CT51 การพัฒนาโซ่อุปทานโดยใช้ RFID
ลิขสิทธิ์ © พ.ศ.2551 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ผู้เขียน ผศ.ดร.สถาพร อมรสวัสดิ์วัฒนา
บทนำ
การนำเทคโนโลยี Radio Frequency Identification (RFID) มาใช้ในการลดต้นทุนในโซ่อุปทาน โดยสามารถสนับสนุนความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และส่งผลต่อการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามการนำ RFID มาใช้ในการบริหารโซ่อุปทานยังมีอุปสรรคหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นด้านการตลาด ความปลอดภัย เป็นต้น
คำสำคัญ การจัดการโซ่อุปทาน, บาร์โค้ด, Universal Coding System
เทคโนโลยี RFID
ความพยายามในการลดต้นทุนของโซ่อุปทานของผู้ผลิต ผู้กระจายสินค้า และผู้ค้าปลีก ส่งผลให้มีการนำเอาเทคโนโลยีของ RFID มาใช้ในโซ่อุปทาน ซึ่งเทคโนโลยี RFID เป็นแท็กชื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แสดงตัวตนของวัตถุต่างๆ ในอนาคตเทคโนโลยี RFID จะมีราคาถูกลงจนสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ในอุตสาหกรรมค้าปลีก
จากการที่ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกา เช่น Wal-Mart, Target Corp. และกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาได้กำหนดให้ซัพพลายเออร์ใช้เทคโนโลยี RFID ทำให้เกิดการขยายตัวของการใช้ RFID เข้าสู่กระบวนการของโซ่อุปทาน เช่น Wal-Mart ได้กำหนดให้ซัพพลายเออร์รายใหญ่ 100 รายแรกติดตั้งชิพ RFID ลงบนกล่องและพาเลททุกชิ้นที่จะนำส่ง Wal-Mart ตั้งแต่ 1 มกราคม 2548 และให้ซัพพลายเออร์อีก 200 ราย ติดตั้งระบบ RFID ให้แล้วเสร็จภายใน 1 มกราคม 2549
จากการศึกษาของไรลีย์ ในวารสาร AMR Research ปี 2548 ซึ่งได้ทำการสำรวจบริษัท 500 แห่งในการใช้เทคโนโลยี RFID ระหว่างปี 2548 ถึง 2550 แสดงดังในรูปที่ 1
ที่มา: งานวิจัยเรื่อง “RFID: an enabler of supply chain operations” โดย Mohsen Attaran ในวารสาร Supply Chain Management: An International Journal ฉบับที่ 12 เล่มที่ 4 ปี 2007 หน้า 249-257.
รูปที่ 1 สถานะของการใช้ RFID ของผู้ประกอบการ
จากรูปที่ 1 จะเห็นว่า 31% ของผู้ตอบได้มีการใช้หรือทดลองใช้ RFID แล้ว ในขณะที่ 69% จะมีการพิจารณาการใช้ RFID โดยมีงบประมาณการใช้ RFID เฉลี่ยที่ 548,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2548 เป็น 771,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2551 ในขณะที่มีบริษัทจำนวน 18% ยังไม่มีแผนในการใช้ RFID
ส่วนประกอบของ RFID
แท็ก (Tag)
แท็ก RFID เป็นชิพที่ติดกับสินค้าหรือพาเลทหรือกล่องของสินค้า ใช้เก็บและส่งข้อมูลของสินค้าที่เกี่ยวข้อง แท็กทำมาจากขดลวดทองแดงที่มีไอซี (Integrated Circuit) ต่อกับเสาอากาศที่บรรจุไว้ในภาชนะที่เหมาะสมและมีรูปทรงหลากหลาย ข้อมูลจะถูกเก็บในตัวไอซีและส่งผ่านทางเสาอากาศไปยังตัวอ่าน
แท็ก RFID แบ่งได้เป็นแบบ Passive (ไม่มีแบตเตอรี) ซึ่งมีราคาถูกกว่า หรือแบบ Active (มีแบตเตอรี) แท็กแบบ Passive ใช้พลังงานจากตัวอ่าน RFID ทำให้มีอายุการใช้งานนาน และมีราคาเฉลี่ยที่ประมาณ 0.05 เหรียญสหรัฐต่อชิ้น ในขณะที่แท็กแบบ Active ใช้พลังงานจากแบตเตอรีในตัวเอง แท็กแบบ Active จะเหมือนเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่สามารถรับ เก็บ และส่งข้อมูลของสินค้าไปยังตัวอ่าน RFID แท็กแบบนี้มีต้นทุนเฉลี่ยที่ 4-20 เหรียญสหรัฐต่อชิ้น
ข้อดีของแท็ก RFID คือสามารถส่งข้อมูลได้ในปริมาณที่มากกว่าบาร์โค้ด โดยที่บาร์โค้ดรองรับข้อมูลได้ไม่เกิน 12-15 ตัวอักษร แต่ RFID สามารถรองรับได้ถึง 94 ตัวอักษร
ตัวอ่าน (Reader)
ตัวอ่าน RFID เป็นตัวรับและส่งสัญญาณวิทยุควบคุมโดยไมโครโปรเซสเซอร์ที่สื่อสารกับแท็ก RFID ตัวอ่านจะใช้เสาอากาศในการรับข้อมูลจากแท็กและส่งต่อไปยังคอมพิวเตอร์สำหรับประมวลผล ตัวอ่าน RFID มีระยะการอ่านค่าจากไม่กี่เซนติเมตรไปจนถึง 2-3 เมตร ตัว Reader มีหลายขนาดและมีราคาประมาณ 500 เหรียญสหรัฐ
คอมพิวเตอร์
ข้อมูลที่เก็บได้จากแท็กจะส่งผ่านสายเคเบิลหรือสัญญาณไร้สาย (Wireless) ไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ในรูปแบบเดียวกันกับการสแกนข้อมูลจากระบบบาร์โค้ด เพื่อทำการประมวลผลและเก็บข้อมูล
