iok2u.com แหล่งรวมข้อมูลข่าวสารเรื่องราวน่าสนใจเพื่อการศึกษาแลกเปลี่ยนและเรียนรู้

Pay It Forward เป้าหมายเล็ก ๆ ในการส่งมอบความดีต่อ ๆ ไป
เว็ปไซต์นี้เกิดจากแรงบันดาลใจในภาพยนต์เรื่อง Pay It Forward ที่เล่าถึงการมีเป้าหมายเล็ก ๆ กำหนดไว้ให้ส่งมอบความดีต่อไปอีก 3 คน หากใครคิดว่ามันมีประโยชน์ก็สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้เลยโดยไม่ต้องตอบแทนกลับมา อยากให้ส่งต่อเพื่อถ่ายทอดต่อไป
มิสเตอร์เรน (Mr. Rain) และมิสเตอร์เชน (Mr. Chain)
Mr. Rain และ Mr. Chain สองพี่น้องในโลกออฟไลน์และออนไลน์ที่จะมาร่วมมือกันสร้างสื่อสารสนเทศ เพื่อเผยแพร่ให้ความรู้ในเรื่องราวต่างๆ มากมายสร้างสังคมในการเรียนรู้ หากใครคิดว่ามันมีประโยชน์ก็สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้เลยโดยไม่ต้องตอบแทนกลับมา
ยืนหยัด เข้มแข็ง และกล้าหาญ (Stay Strong & Be Brave)
ขอเป็นกำลังใจให้คนดีทุกคนในการต่อสู้ความอยุติธรรม ในยุคสังคมที่คดโกงยึดถึงประโยชน์ส่วนตนและพวกฟ้องมากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวม จนหลายคนคิดว่าพวกด้านได้อายอดมักได้ดี แต่หากยึดคำในหลวงสอนไว้ในเรื่องการทำความดีเราจะมีความสุขครับ

CT51 Outsourcing และ Offshoring ยาวิเศษต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันจริงหรือไม่

ลิขสิทธิ์ สำนักโลจิสติกส์

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่

ผู้เขียน...ดร.นันทิ สุทธิการนฤนัย

ศิวณัส  อรรฐาเมศร์

ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ความเจริญก้าวหน้าของระบบการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก ได้มีการพัฒนาทางด้านโครงสร้างพื้นฐานของการเชื่อมต่อส่งถ่ายข้อมูลผ่านทางอินเตอร์เน็ต และมีการใช้อีเมล์อย่างกว้างขวาง การพัฒนาเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นให้การค้าและการลงทุนระหว่างทวีปทั่วโลกขยายตัวอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง ประเทศที่พัฒนาแล้วได้มีการย้ายฐานการผลิตสินค้าไปยังประเทศที่มีค่าแรงที่ถูกกว่าเพื่อลดต้นทุนในการผลิตลง

ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ความเจริญก้าวหน้าของระบบการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก ธุรกิจการเดินเรือถือเป็นธุรกิจหลักธุรกิจหนึ่งที่ส่งเสริมและเร่งให้เกิดการขยายตัวในการค้าขาย การขนส่งสินค้า และวัตถุดิบระหว่างทวีปต่างๆ ทั่วโลก (Global Trade) นอกจากนั้น การนำระบบการจัดส่งสินค้าผ่านทางตู้ขนส่งสินค้า (Container) มาใช้อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นทางเรือหรือทางบก ได้ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในขั้นตอนการขนส่งสินค้า ไม่ว่าจะเป็นการนำสินค้าใส่เข้าตู้ การจัดเรียงตู้บนเรือบรรทุกสินค้าหรือรถขนส่ง การขนย้ายตู้จากทางเรือมาทางบก หรือจากทางบกไปทางเรือ นอกจากนั้นยังรวมไปถึงการเดินเอกสารระหว่างกรมศุลกากรของประเทศต่างๆ การตรวจติดตามการเดินทางของสินค้าในแต่ละตู้ก็เป็นไปอย่างชัดเจน  ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารก็ได้พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด ได้มีการพัฒนาทางด้านโครงสร้างพื้นฐานของการเชื่อมต่อส่งถ่ายข้อมูลผ่านทางอินเตอร์เน็ต และมีการใช้อีเมล์อย่างกว้างขวาง

การพัฒนาเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นให้การค้าและการลงทุนระหว่างทวีปต่างๆ ทั่วโลกขยายตัวอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง ประเทศที่พัฒนาแล้วได้มีการย้ายฐานการผลิตสินค้าไปยังประเทศที่มีค่าแรงที่ถูกกว่าเพื่อลดต้นทุนในการผลิตลง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าประเภทเครื่องนุ่งห่ม รวมไปถึงรองเท้า ที่ย้ายฐานการผลิตไปจีน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ย้ายฐานการผลิตไปไต้หวันและมาเลเซีย หลังจากที่ย้ายฐานการผลิตไปประเทศที่มีค่าแรงถูกแล้ว ก็จะมีการขนส่งสินค้าที่ผลิตเสร็จแล้วกลับมาขายยังประเทศของตัวเอง ถ้ามองในแง่ของธุรกิจแล้ว ค่าใช้จ่ายของการขนส่งสินค้าข้ามทวีปถือว่าถูกมาก เพราะสามารถขนส่งมาทางเรือเป็นล็อตใหญ่ๆ ได้ ซึ่งในบางอุตสาหกรรมอย่างเช่นเครื่องนุ่งห่มมีค่าใช้จ่ายในการขนส่งอาจคิดเป็นไม่ถึงสองเปอร์เซ็นต์ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ซึ่งถ้าเทียบกับต้นทุนในรูปตัวเงินในด้านแรงงานที่สามารถลดลงได้ถือว่าคุ้มมากกว่า  ดังนั้นบริษัทส่วนใหญ่ที่มีขีดความสามารถในด้านการลงทุนต่างพากันปิดโรงงานในประเทศของตัวเองและย้ายฐานการผลิตไปประเทศที่ค่าแรงถูกกว่า 

อย่างไรก็ตาม การย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศต่างๆ สามารถที่จะแบ่งแยกออกได้เป็นสองกรณีหลัก คือการย้ายฐานการผลิตเพื่อที่จะทำการผลิตสินค้ารองรับการบริโภคของประเทศหรือภูมิภาคนั้นๆ โดยตรง และการย้ายฐานการผลิต เพื่อไปอาศัยค่าแรงที่ถูกกว่าและส่งสินค้ากลับมาขายในประเทศของตนเอง

การย้ายฐานการผลิตในประเภทแรกนั้น ผู้เขียนเห็นด้วยว่า เป็นกลยุทธ์ที่ทำให้บริษัทได้เปรียบหลาย ประการคือ การที่สามารถใช้คนท้องถิ่นมาทำการผลิตทำให้ได้เปรียบในเรื่องต้นทุนค่าแรงที่ต่ำกว่า  นอกจากนั้น บริษัทเหล่านี้ยังสามารถจัดหาวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นมาใช้ในการผลิตเพื่อลดต้นทุนได้อีกทางหนึ่งข้อดีอีกประการหนึ่งคือ การที่บริษัทมีแหล่งผลิตที่ใกล้ชิดกับผู้บริโภคจะสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วกว่าการมีแหล่งผลิตที่ไกลออกไป  บริษัทที่ใช้กลยุทธ์นี้และประสบความสำเร็จอย่างกว้างขวาง เช่น บริษัท P&G และ ยูนิลิเวอร์ ที่ย้ายฐานการผลิตมายังเอเชีย และผลิตสินค้าป้อนให้ลูกค้าในประเทศต่างๆ ในเอเชีย บริษัทที่มีกลยุทธ์ลักษณะนี้อาจมีการตั้งศูนย์กลางในการผลิตสินค้าประเภทต่างๆ แยกย้ายกันไปในภูมิภาค เพื่อได้ประโยชน์จาก Economy of Scale และจากค่าแรงที่ถูกกว่าไปพร้อมกัน เช่น อาจมีการผลิตสบู่ในประเทศหนึ่ง และส่งไปขายต่อในประเทศต่างๆ ทั่วเอเชีย ในขณะเดียวกัน สินค้าแชมพูก็มีศูนย์กลางการผลิตในอีกประเทศหนึ่ง และถูกส่งไปตอบสนองความต้องการในประเทศอื่น การย้ายฐานการผลิตลักษณะนี้ทำให้บริษัทได้รับประโยชน์จากแรงงานที่ถูกกว่า การมีต้นทุนที่ถูกลงจากการมีการผลิตขนาดใหญ่ การมีต้นทุนวัตถุดิบที่ถูกเนื่องจากใช้วัตถุดิบท้องถิ่นในการผลิต รวมไปถึงการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าท้องถิ่นได้รวดเร็วกว่าด้วย

