CT51 Logistics และ Supply Chain ต้นน้ำของอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศไทย
ลิขสิทธิ์ © พ.ศ.2551 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ผู้เขียน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วันชัย รัตนวงษ์
ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ประมาณ 4.3 ล้านเมตริกตัน โดยมีบราซิลเป็นอันดับหนึ่งของโลกซึ่งถือเป็นคู่แข่งที่สำคัญของประเทศไทย นอกจากนั้นยังมีออสเตรเลียที่กำลังเป็นคู่แข่งที่สำคัญของประเทศไทยตามมา ทั้งนี้เนื่องจากทั้งบราซิลและออสเตรเลียมีระดับเทคโนโลยีการผลิตและความก้าวหน้าในด้านการวิจัยและพัฒนาด้านอ้อยและน้ำตาลทรายอยู่ในระดับสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยและประเทศคู่แข่งอื่น ๆ ขณะที่ประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลทรายรายใหญ่อีกหลายประเทศ เช่น กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ต่างได้รับการสนับสนุนการส่งออกจากรัฐบาล จนสามารถส่งน้ำตาลทรายออกขายในตลาดโลกได้ในราคาต่ำ ทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยที่เคยมีความได้เปรียบในด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า กำลังสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดโลกไปทุกขณะอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเพื่อให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยสามารถยืนหยัดและแข่งขันในตลาดโลกได้ จึงจำเป็นต้องมุ่งเน้นการพัฒนาตลอดกระบวนการ ทั้งทางด้านอ้อยและน้ำตาลทราย ทั้งนี้กระบวนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์สำหรับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายก็เป็นส่วนสำคัญยิ่งส่วนหนึ่งที่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาอย่างเร่งด่วน เพื่อให้มีการวางกลยุทธ์การดำเนินงานและการควบคุมกระบวนการ รวมทั้งการขนส่งมีประสิทธิภาพ ด้วยต้นทุนที่ประหยัด และการป้องกันการขาดวัตถุดิบระหว่างการผลิต โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพด้านการจัดการทุกด้านระหว่างการจัดคิวอ้อยเข้าโรงงาน ตลอดจนกระบวนการจัดการสินค้าระหว่างการผลิต การจัดการสินค้าสำเร็จรูป การจัดเก็บและการขนส่งน้ำตาลทรายเพื่อการจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศล้วนมีผลต่อต้นทุนและการแข่งขันทั้งสิ้น
ประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยประมาณ 6 ล้านไร่ มีโรงงานผลิตน้ำตาลทรายดิบทั้งหมด 49 โรงงาน กระจายเกือบทุกภูมิภาคของประเทศ โดยปกติโรงงานผลิตจะเลือกใกล้กับแหล่งวัตถุดิบหรือแหล่งเพาะปลูกเป็นหลัก เพื่อทำให้ต้นทุนขนส่งต่ำและทำให้ค่า Logistics Cost ต่ำตามไปด้วย และอีกประการหนึ่งสังเกตว่าอ้อยมีวงจรชีวิต (Life Cycle) ที่ค่อนข้างสั้น รวมทั้งค่าความหวาน (CCS) ของอ้อยมีการเปลี่ยนแปลงลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อมีการตัดอ้อย