iok2u.com แหล่งรวมข้อมูลข่าวสารเรื่องราวน่าสนใจเพื่อการศึกษาแลกเปลี่ยนและเรียนรู้

ยืนหยัด เข้มแข็ง และกล้าหาญ (Stay Strong & Be Brave)
ขอเป็นกำลังใจให้คนดีทุกคนในการต่อสู้ความอยุติธรรม ในยุคสังคมที่คดโกงยึดถึงประโยชน์ส่วนตนและพวกฟ้องมากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวม จนหลายคนคิดว่าพวกด้านได้อายอดมักได้ดี แต่หากยึดคำในหลวงสอนไว้ในเรื่องการทำความดีเราจะมีความสุขครับ
Pay It Forward เป้าหมายเล็ก ๆ ในการส่งมอบความดีต่อ ๆ ไป
เว็ปไซต์นี้เกิดจากแรงบันดาลใจในภาพยนต์เรื่อง Pay It Forward ที่เล่าถึงการมีเป้าหมายเล็ก ๆ กำหนดไว้ให้ส่งมอบความดีต่อไปอีก 3 คน หากใครคิดว่ามันมีประโยชน์ก็สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้เลยโดยไม่ต้องตอบแทนกลับมา อยากให้ส่งต่อเพื่อถ่ายทอดต่อไป
มิสเตอร์เรน (Mr. Rain) และมิสเตอร์เชน (Mr. Chain)
Mr. Rain และ Mr. Chain สองพี่น้องในโลกออฟไลน์และออนไลน์ที่จะมาร่วมมือกันสร้างสื่อสารสนเทศ เพื่อเผยแพร่ให้ความรู้ในเรื่องราวต่างๆ มากมายสร้างสังคมในการเรียนรู้ หากใครคิดว่ามันมีประโยชน์ก็สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้เลยโดยไม่ต้องตอบแทนกลับมา

CT52 การเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม กรณีศึกษา บริษัท TTT

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วันชัย  รัตนวงษ์

สาขาวิศวกรรมโลจิสติกส์  คณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ถนนวิภาวดีรังสิต  เขตดินแดง  กรุงเทพฯ 10400

โทรศัพท์: 0-2697-6707,  โทรสาร: 0-2275-4892, E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. 

บทคัดย่อ

บริษัท TTT เป็นหน่วยงานภาครัฐที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2543 บริษัทได้ปล่อยดาวเทียม THEOS ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรกของประเทศไทยขึ้นสู่วงโคจรเป็นที่เรียบร้อย โดยมุ่งหวังว่าจะสามารถรองรับความต้องการของภาครัฐภายในประเทศไทยอย่างเต็มที่มากขึ้น ที่ผ่านมา บริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายภาพถ่ายและรับสัญญาณดาวเทียมจากหลายประเทศ  ปัจจุบันความต้องการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมจากผู้ใช้ในแถบตะวันตกและเอเชียมีสูงขึ้นเฉลี่ย 9-14% ต่อปี โดยมีแนวโน้มการนำข้อมูลภาพไปประยุกต์ใช้ด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การศึกษาครั้งนี้มีการเสนอแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพใน 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 การทำงานของขั้นตอนการให้บริการของบริษัท และส่วนที่ 2 ความสามารถในการผลิตข้อมูลภาพถ่ายเพื่อรองรับความต้องการภาพถ่ายดาวเทียมในอนาคตของผู้ใช้บริการ