ส่วนการย้ายฐานการผลิตในประเภทที่สอง ซึ่งเป็นการย้ายฐานการผลิตเพียงเพื่อหวังค่าแรงราคาถูกจากแหล่งอื่น ผู้เขียนมองว่าบริษัทต้องมีความระมัดระวังในการจะกำหนดใช้กลยุทธ์นี้ เพราะสิ่งที่บริษัทได้มาอาจไม่คุ้มกับสิ่งที่บริษัทต้องเสียไป การมีระยะเวลาการขนส่งที่ยาวขึ้นถือเป็นผลเสียอีกอย่างหนึ่งที่บริษัทต้องนำมาพิจารณาด้วย การขนส่งสินค้าทางเรือจากประเทศในแถบเอเชียไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรปใช้เวลายี่สิบกว่าวันถึงหนึ่งเดือน การที่สินค้าค้างอยู่บนเรือเป็นเดือนถือว่าบริษัทต้องเสียเงินเพิ่มในการถือครองสินค้านานขึ้น เพราะถ้าบริษัทสามารถที่จะตั้งโรงงานผลิตใกล้กับแหล่งบริโภคได้แล้ว บริษัทสามารถที่จะขายสินค้าให้ผู้บริโภคได้ทันทีหลังจากที่สินค้าผลิตเสร็จ ต้นทุนในการถือครองสินค้าสามารถคำนวณได้จากมูลค่าของสินค้าและอัตราดอกเบี้ยที่บริษัทต้องเสียไปจากการกู้ยืมเงินมาถือครองสินค้านั้น ผลเสียในด้านที่สองนั้นคือ การที่บริษัทมีโรงงานอยู่ไกลจากแหล่งบริโภค จะมีผลทำให้วงจรของการผลิตจนถึงการจัดส่งให้กับผู้บริโภคคนสุดท้าย หรือที่เราเรียกว่า Cycle Time ยาวขึ้น ผลเสียของการมี Cycle Time ที่ยาวเกินไปคือ การตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของตลาดจะเป็นไปได้ช้ามาก ตัวอย่างเช่น ถ้าบริษัทต้องการจะขายสินค้าในเดือนมิถุนายน บริษัทจะต้องผลิตสินค้าให้เสร็จก่อนเดือนพฤษภาคม เพื่อให้ทันในการจัดส่งลงเรือซึ่งใช้เวลาเป็นเดือน การมี Cycle Time ที่ยาวนั้นนอกจากจะมีผลกระทบโดยตรงต่อกระบวนการที่ต่อเนื่องกันโดยตรงแล้ว ยังมีผลกระทบต่อกระบวนการก่อนหน้าอื่นๆ อีกด้วย เช่น การออกแบบสินค้าก็ต้องมีการออกแบบก่อนเดือนพฤษภาคมเพื่อให้แน่ใจได้ว่ามีการผลิตเสร็จทันก่อนเดือนพฤษภาคม  ถ้าเราเทียบกับบริษัทที่มีแหล่งผลิตอยู่ใกล้กับผู้บริโภคแล้ว จะสามารถเลื่อนการตัดสินใจและกำหนดกระบวนการต่างๆ ให้เข้าไปใกล้ในวันขายได้มากขึ้น เพราะไม่ต้องเสียเวลาจากการรอสินค้าขนส่งมาทางเรือเป็นเดือนตามตัวอย่างนี้ สินค้าสามารถที่จะออกแบบในเดือนพฤษภาคม และเริ่มผลิตในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม หลังจากผลิตเสร็จสามารถนำออกขายในเดือนมิถุนายนได้ทันที ทำให้ลดต้นทุนการถือครองสินค้าไปในตัว ถ้าสินค้านั้นมีความต้องการมากกว่าการผลิตแรกเริ่มเดิมทีที่คาดไว้ ก็สามารถที่จะผลิตเพิ่มและจัดส่งออกสู่ตลาดได้ทันที  ในขณะที่บริษัทที่มีแหล่งการผลิตอยู่ไกลออกไป ต้องบวกเวลาในการขนสินค้าเข้าไปอีกหนึ่งเดือน ซึ่งกว่าที่จะทำการผลิตเสร็จและจัดส่งมาเพิ่มเติม ลูกค้าอาจไม่ต้องการสินค้าแล้วก็เป็นได้