ดังนั้นเมื่อเกษตรกรตัดอ้อยแล้วต้องรีบนำอ้อยเข้าสู่โรงงานการผลิต มิฉะนั้นอ้อยจะสูญเสียค่าความหวาน (CCS) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกษตรกรจะได้รับเงินเพิ่มมากขึ้น มิใช่แต่เพียงน้ำหนักของอ้อยเท่านั้นที่ป้อนเข้าสู่โรงงานแต่ต้องพิจารณาจากค่าความหวาน (CCS) ของอ้อยขณะที่มีการหีบอ้อยในครั้งแรก โดยค่า CCS ต้องได้ตามเกณฑ์มาตรฐานที่สำนักงานอ้อยและน้ำตาลเป็นผู้กำหนด ทั้งนี้เพราะอ้อยมีหลากหลายพันธุ์ซึ่งค่าความหวานของแต่ละพันธุ์ก็แตกต่างกันไป เช่นเดียวกันการใช้พลังงานเพื่อทำให้อ้อยเคี่ยวเป็นน้ำตาลทรายดิบก็แตกต่างกันไป ถ้าค่าความหวานของอ้อยต่ำกว่ามาตรฐานการใช้พลังงานเพื่อเปลี่ยนให้เป็นน้ำตาลทรายดิบก็จะมากกว่าปกติ ดังนั้นโรงงานจึงพิจารณาผลตอบแทนในรูปของ CCS และน้ำหนักควบคู่กันไป สังเกตว่าเกษตรกรที่ตัดอ้อยด้วยตนเองจะมีรอยบาดแผลของอ้อยเฉพาะที่โคนอ้อยเท่านั้น ดังนั้นกระบวนการสูญเสียความหวานค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับการตัดโดยใช้รถตัดดังรูป เพราะอ้อยจะถูกตัดให้เป็นท่อนๆ ดังนั้นอ้อยจะมีบาดแผลค่อนข้างมากทำให้อ้อยสูญเสียความหวานอย่างรวดเร็ว ดังรูปที่ 1
รูปที่ 1 แสดงการตัดอ้อยโดยใช้เครื่องจักร
การตัดด้วยวิธีนี้ส่วนใหญ่เกษตรกรต้องนัดหมายกับโรงงานและอยู่ใกล้โรงงานมากๆ เพื่อให้หีบอ้อยอย่างรวดเร็ว มิฉะนั้นราคาอ้อยที่เกษตรกรได้รับจะเสียเปรียบอย่างมาก แต่ข้อสังเกตที่สำคัญนอกเหนือจากที่กล่าวในข้างต้น คือกระบวนการหน้าโรงงานที่ต้องมีการจัดระบบคิว บางโรงงานรถบรรทุกต้องรอหน้าโรงงานถึง 2 วัน จึงสามารถนำอ้อยเข้าหีบได้เนื่องจากมีรถมาคอยเข้าคิวเป็นจำนวนมาก ดังรูปที่ 2 เกษตรกรจะได้รับผลกระทบโดยตรงทั้งน้ำหนัก และค่า CCS ที่ลดลง รวมทั้งเงินที่ได้รับลดลงเช่นเดียวกัน จึงต้องมีการดูแลเป็นอย่างดีเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมด้วยกันทั้งสองฝ่าย
รูปที่ 2 แสดงการรอคอยของรถบรรทุกก่อนเข้าหีบ
ถึงตรงนี้หลายท่านอาจสงสัยว่าประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมดเกี่ยวข้องกับ Logistics อย่างไร ขอเรียนว่าLogistics Cost ประกอบไปด้วย 4 ส่วนที่สำคัญคือ 1) Transportations Cost 2) Inventory Cost 3) Warehouse Cost และ 4) Administration Cost ดังนั้นประเด็นการวางแผนให้โรงงานใกล้กับแหล่งวัตถุดิบจึงเป็นการลดค่าขนส่งอย่างเห็นได้ชัด สังเกตว่าโรงงานผลิตน้ำตาลไม่มีโกดังเก็บอ้อย (วัตถุดิบ) เหมือนกับโรงงานทั่วไป จึงไม่มี Warehouse Cost เหลือเฉพาะค่าการจัดการเท่านั้น ซึ่งก็คือระบบคิวหน้าโรงงานที่ต้องมีการจัดการที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาระบบ Logistics ให้เพิ่มมากขึ้น
