CT52 การดำเนินงานด้านโลจิสติกส์ย้อนกลับของอุตสาหกรรม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สถาพร อมรสวัสดิ์วัฒนา
บทนำ
ในการศึกษาการจัดการโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การจัดการกระบวนการแปรรูปและเคลื่อนย้ายวัตถุดิบจนถึงการกระจายสินค้าสำเร็จรูปไปถึงมือลูกค้า ในขณะที่การเคลื่อนย้ายวัตถุดิบหรือสินค้า จากลูกค้าปลายทางกลับไปถึงซัพพลายเออร์ในขั้นต้นนั้นหรือที่เรียกว่าโลจิสติกส์ย้อนกลับ (Reverse logistics) ได้รับความสนใจน้อยกว่า
สภาผู้บริหารโลจิสติกส์ย้อนกลับ (Reverse Logistics Executive Council) ได้กำหนดคำนิยามของโลจิสติกส์ย้อนกลับว่าเป็นกระบวนการของการวางแผน การประยุกต์ใช้ และการควบคุมการไหลของวัตถุดิบ สินค้าคงคลัง สินค้าสำเร็จรูป และข้อมูลที่เกี่ยวข้อง จากจุดที่ทำการบริโภค (Point of Consumption) มายังจุดเริ่มต้น (Point of origin) เพื่อทำการกำจัดอย่างมีประสิทธิภาพหรือดึงมูลค่าเพิ่มของสินค้านี้ออกมาได้อีก
ในปี 2004 มูลค่าของโลจิสติกส์ย้อนกลับในประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ประมาณ 58,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 0.5% ของ GDP และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต่าง ๆ ดำเนินการนำชิ้นส่วนของรถยนต์ที่หมดอายุการใช้งานมาใช้ประโยชน์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีวัตถุอันตรายไม่ว่าจะเป็นสารตะกั่วหรือปรอท ซึ่งจะถูกนำไปทิ้งทุกปีนั้น บริษัทชั้นนำ เช่น Apple, Sony หรือ Dell ได้เริ่มโครงการนำกลับมาใช้ใหม่ โดยที่อัตราการนำกลับมาใช้จะอยู่ที่ 5% ถึง 50% ขึ้นอยู่กับแต่ละอุตสาหกรรม นอกจากนี้โลจิสติกส์ย้อนกลับมีความน่าสนใจมากขึ้นเนื่องจากราคาสินค้าในตลาดโลกที่มีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งบริษัทต่าง ๆ จะนำหลักการของโลจิสติกส์ย้อนกลับมาใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กร ลดต้นทุนในโซ่อุปทาน และสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า อีกทั้งยังสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งหลาย ๆ ประเทศในยุโรปและประเทศแคนาดาได้บังคับใช้กฎหมายในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง
กระบวนการส่งคืนสินค้า
โดยส่วนใหญ่แล้ว บริษัทมีกระบวนการส่งคืนสินค้า ได้แก่การรับสินค้า, การจัดเรียง, การทดสอบ, การจัดเก็บและการส่งสินค้าออกไป สินค้าที่แตกต่างกันจะถูกนำส่งไปในเส้นทางที่ต่างกัน ในขณะเดียวกันสินค้าชนิดเดียวกันแต่มีข้อบกพร่องต่างกัน จะถูกนำส่งไปในเส้นทางที่ต่างกันได้ จากข้อมูลที่ได้จากการสำรวจภาคอุตสาหกรรม กระบวนการส่งสินค้าโดยทั่วไปสามารถแสดงได้ในรูปที่ 1 โดยคำนึงถึงปัจจัยที่สำคัญ เช่น ความต้องการสินค้าสภาพของสินค้าและบรรจุภัณฑ์ การทดสอบและการซ่อมแซมสินค้า ตลาดมือสอง และการกำจัดสินค้า
ที่มา: บทความเรื่อง “An exploration of reverse logistics practices in three companies ในวารสาร Supply Chain Management : An International Journal ฉบับที่ 13 เล่มที่ 5 ปี 2008 หน้า 381-386 โดย Xiaoming Li และ Festus Olorunniwo
แผนภาพที่ 1 กระบวนการส่งคืนสินค้าโดยทั่วไป
กระบวนการส่งคืนสินค้าเริ่มจากการผู้ผลิตหรือร้านค้าปลีกรับสินค้าคืนจากลูกค้าหรือที่เรียกว่าผู้ซื้อเป็นผู้ขับเคลื่อน (Buyer-driven) ซึ่งสินค้าที่ทำการนำส่งคืนจะถูกนำส่งไปยังสถานที่ที่ทำการคัดแยกเพื่อดึงมูลค่าสินค้าที่ยังคงเหลืออยู่ออกให้ได้มากที่สุด
การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและความร่วมมือ
กระบวนการโลจิสติกส์ย้อนกลับมีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เนื่องจากมีความจำเป็นต้องติดตามการเคลื่อนที่ของสินค้าอย่างชัดเจนในโซ่อุปทานและการเข้าถึงฐานข้อมูลระหว่างพันธมิตรเป็นขีดความสามารถในการแข่งขันที่สำคัญของโลจิสติกส์ย้อนกลับเช่นเดียวกันกับโซ่อุปทานทั่วไป
นอกจากนี้การร่วมกันวางแผนพยากรณ์ การวางแผนการผลิตร่วมกับการสร้างตัววัดประสิทธิภาพการผลิตด้วยกัน รวมทั้งการทบทวนกระบวนการของความร่วมมืออย่างสม่ำเสมอเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างองค์กร
วิสัยทัศน์ และความเป็นผู้นำของผู้บริหาร
การสนับสนุนของผู้บริหารมีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นด้สนทรัพยากรบุคคล หรือเงินทุนรวมถึงการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในระบบโลจิสติกส์ย้อนกลับ นอกจากนี้กิจกรรมด้านโลจิสติกส์ย้อนกลับควรกำหนดเป็นงานประจำ/หรือภารกิจหลัก ที่ต้องมีผู้บริหารรับผิดชอบในเรื่องนี้ หากกำหนดเป็นงานชั่วคราวจะทำให้พนักงานขาดความเอาใจใส่ได้
การจัดการโลจิสติกส์ย้อนกลับที่มีประสิทธิภาพจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากมาย เช่น เพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า การปฏิบัติการมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ การวางแผนด้านแรงงาน และการบริหารสินค้าคงคลัง นอกจากนี้ยังส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินการลดลงและส่งเสริมให้ลูกค้าสามารถสร้างกระบวนการออกแบบและพัฒนาสินค้าได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ประเด็นอื่น ๆ
ในบางกรณีของโลจิสติกส์ย้อนกลับ สินค้าส่วนใหญ่จะมีกระบวนการจัดการให้สามารถมาวางจำหน่ายได้อีก ทั้งนี้อาจจะมีการดัดแปลงหรือแก้ไขสินค้านั้นก็ได้ เนื่องจาก 75% ของสินค้าที่ถูกส่งกลับคืนไม่ได้เป็นสินค้าที่ชำรุดหรือบกพร่อง แต่จะเป็นสินค้าที่ถูกส่งคืนเนื่องจากไม่มีข้อมูลที่ถูกต้อง หรือมีข้อมูลที่ผิดพลาด ส่วนสินค้าที่เหลืออาจจะถูกส่งไปขายต่อที่ตลาดมือสองหรือแยกเพื่อนำเอาชิ้นส่วนไปใช้งานต่อหรืออาจจะนำไปกำจัดก็ได้
สรุป
โลจิสติกส์ย้อนกลับมีผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กรได้ โดยมีส่วนในการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า พร้อมทั้งเป็นการนำมูลค่าของสินค้าที่อยู่จะยังคงเหลือในสินค้าที่ส่งคืนกลับมาใช้ได้อีก นอกจากนี้การสนับสนุนของผู้บริหารโดยการกำหนดเรื่องของการส่งคืนสินค้าเป็นงานประจำหรือภารกิจหลักขององค์กร จะสามารถส่งเสริมระบบโลจิสติกส์ย้อนกลับให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นได้
ที่มา: บทความเรื่อง “An exploration of reverse logistics practices in three companies ในวารสาร Supply Chain Management : An International Journal ฉบับที่ 13 เล่มที่ 5 ปี 2008 หน้า 381-386 โดย Xiaoming Li และ Festus Olorunniwo
.
สนใจบทความฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติม ดาวน์โหลดที่เอกสารแนบด้านล่าง
--------------------------------
ดูบทความอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2552
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” จึงเป็นการนำบทความดังกล่าวที่น่าสนใจจำนวน 15 บทความ จัดทำเป็นรูปเล่ม เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกสำหรับผู้สนใจในการศึกษาความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล
--------------------------------
ที่มา
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2552
โดย สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่