วัตถุประสงค์ของการศึกษาประกอบด้วย การลดขั้นตอนการให้บริการ  การปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบสืบค้น และการคำนวณหากำลังการผลิต (capacity) ที่จะรองรับการขยายตัวของยอดขายของดาวเทียม THEOS โดยนำข้อมูลการพยากรณ์ยอดขายของดาวเทียม SPOT มาเปรียบเทียบ และเพื่อสร้างความเป็นมาตรฐาน สากลและให้เป็นที่ยอมรับจากหน่วยงานต่างประเทศมากขึ้น รวมถึงกระตุ้นยอดขาย  จากการศึกษาพบว่าการเสนอให้ใช้ web service โดยให้มีการสั่งซื้อผ่านระบบออนไลน์แทนขั้นตอนการให้บริการข้อมูลภาพถ่ายในบริษัทแบบเดิม จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของระยะเวลาที่ใช้เฉลี่ยได้ถึง 92.56% สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของขั้นตอนการให้บริการได้ 33.33% และสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้เดือนละ 40,000 บาท หรือปีละ 480,000 บาท สำหรับการคำนวณหากำลังการผลิต (ที่ต้องการในอนาคต) ผู้ศึกษาได้นำข้อมูลยอดขายของดาวเทียม SPOT ในแต่ละเดือนของสินค้าแต่ละประเภทมาพยากรณ์ยอดขายในอีก 10 ปีข้างหน้า ด้วยวิธี Linear Trend หาค่าความน่าจะเป็นของสินค้าแต่ละประเภท เพื่อนำข้อมูลมารันโปรแกรม Awesim  ผลที่ได้คือบริษัทสามารถรองรับการผลิตได้สูงสุด 18 ภาพต่อวันหากผลิตมากกว่า 18 ภาพ จะเกิดการรอคอยกับสินค้า E เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีการสั่งผลิตมากที่สุด

คำสำคัญ: การพยากรณ์, แบบจำลองสถานการณ์

 

บทนำ

บริษัท TTT  เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้น ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านดาวเทียมสำรวจทรัพยากรเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งเพื่อความมั่นคงของประเทศ  มีภารกิจหลักในการให้บริการภาพจากดาวเทียมและข้อมูลภูมิสารสนเทศทั้งภายในและต่างประเทศ ตลอดจนส่งเสริมการประยุกต์ใช้ภาพจากดาวเทียมในหลายสาขา รวมถึงถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนาบุคลากร

บริษัท TTT ได้ดำเนินการรับสัญญาณ ผลิตและให้บริการข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงต่างๆ อาทิ  LANDSAT, SPOT, RADARSAT แก่หน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่สถานีรับสัญญาณภาคพื้นดินของบริษัท TTT  ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม เป็นศูนย์กลางของประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มีรัศมีการรับสัญญาณครอบคลุม 17 ประเทศ ทำให้บริษัท TTT สามารถรับสัญญาณภาพจากดาวเทียมและเป็นคลังข้อมูลขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ บริษัท TTT  ยังเป็นสถานีเครือข่ายของกลุ่มสถานีรับสัญญาณดาวเทียมทั่วโลก

กลุ่มผู้ใช้บริการแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังภาพที่ 1 ได้แก่

1. หน่วยงานราชการ

2. สถาบันการศึกษา

3. บริษัทเอกชน

4. หน่วยงานต่างประเทศ

ตลาดข้อมูลดาวเทียมมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในอัตรา 9 – 14% ต่อปี  เนื่องจากผู้ใช้ข้อมูลตระหนักถึงประโยชน์ของภาพจากดาวเทียม ตลอดจนมีการนำ GIS มาช่วยอำนวยความสะดวกในการวิเคราะห์และวางแผนอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ นโยบายของรัฐบาลก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ตลาดมีการเจริญเติบโตด้วยเช่นกัน คู่แข่งของเราในอนาคต คือ ดาวเทียมของประเทศจีน 2 ดวง ได้แก่ CBERS-3 / 4 (China Brazil Earth Resources Satellite-3 / 4)

2. ทฤษฎีและวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง

2.1 กลยุทธ์การแข่งขัน (Competitive Strategy)

Supply Chain Management จัดเป็นการจัดการระดับยุทธศาสตร์ (Strategy) โดยมีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน (Core Competency) ซึ่งจะต้องนำการวิเคราะห์ที่เรียกว่า SWOT Analysis มาประกอบในการจัดทำแผน เพื่อที่จะได้จัดวางแผนกลยุทธ์ที่เหมาะสม โดยแผนยุทธศาสตร์ที่จะนำมาใช้กับ Supply Chain Management จะต้องมีเป้าหมาย เพื่อช่วยทำให้มีความแม่นยำเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผลที่ได้จะต้องมีการกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์ ดังนี้

2.1.1 ยุทธศาสตร์แบบบูรณาการ (Integration) การประสานความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ คนที่ทำนั้นทำด้วยการมีเป้าหมายร่วมกัน

2.1.2 ยุทธศาสตร์นำด้วยเทคโนโลยี (Technology Strategy)

2.1.3 การสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมถึงระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพมาใช้ผสมผสานในการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน โดย Logistics & Supply Chain