การเก็บเกี่ยวและขนส่งอ้อยเป็นสิ่งสำคัญที่เกษตรกรจะต้องปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้ได้ค่าตอบแทนสูงสุด ขณะนี้ได้มีการซื้อขายอ้อยตามคุณภาพ โดยวัดความหวานเป็น CCS เกษตรกรจะต้องดูว่าอ้อยของตนแก่พอดีหรือยัง โดยดูจากอายุอ้อยและสุ่มวัดค่าความหวานด้วยเครื่องมือวัดอย่างง่าย คือ รีแฟคโตมิเตอร์ ซึ่งมีหน่วยวัดเป็นค่าบริกซ์ของน้ำอ้อยและสุ่มวัดจากต้นอ้อยประมาณ 3-5 ลำ/แปลง วัดความหวานของน้ำอ้อยบริเวณส่วนโคน กลาง และปลาย ถ้าค่าบริกซ์ที่วัดได้มีความแตกต่างกันไม่เกิน 2 ก็แสดงว่าอ้อยแก่สามารถเก็บเกี่ยวได้ เกษตรกรต้องวางแผนตัดอ้อยให้สอดคล้องกับแผนของโรงงานที่จะส่งอ้อยด้วย โรงงานต้องเตรียมความพร้อมเรื่องอุปกรณ์ แรงงาน การขนส่งอ้อยให้ไปถึงโรงงานเร็วที่สุด ดังรูปที่ 3 และจะต้องประสานงานกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไร่ของโรงงานปริมาณอ้อยที่ตัด กล่าวคือตัดอ้อยตามใบสั่งของฝ่ายโรงงาน เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์กับรถบรรทุกอ้อย และความสามารถในการหีบอ้อยของโรงงาน เพื่อที่จะได้ผลผลิตอ้อยสด ส่งโรงงานซึ่งจะเป็นผลดีทั้งชาวไร่และโรงงาน เพราะต่างได้ผลตอบแทนสูงตามระบบการแบ่งปันผลประโยชน์เป็น 70 : 30 ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล
รูปที่ 3 แสดงการขนส่งจากไร่อ้อยถึงโรงงาน
เนื่องจากอ้อยเป็นวัตถุดิบสำหรับโรงงานทำน้ำตาล การเก็บเกี่ยวอ้อยจึงต้องสัมพันธ์กับการเปิดหีบอ้อยซึ่งจะเปิดหีบเฉพาะในช่วงที่มีอ้อยแก่มีความหวานสูงและในช่วงดังกล่าวจะต้องมีปริมาณในการป้อนโรงงานโดยไม่ขาดสาย เกษตรกรและโรงงานจึงต้องร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ทั้งสองฝ่ายโดยการวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ เช่น
- การกำหนดโควต้าจากโรงงาน
- พื้นที่ปลูกอ้อย ซึ่งต้องอยู่ในเขตอนุญาตของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยหลักการไม่ควรอยู่ห่างจากโรงงาน 50 กิโลเมตร เพราะถ้าอยู่ไกลเกินไปจะเสียค่าขนส่งสูง
- การกำหนดพันธุ์อ้อย โดยพิจารณาสภาพดินและภูมิอากาศ เพื่อที่จะกำหนดให้อ้อยสุกแก่และพร้อมจะส่งเข้าหีบที่อ้อยต้องมีความหวานสูงสุด ในช่วงที่กฎหมายอนุญาตให้โรงงานน้ำตาลเปิดหีบคือตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน - พฤษภาคม
- การวางแผนการเก็บเกี่ยวอ้อย หรือที่เรียกว่ากำหนดรอบการตัดอ้อย (Crop Cycle) ซึ่งขึ้นอยู่กับพันธุ์อ้อย ชนิดของอ้อยปลูกหรืออ้อยตอ โดยที่อ้อยจะสุกแก่ มีความหวานสูงสุดตลอดฤดูกาลหีบ โดยกำหนดการตัดเป็นงวดๆ ละสัปดาห์หรือปักษ์ ปริมาณและจำนวนครั้งที่ตัดควรให้เหมาะกับความต้องการของโรงงานหรือตามจำนวนโควต้า
วิธีที่ดีที่สุดที่ใช้สำหรับการตรวจการสุกของอ้อยก็คือการวิเคราะห์น้ำตาลชูโครสในน้ำอ้อยโดยการสุ่มตัวอย่างอ้อย 8-10 ลำจากในไร่ แบ่งลำอ้อยออกเป็นสามส่วนด้วยสายตา คือ ส่วนโคน ส่วนกลาง และส่วนปลาย ทำการเจาะเอาน้ำอ้อยในแต่ละส่วนมาหยอดลงบนแผ่นกระจกของเครื่องรีแฟรคโตมิเตอร์ (Hand Refractometer) เปรียบเทียบค่าทั้งสามเป็นอัตราส่วนต่อกัน ถ้าอัตราส่วนทั้งสามใกล้เคียงกันก็นับว่าอ้อยสุกแก่เต็มที่ วิธีการนี้แม้เป็นวิธีที่ดีแต่ต้องสิ้นเปลืองเวลาและค่าใช้จ่ายมาก ยังไม่ได้มีการปฏิบัติแพร่หลายในหมู่เกษตรกร ก่อนที่จะมีการตัดอ้อยจะมีการริดใบออกแล้วตัดลำต้นชิดดินด้วยมีดหรือจอบ การตัดชิดดินนอกจากจะได้น้ำหนักและน้ำตาลเพิ่มขึ้นแล้วยังทำให้หน่อที่จะแตกใหม่เป็นอ้อยตอแข็งแรงและมีขนาดใหญ่อีกด้วย เมื่อตัดลำต้นออกแล้วจะตัดยอดตรงจุดหักธรรมชาติ คือจุดที่ยอดหักเมื่อเหนี่ยวใบยอด การตัดเอาส่วนยอดยาวเกินไป ส่วนยอดของอ้อยจะมีแป้งหรือสารประกอบประเภทคาร์โบไฮเดรตอื่นอยู่ด้วย ทำให้การเคี่ยวน้ำตาลตกผลึกได้ยาก หากโรงงานรับซื้อโดยการวัดค่า CCS การไว้ยอดยาวจะทำให้เกษตรกรเสียเปรียบเพราะน้ำหนักของยอดที่ยาวออกไปจะไม่คุ้มกับค่า CCS ที่จะได้ นอกจากนี้ไม่ควรมีการเผาอ้อยก่อนตัดถ้าไม่จำเป็น แม้จะเป็นการสะดวกในการเข้าไปตัดอ้อย เนื่องจากอ้อยไฟไหม้จะมีคุณภาพด้อยกว่า แต่ถ้าตัดส่งโรงงานช้าจะทำให้ทั้งน้ำหนักและคุณภาพจะลดลงอย่างรวดเร็ว ดังรูปที่ 4
รูปที่ 4 แสดงการตัดอ้อยสดและอ้อยไฟไหม้
การเก็บเกี่ยวอ้อยอาจจะใช้เครื่องจักรซึ่งยังมีการใช้น้อยในประเทศไทย แม้ว่าจะมีประสิทธิภาพการทำงานได้สูงกว่า แต่ยังมีข้อเสียคือไม่สามารถตัดอ้อยทิ้งได้ มีเศษดินติดไปกับส่วนโคนอ้อยด้วยโดยเฉพาะเมื่อตัดในขณะที่ดินเปียกอยู่ เครื่องตัดมักจะถอนอ้อยติดขึ้นไปทั้งกอ ทำให้อ้อยมีสิ่งสกปรกติดไปด้วย ยังผลให้ค่าความบริสุทธิ์ (Purity) ของน้ำตาลต่ำ ดินและสิ่งสกปรกที่ติดมากับอ้อยทำให้เครื่องจักรกลในกระบวนการสกัดน้ำตาลสึกหรอ อาจต้องหยุดเครื่องจักรกลางคันทำให้ทางโรงงานเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น อ้อยที่ตัดแล้วต้องรีบส่งเข้าโรงงานทันที อ้อยที่ค้างอยู่จะเสียทั้งน้ำหนักและคุณภาพตามระยะเวลาที่ค้างและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลผลิตน้ำตาลต่ำ การค้างอาจจะเกิดขึ้นในไร่หรือบนรถบรรทุกที่ติดคิวหน้าโรงงาน ดังนั้น การประสานงานและร่วมมือระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานร่วมกันวางแผนการส่งอ้อยจะสามารถลดคิวหน้าโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โรงงานบางรายขณะนี้ลงไปช่วยชาวไร่อ้อยไม่ว่าจะเป็นการปลูก คัดเลือกสายพันธุ์ การอบรมให้ความรู้และอื่นๆ กระบวนการสร้างพันธมิตรอย่างนี้ที่ทำให้ธุรกิจมีความยั่งยืนเราเรียกได้ว่าเป็น Supply Chain หลังจากนั้นชาวไร่จะนำส่งอ้อยป้อนเข้าสู่โรงงานเพื่อนำไปสู่การผลิตดังรูปที่ 5 ซึ่งจะนำเสนอกระบวนการผลิตต่อไป
รูปที่ 5 แสดงการเทอ้อยเข้าสู่โรงงาน
--------------------------------
สนใจบทความฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติม ดาวน์โหลดที่เอกสารแนบด้านล่าง
สนใจบทความอื่นในชุดนี้คลิกดูได้ตามหัวข้อด้านล่าง
CT51 เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ปี 2551” จึงเป็นการนำบทความดังกล่าวที่น่าสนใจจำนวน 80 บทความ นำมาจัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกสำหรับผู้สนใจในการศึกษากรณีศึกษาความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล
--------------------------------
ที่มา
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
โดย สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่