การย้ายฐานการผลิตไปยังแหล่งที่มีแรงงานราคาถูกกว่า อาจมีความเหมาะสมในกรณีที่ความต้องการสินค้ามีการเปลี่ยนแปลงไม่บ่อย สินค้าไม่ได้อิงกับ Fashion และ Trend ความนิยมในสินค้าไม่ได้รับผลกระทบจากการขนส่งสินค้าที่ยาวนาน นอกจากนั้น การย้ายฐานการผลิตไปใกล้กับแหล่งการบริโภคเพื่อขายให้กับคนในท้องถิ่นโดยตรงจะเป็นการเพิ่มความสามารถในการตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในท้องถิ่นได้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการย้ายฐานการผลิตเพื่อมุ่งเน้นแรงงานราคาถูกอย่างเดียวนั้นอาจสร้างผลเสียมากกว่าผลดี ถ้าความต้องการของสินค้านั้นมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยและเร็ว ธุรกิจจะต้องนำต้นทุนในเรื่องของเวลา Cycle Time ที่ยาวขึ้น การถือครองสินค้าที่ยาวนานขึ้น และความสามารถในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดที่ลดลงมาร่วมวิเคราะห์ด้วย เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าการย้ายฐานการผลิตจะสร้างประโยชน์ให้กับบริษัทมากว่าผลเสียที่จะตามมา

--------------------------------

สนใจบทความฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติม ดาวน์โหลดที่เอกสารแนบด้านล่าง

สนใจบทความอื่นในชุดนี้คลิกดูได้ตามหัวข้อด้านล่าง

CT51 เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551

เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ปี 2551” จึงเป็นการนำบทความดังกล่าวที่น่าสนใจจำนวน 80 บทความ นำมาจัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกสำหรับผู้สนใจในการศึกษากรณีศึกษาความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล

 --------------------------------

ที่มา

เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551

โดย สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ 

ขอต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์
www.iok2u.com
แหล่งข้อมูลสารสนเทศเพื่อคุณ

เว็บไซต์ www.iok2u.com นี้เกิดมาจาก แรงบันดาลใจในภาพยนต์เรื่อง Pay It Forward โดยมีเป้าหมายเล็ก ๆ ที่กำหนดไว้ว่า ทุกครั้งที่เข้าเรียนสัมมนาหรืออบรมในแต่ละครั้ง จะนำความรู้มาจัดทำเป็นบทความอย่างน้อย 3 เรื่อง เพื่อมาลงในเว็บนี้
ความตั้งใจที่จะถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับมาทำการถ่ายทอดต่อไป และหวังว่าจะมีคนมาอ่านแล้วเห็นว่ามีประโยชน์นำเอาไปใช้ได้ หากใครคิดว่ามันมีประโยชน์ก็สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้เลย โดยอาจไม่ต้องอ้างอิงที่มาหรือมาตอบแทนผู้จัด แต่ขอให้ส่งต่อหากคิดว่ามันดีหรือมีประโยชน์ เพื่อถ่ายทอดความรู้และสิ่งดี ๆ ต่อไปข้างหน้าต่อไป Pay It Forward