CT51 วิสัยทัศน์ต่อธุรกิจการขนส่งและโลจิสติกส์ของไทยในวงล้อของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community)
ลิขสิทธิ์ © พ.ศ.2551 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ผู้เขียน ดร.นันทิ สุทธิการนฤนัย และ ศิวณัส อรรฐาเมศร์
ในการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 9 ได้มีการเห็นชอบให้ประเทศต่างๆ ในอาเซียนรวมตัวเป็น AEC ภายในปี ค.ศ.2020 (พ.ศ.2563) ซึ่งจะประกอบด้วยความร่วมมือกันในสามด้านหลัก ได้แก่ ประชาคมความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community - ASC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community - AEC) และ ประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community - ASCC) เป้าหมายของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนคือการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจ โดยจะมีตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน (single market and single production base) และมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน และแรงงานฝีมืออย่างเสรี ในการนี้ผู้นำอาเซียนได้เห็นชอบให้เร่งรัดการรวมกลุ่มสินค้าและบริการสำคัญ 11 สาขา เป็นสาขานำร่อง โดยมีประเทศสมาชิกรับผิดชอบในการจัดทำ Roadmap ในแต่ละสาขาได้แก่ ไทย: ท่องเที่ยวและการบิน พม่า: สินค้าเกษตรและสินค้าประมง อินโดนีเซีย: ยานยนต์และผลิตภัณฑ์ไม้ มาเลเซีย: ยางและสิ่งทอ ฟิลิปปินส์: อิเล็กทรอนิกส์ สิงคโปร์: เทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และการบริการด้านสุขภาพ กลุ่มประเทศอาเซียนได้ประกาศชัดเจนให้ปี พ.ศ.2558 เป็นปีเป้าหมายในการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และได้วางแผนงานในการเปิดเสรีภาคบริการใน 5 สาขา ได้แก่ สาขาสุขภาพ สาขาท่องเที่ยว สาขาคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม สาขาขนส่งทางอากาศภายในปี พ.ศ.2553 และสาขาโลจิสติกส์ภายในปี พ.ศ.2556
ผลกระทบของไทยจากการเปิดเสรีภาคบริการมีทั้งบวกและลบต่อผู้ประกอบการในประเทศ เนื่องจากการเปิดเสรีจะมีผลให้สินค้า บริการ และการลงทุนเคลื่อนย้ายไปมาอย่างเสรีโดยไม่ได้จำกัดอยู่ที่พรมแดนของประเทศใดประเทศหนึ่ง ส่งผลให้ผู้ผลิตและเจ้าของกิจการในประเทศมีโอกาสที่จะโดนคู่แข่งขันจากต่างชาติมารุกรานและแย่งส่วนแบ่งการตลาดในประเทศไป ในขณะเดียวกันผู้ผลิตและเจ้าของกิจการในประเทศไทยก็มีโอกาสที่จะรุกเข้าไปแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดในประเทศอื่นในอาเซียนได้เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น อาจมีโรงพยาบาลของสิงคโปร์เข้ามาเปิดดำเนินงานอยู่ในประเทศไทย เพื่อแย่งส่วนแบ่งลูกค้าต่างชาติที่มาใช้บริการในไทย อีกทั้งสามารถลดต้นทุนและเพิ่มกำไรด้านการดำเนินงานจากค่าแรงงานที่ถูกกว่า ในทำนองเดียวกัน บริษัทนำเที่ยวจากจีนอาจเข้ามาเปิดบริษัทในไทยเพื่อรับนักท่องเที่ยวจากจีนโดยตรง โดยไม่ต้องเสียค่าหัวคิวให้กับบริษัทท่องเที่ยวของไทย ในส่วนของบริษัทที่ให้บริการด้านโลจิสติกส์นั้น