2.1.4 ยุทธศาสตร์นำด้วยความพอใจของลูกค้า (Customer Satisfaction)

2.2 การจัดการ “RIMS” คือ การจัดการความสัมพันธ์ (Relation Management) เป็นงานที่มีความสำคัญสูงสุด ซึ่งต้องศึกษาถึง CRM หรือ การจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relationship Management) โดยในปัจจุบันถือเป็นหัวใจของการจัดการทางการตลาดสมัยใหม่ ถ้ามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน การจัดการ “RIMS” ก็จะง่ายขึ้นอย่างมากในบางทฤษฎีอาจจะเรียกว่า 5 FIRMS คือเพิ่มปัจจัย Found คือรายได้หรือทุน ซึ่งใช้ในการดำเนินการใน Logistics & Supply

2.3 การวางแผนงานระบบ Logistics นั้น จะต้องพิจารณาถึงเป้าหมายในการให้บริการลูกค้า (Customer service goals) และการตัดสินใจในส่วนต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบหลักของระบบโลจิสติกส์ควบคู่กัน ดังนี้

- การจัดตั้งสถานที่ประกอบการหรือคลังสินค้า (Facilities location)

- การบริหารสินค้าคงคลัง (Inventory management)

- การขนส่ง (Transport)

การวางแผนองค์ประกอบแต่ละส่วนนั้นอาจมีผลกระทบต่อโครงสร้างต้นทุน (Cost Structure) ขององค์กรในทิศทางที่ขัดแย้งกัน (Conflicting) ตัวอย่างเช่น การลดระดับบริการทางการขนส่ง (Transportation service) มีผลทำให้ต้นทุนในการขนส่งลดลง ในขณะเดียวกันก็ส่งผลต่อการเพิ่มของต้นทุนสินค้าคงคลัง (Inventory Cost) ดังนั้นการวางแผนองค์ประกอบต่างๆ จึงควรพิจารณาถึงผลกระทบที่แผนองค์ประกอบนั้นๆ มีต่อต้นทุนในส่วนอื่นๆ ด้วย (Trade-off analysis) โดยใช้หลักการวิเคราะห์ต้นทุนโดยรวม (Total Cost Analysis)

กัลยา อินทรัตน์ชัยกิจ (2004) ได้ทำการวิเคราะห์ยอดขายสินค้าแฟชั่น (ข้อมูลรายเดือน ตั้งแต่ปี 2545-2547) โดยใช้เทคนิคการพยากรณ์เข้ามาช่วย จากการศึกษาพบว่ายอดขายขององค์กรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแบบคงที่แต่ไม่มีความผันแปรตามฤดูกาล และเลือกวิธีการพยากรณ์จากการหาความคลาดเคลื่อน (Error) น้อยที่สุด ผลที่ได้คือบริษัทควรนำเทคนิคการพยากรณ์แบบทำให้เรียบ (Exponential Smoothing Technique) มาทำการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อพยากรณ์ยอดขายสินค้าของบริษัทในอนาคตเกี่ยวกับการจัดจำหน่ายสินค้า

วรรณวิภา เศรณีวิจัยกิจการ (2007) ได้ทำการศึกษาการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโดย
การใช้แบบจำลองสถานการณ์ด้วยคอมพิวเตอร์ : กรณีศึกษาโรงงานผลิตกาแฟแบบคั่วบด จากการศึกษาเห็นว่าการจำลองสถานการณ์ด้วยคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือช่วยตัดสินใจหาแนวทางเพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพได้ วรรณวิภาพบว่าการปรับปรุงประสิทธิภาพสายการผลิตโดยการนำเครื่องคัดแยกสิ่งแปลกปลอมอัตโนมัติเข้ามาใช้ในสายการผลิตแทนพนักงานเพื่อแก้ปัญหาจุดคอขวดที่เกิดขึ้นในสายการผลิต และเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้เพียงพอต่อปริมาณอุปสงค์ในปัจจุบันและ
การขยายตัวของปริมาณอุปสงค์ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตเป็นแนวทางที่มีความเหมาะสมและคุ้มค่าที่สุด แนวทางนี้ สามารถกำจัดแถวคอยที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการคัดแยกสิ่งแปลกปลอม กำจัดการทำงานล่วงเวลาของพนักงาน มีเวลาในการทำงานเฉลี่ยต่อครั้งต่ำ

