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อให้สามารถส่งสินค้าได้มากขึ้น การบริหารจัดการเรื่องการขนส่งเที่ยวกลับ เป็นต้น
ประหยัดการใช้เวลา
เวลาเป็นของมีค่า การใช้เวลาให้น้อยลงขณะที่สามารถทำงานได้เท่าเดิมหรือมากขึ้น คือการเพิ่มประสิทธิผลการทำงาน เวลาแห่งการรอคอย เป็นความสูญเสียที่ไม่ค่อยมีใครวัด ถ้าสังเกตการทำงานในโรงงานเซรามิกตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ จะเห็นเวลาที่ต้องรอคอยอยู่หลายจุด หากมีการวัดก็จะเห็นว่านานกี่นาที รวมกันแล้วกี่ชั่วโมง ตั้งแต่ วัตถุดิบรอขึ้นรูป ชิ้นงานรอเผา รอวาดลวดลาย รอเคลือบ รอเผาเคลือบ รอตกแต่ง รอบรรจุ รอในคลังสินค้า รอจัดส่ง ทั้งหมดรวมๆ กันแล้ว เป็นเวลาค่อนข้างมาก ควรจัดการลดขั้นตอนการรอคอยทุกขั้นตอนลง
-----------------------------------------------