บริษัทโลจิสติกส์ของไทยอาจจะไปเปิดสาขาและสร้างคลังสินค้าในประเทศลาว พม่า ก็เป็นได้ ซึ่งแน่นอนว่าการแข่งขันย่อมจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และผู้ประกอบการที่มีวิสัยทัศน์ มีการปรับตัวที่ดี ก็สามารถที่จะขยายตลาดไปลงทุนเพิ่มในต่างประเทศได้ ในขณะที่ผู้ประกอบการที่มีต้นทุนที่สูงและประสิทธิภาพในการดำเนินงานต่ำกว่าคู่แข่งจากต่างชาติก็มีสิทธิเก็บกระเป๋าและปิดกิจการลง
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้บริโภคในประเทศ การเปิดเสรีทางด้านการบริการ[1]จะส่งผลบวกต่อคนในประเทศ เพราะผู้บริโภคจะมีทางเลือกมากขึ้น มีโอกาสที่จะบริโภคสินค้าและบริการถูกลงและมีคุณภาพดีขึ้น อันเนื่องมาจากการแข่งขันกันของผู้ประกอบการที่จะเข้มข้นขึ้น แม้กระนั้นยังมีนักวิชาการบางส่วนที่กังวลว่าการเปิดเสรีจะมีผลทำให้การจ้างงานในประเทศลดลงเนื่องจากการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น ซึ่งในความเป็นจริงความกังวลนี้จะไม่มีผลกับสินค้าประเภทบริการเพราะลักษณะพิเศษของสินค้าบริการจะต้องมีคนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินงาน ไม่สามารถที่จะผลิตจากที่หนึ่งแล้วส่งต่อไปยังอีกที่หนึ่งได้ ดังนั้น การเปิดเสรีทางการบริการในระยะนี้จึงยังไม่ได้ส่งผลต่อการลดการจ้างงานของคนในประเทศ
การเปิดเสรีในสินค้าและบริการตามประชาคมอาเซียนจะมีผลให้ประเทศต่างๆ ในอาเซียนมีการติดต่อแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้ากันมากขึ้นอย่างกว้างขวาง และจะส่งผลต่อปริมาณความต้องการด้านการบริการทางโลจิสติกส์ที่จะมีเพิ่มขึ้นตามมา ส่วนที่ว่าใครจะเป็นคนชิงเค็กก้อนที่เพิ่มขึ้นมานั้นคงขึ้นอยู่กับความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในประเทศไทยและความสามารถของผู้ประกอบการที่เป็นคู่แข่งที่มาจากประเทศอื่น
ผู้ประกอบการที่ต้องการจะขยายตลาดไปภายในภูมิภาคอาเซียนควรมีการจัดเตรียมทำแผนกลยุทธ์ของการขยายการบริการทางด้านโลจิสติกส์อย่างครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน จากที่เคยมุ่งเน้นแค่การขนส่งและบริการโลจิสติกส์ภายในประเทศจนไปสิ้นสุดที่เขตชายแดนไทย ก็เปลี่ยนมุมมองมาเป็นอาเซียนคือประเทศเดียวตลาดเดียว และมุ่งจัดระบบการให้บริการโลจิสติกส์ที่สามารถทำให้บริษัทขนย้ายสินค้าจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งในอาเซียนด้วยต้นทุนที่ต่ำสุด และภายในระยะเวลาที่ลูกค้าต้องการ ตัวอย่างเช่น การตั้ง Hub และคลังสินค้าในเวียงจันทร์ของลาว อาจจะดีกว่าและมีประสิทธิภาพกว่าการตั้ง Hub และคลังสินค้าในเชียงใหม่ การขนส่งสินค้าทางถนนจากไทยไปเวียดนามอาจจะคุ้มกว่าการขนส่งสินค้าหลายหมวดจากทางรถไฟภายในไทยก่อนแล้วส่งต่อทางถนนเข้าไปในเวียดนาม นอกจากนี้ผู้ประกอบการจะต้องมีการวางแผนในเรื่องของการทำการตลาดในการเข้าไปเจาะลูกค้าอื่นในอาเซียน อาจต้องมีการตั้งสำนักขายและศูนย์บริการอยู่ตามเมืองใหญ่ในประเทศต่างๆ และต้องมีการทำวิจัยตลาดเพื่อดูความถึงความต้องการเฉพาะเจาะจงของท้องถิ่นนั้นๆ ส่วนการวิจัยทางโลจิสติกส์ควรดำเนินการโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ตลาดมีอยู่ตลาดเดียวนั่นก็คือตลาดอาเซียน และบริษัทจะทำอย่างไรให้ต้นทุนรวมทั้งหมดของการส่งสินค้าไปมาภายในอาเซียนมีต้นทุนต่ำที่สุด
สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่คิดจะขยายตลาดไปในส่วนอื่นของอาเซียน ควรจะมีการวางแผนตั้งรับและปรับตัวเพื่อให้พร้อมกับการแข่งขันจากบริษัทต่างประเทศที่อาจมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่า ระบบการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพกว่า ผู้ประกอบการในประเทศจะต้องค้นหา สร้าง และสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันที่ตนเองมี และตอบโจทย์ให้ได้ว่าทำไมลูกค้ายังเลือกใช้บริการของเราอยู่ ควรจะมีการวางแผนในระยะกลางและยาวว่าทำอย่างไรธุรกิจของเราจึงจะสามารถแข่งขันกับคู่แข่งจากต่างชาติได้ และควรมีการแบ่งงบประมาณในการทำวิจัย เพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของตนเองเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและลดต้นทุนการดำเนินงานที่ไม่จำเป็นลง แทนที่จะมุ่งเน้นแค่การแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอาจสร้างเครือข่ายกับบริษัทโลจิสติกส์ข้ามชาติอื่นๆ ในการให้บริการโลจิสติกส์ร่วมกัน (Alliance) เช่น บริษัทในไทยทำความตกลงร่วมกับบริษัทขนส่งในลาวและเวียดนาม เพื่อทำการขนส่งสินค้าจากต้นทางไทยไปถึงเวียดนามให้กับลูกค้าโดย ลูกค้าไม่จำเป็นต้องติดต่อกับบริษัทหลายบริษัทซึ่งอาจสร้างความวุ่นวายและสับสน
จะเห็นได้ว่า ข้อตกลงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีผลกระทบทั้งทางบวกและลบต่อผู้ประกอบการขนส่งและโลจิสติกส์ในไทย โดยผู้ประกอบการที่มีวิสัยทัศน์ที่ดี มีการวางแผนเตรียมตัวต่อการเปิดเสรี มีการปรับตัวที่ดี จะมีโอกาสขยายตลาดได้เพิ่มขึ้นจากการเปิดเสรีนี้ แต่ผู้ประกอบการใดที่ไม่มีการวางแผน ขาดการเตรียมตัวที่ดี และขาดความยืดหยุ่น ก็มีสิทธิที่จะโดนคู่แข่งจากต่างชาติซึ่งมีเทคโนโลยีที่ดีกว่าและต้นทุนการดำเนินงานที่ต่ำกว่าแย่งตลาดไป และอาจต้องปิดกิจการลงในที่สุด
[1] การเปิดเสรีภาคบริการใน 5 สาขา ได้แก่ สาขาสุขภาพ สาขาท่องเที่ยว สาขาคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม สาขาขนส่งทางอากาศภายในปี พ.ศ.2553 และ สาขาโลจิสติกส์ภายในปี พ.ศ.2556
--------------------------------
สนใจบทความฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติม ดาวน์โหลดที่เอกสารแนบด้านล่าง
สนใจบทความอื่นในชุดนี้คลิกดูได้ตามหัวข้อด้านล่าง
CT51 เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ปี 2551” จึงเป็นการนำบทความดังกล่าวที่น่าสนใจจำนวน 80 บทความ นำมาจัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกสำหรับผู้สนใจในการศึกษากรณีศึกษาความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล
--------------------------------
ที่มา
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
โดย สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่