3. วิธีการดำเนินการวิจัย

จากการวิเคราะห์ข้อมูลของบริษัท พบว่ามี 2 ประเด็นที่เป็นปัญหาใหญ่ขององค์กร ดังแสดงในภาพที่ 2.1 และ 2.2  

จากภาพที่ 2 พบว่าปัญหาด้านความล่าช้าของการผลิตสินค้าตามใบสั่งซื้อเกิดจากปัจจัยภายใน ได้แก่ ขั้นตอนการให้บริการที่มีหลายขั้นตอน เจ้าหน้าที่มีงานประจำอยู่แล้ว กฎระเบียบอิงกับราชการมากเกินไป และปัจจัยภายนอก ได้แก่ การจัดลำดับความสำคัญของเจ้าของสัญญาณและสภาพภูมิอากาศ

จากภาพที่ 3 ปัญหาด้านการสืบค้นหาข้อมูลดาวเทียมผ่านระบบ Catalogue สามารถวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาได้ 2 ด้านด้วยกัน ได้แก่ ด้านระบบที่มีการออกแบบไม่รองรับการใช้งาน ผู้ใช้ต้องมีคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ใช้ภาษา JAVA ในการเปิดระบบ และมีหลายขั้นตอน นอกจากนี้ ระบบ catalogue เป็นระบบใหม่ ผู้ใช้จึงยังไม่รู้จักวิธีการใช้ที่ถูกต้องและไม่มีอุปกรณ์ในการดำเนินการ

4. แนวทางการแก้ไขส่วนที่ 1

จากปัญหาที่เกิดขึ้น ผู้ศึกษาได้เสนอให้นำระบบ web service โดยให้มีการสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์เข้ามาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความล่าช้าหลังการสั่งซื้อสินค้าและความซับซ้อนการใช้ระบบสืบค้นข้อมูลดาวเทียมผ่านระบบ catalogue ดังภาพที่ 4

การสั่งซื้อผ่านระบบออนไลน์แบบใหม่มีขั้นตอนรวมทั้งสิ้น 4 ขั้นตอนได้แก่

1) ผู้ใช้บริการลงทะเบียนสมาชิกเพื่อเข้าสู่ระบบเมื่ออยู่หน้าเวปไซต์ ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาที

2) ผู้ใช้บริการเลือกสินค้าตามต้องการพร้อมทั้งยืนยันการสั่งซื้อ ขั้นตอนนี้ใช้เวลาเฉลี่ย 30 นาที โดยขั้นตอนที่ 1 และ 2  ใช้เจ้าหน้าที่ดูแล 3 คน

3) ฝ่ายผลิต 4 คน รับการสั่งซื้อและเริ่มผลิต

4) ผู้ใช้บริการชำระเงินและรอรับสินค้า ขั้นตอนนี้ใช้เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน 2 คน

ระบบใหม่นี้ ผู้ศึกษาได้ออกแบบให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้ามาลงทะเบียน เลือกซื้อสินค้า แจ้งการชำระเงิน (กรณีโอนเงินผ่านธนาคาร) ตลอดจนสามารถตรวจสอบสถานะการจัดส่ง อีกทั้งมี Call Center ที่ผู้ใช้บริการสามารถโทรสอบถามการใช้ระบบหรือข้อมูลด้านอื่นๆ ได้ด้วย

ผู้เขียนได้ออกแบบเวปไซต์ที่จะให้ผู้ใช้บริการได้สั่งซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ดังภาพที่ 5-11 ดังนี้

แนวทางการแก้ไขส่วนที่ 2

ผู้ศึกษาได้หาวิธีคำนวณหา capacity ที่จะรองรับการขยายตัวของยอดขายของดาวเทียม THEOS โดยการพยากรณ์ยอดขายของดาวเทียม SPOT ในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยมีกระบวนการดังนี้

1. ทำการพยากรณ์การเติบโตของยอดขายของข้อมูลดาวเทียม SPOT เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยใช้วิธี Linear Trend จากการนำข้อมูลจากปี 2549-2551 มาคำนวณ 

2. คำนวณหาค่าความน่าจะเป็น (Probability) ของยอดขายของสินค้าแต่ละประเภท (5 ประเภท) โดยการนำข้อมูลยอดขายของดาวเทียม SPOT ของแต่ละเดือน ระยะเวลา 3 ปี มาทำการหาค่าเฉลี่ยรวม ได้ค่าดังนี้ 34%, 5%, 3%, 23% และ 35% ตามลำดับ