การประยุกต์ใช้ RFID ในอุตสาหกรรมต่างๆ
ปัจจัยต่างๆ เช่น ข้อกำหนดจากผู้ค้าปลีกรายใหญ่ ความร่วมมือของซัพพลายเออร์ และข้อมูลความต้องการของลูกค้าที่ชัดเจน เป็นตัวเร่งความจำเป็นในการใช้เทคโนโลยี RFID โดยที่เทคโนโลยี RFID สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย เช่น การควบคุมการเข้าออกของตัวอาคาร การติดตามเอกสาร การตรวจสอบย้อนกลับในปศุสัตว์ การพิสูจน์ความแท้จริงของสินค้า การชำระเงินแบบ Wireless นอกจากนี้ RFID ยังสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น
- การขนส่งและการกระจายสินค้า
ระบบ RFID ช่วยให้ซัพพลายเออร์ค้นหาที่ตั้งของพาเลทได้อย่างถูกต้อง ติดตามตรวจสอบที่การไหลของวัตถุดิบและสินค้าภายในโซ่อุปทาน และสามารถค้นหาเส้นทางในการส่งสินค้าต่อไปได้
- อุตสาหกรรมค้าปลีก
แท็ก RFID ใช้ในการรวบรวมข้อมูลเมื่อสินค้าได้มีการเคลื่อนย้ายจากชั้นวางสินค้าไปยังเคาน์เตอร์ชำระเงิน ซึ่งสามารถลดต้นทุนของแรงงานและขั้นตอนที่ล่าช้าได้ นอกจากนี้ยังสามารถป้องกันการขโมยสินค้า และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในร้านค้าได้ โดย RFID ยังสามารถทำให้กิจกรรมในการจัดซื้อสินค้า การบริหารสินค้าคงคลังทำได้ถูกต้อง แม่นยำมากขึ้น สำหรับประโยชน์ของบริษัท Wal-Mart ที่ได้จากการใช้ RFID สามารถแสดงได้ดังตารางที่ 1
ที่มา: งานวิจัยเรื่อง “RFID: an enabler of supply chain operations” โดย Mohsen Attaran ในวารสาร Supply Chain Management: An International Journal ฉบับที่ 12 เล่มที่ 4 ปี 2007 หน้า 249-257.
ตารางที่ 1 ประโยชน์ที่ได้จากการใช้ RFID ของ Wal-Mart
- อุตสาหกรรมการผลิต
ผู้ผลิตได้ใช้ RFID ในการสร้างความแม่นยำในการผลิต โดยที่ RFID สามารถใช้ในการติดตามชิ้นงานได้ตลอดที่อยู่ในสายการผลิต นอกจากนี้ RFID จะใช้ในการติดตามการใช้งาน ที่ตั้ง และการบำรุงรักษาอุปกรณ์ขนถ่ายวัสดุ
- อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร
RFID สามารถใช้ในการตรวจสอบย้อนกลับ (Food Traceability) ในอาหาร เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าอาหารที่ทำการบริโภคมีความสะอาด ปลอดภัยในการบริโภค และสามารถหาแหล่งที่มาจนถึงซัพพลายเออร์ขั้นต้นของอาหารได้ ซึ่งการใช้ RFID ส่งผลให้ทางบริษัทสามารถลดต้นทุนจากการเรียกคืนสินค้ากลับ และข้อร้องเรียนจากลูกค้าได้
อุปสรรคที่สำคัญ
แม้ว่าการใช้ RFID จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อองค์กร แต่การใช้ RFID ยังไม่ได้การยอมรับอย่างแพร่หลาย เนื่องจากการใช้ RFID ต้องใช้เงินลงทุนสูงและไม่เห็นผลชัดเจนในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งในการลดต้นทุนของแท็ก RFID ต้องทำการลดขนาดของชิพ แต่การลดขนาดของชิพจะทำให้การผลิตมีราคาแพงมากขึ้นเช่นเดียวกัน
สำหรับอุปสรรคด้านเทคนิคที่สำคัญคือ RFID ยังไม่สามารถนำไปใช้กับโลหะได้ และการใช้เทคโนโลยี RFID ได้สร้างข้อมูลที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นในแต่ละวัน ซึ่งทำให้การจัดการข้อมูลในระบบสารสนเทศขององค์กรมีความยุ่งยากมากยิ่งขึ้น องค์กรจึงต้องมีระบบการบริหารข้อมูลที่สามารถจัดการข้อมูลที่มีปริมาณเป็นจำนวนมากในระยะเวลารวดเร็วได้
ที่มา:
- งานวิจัยเรื่อง “RFID: an enabler of supply chain operations” โดย Mohsen Attaran ในวารสาร Supply Chain Management: An International Journal ฉบับที่ 12 เล่มที่ 4 ปี 2007 หน้า 249-257.
--------------------------------
สนใจบทความฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติม ดาวน์โหลดที่เอกสารแนบด้านล่าง
สนใจบทความอื่นในชุดนี้คลิกดูได้ตามหัวข้อด้านล่าง
CT51 เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ปี 2551” จึงเป็นการนำบทความดังกล่าวที่น่าสนใจจำนวน 80 บทความ นำมาจัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกสำหรับผู้สนใจในการศึกษากรณีศึกษาความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล
--------------------------------
ที่มา
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2551
โดย สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่