3. คำนวณหากำลังการผลิต โดยทดสอบในแบบจำลองสถานการณ์ด้วยโปรแกรม Awesim

5. ผลการวิเคราะห์

ผู้ศึกษาได้ทำการทดลองนำจำนวนภาพที่ต้องผลิตในแต่ละวันพร้อมกับค่าความน่าจะเป็นของสินค้าแต่ละประเภทมาลงโปรแกรม Awesim พบว่าบริษัทจะมีกำลังการผลิตได้สูงถึง 18 ภาพต่อวัน ใช้เวลาในการผลิตทั้งหมด 343 นาที (1 วัน ทำงาน 480 นาที) โดยหากผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 19 ภาพต่อวัน จะเกิดการรอคอยที่สินค้าประเภท E ที่ 13.64 นาที ใช้เวลาในการผลิต 352 นาที

การวางแผนทรัพยากร ด้านการผลิต

1)  หากต้องผลิตภาพต่อวันมากขึ้น อาจต้องให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตทำงานล่วงเวลา (OT) เพื่อให้ทันกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละวัน

2)  เพิ่มเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตอีก 1 คน เพื่อลดเวลาการรอคอยในสินค้าแต่ละประเภท E ลง

3)  เตรียมของบประมาณ/ ร่างข้อเสนอโครงการเพื่อรองรับกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

4)  มีการพัฒนาบุคลากร โดยอาจส่งไปฝึกอบรมเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์กับนานาประเทศ

ข้อจำกัดในการศึกษาด้วยตนเองครั้งนี้

เนื่องจากผู้ศึกษาทำงานอยู่ในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายบริการและฝ่ายผลิตมาก่อน ดังนั้น เพื่อให้ผู้ศึกษาเข้าใจในขั้นตอนการทำงานเมื่อต้องทำการศึกษาเรื่องนี้จึงต้องหาข้อมูลเป็นจำนวนมาก บางข้อมูลบริษัทสามารถให้ได้ บางข้อมูลเป็นความลับของบริษัทไม่สามารถให้ได้ บางข้อมูลไม่มีการบันทึกไว้ บางข้อมูลมีบ้างขาดบ้าง บางข้อมูลเพิ่งจะเริ่มเก็บ

ข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์ยอดขายของดาวเทียม SPOT เป็นข้อมูลจริงแต่เป็นรายเดือน ไม่มีเป็นรายวัน ผู้ศึกษาจึงใช้ยอดขายรายเดือนในระยะเวลา 3 ปี (ระหว่างปี 2549-2551) มาหาค่าเฉลี่ย นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ข้อมูลการผลิตจะมีการสั่งซื้อล่วงหน้า และฝ่ายผลิตจะมีการวางแผนการผลิตก่อน 1 วัน ซึ่งปัจจุบันการรอคอยจะเกิดเป็นช่วงๆ เท่านั้น

ข้อเสนอแนะ

ระยะสั้น

- มีบริการ call center บริการลูกค้า เพื่อแนะนำการใช้งานระบบและแนะนำระบบให้แก่ผู้ใช้ที่ยังไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับสั่งสินค้า

- มีเจ้าหน้าที่คอยแนะนำการใช้งานของระบบผ่านหน้าเวปไซท์

- มีการฝึกอบรมเกี่ยวกับระบบให้แก่เจ้าหน้าที่และผู้ใช้งานเป็นประจำทุกเดือน

- แจกแผ่นซีดีสาธิตการใช้งานระบบให้แก่ผู้ใช้

- ให้ส่วนลดกับผู้ใช้ที่สั่งซื้อสินค้าผ่านเวปไซท์ เพื่อกระตุ้นเข้าไปใช้งานและให้คุ้นเคยกับระบบ

ระยะกลางและระยะยาว

- หาเครือข่ายพันธมิตรเพื่อประชาสัมพันธ์และหาช่องทางการจัดจำหน่ายภาพถ่ายดาวเทียมให้แก่ผู้ใช้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

- ใช้การสื่อสารในเครือข่ายร่วมกัน เช่น ระบบ intranet

- สร้างการให้บริการแบบ one stop service โดยนำฝ่ายการเงิน บัญชี มาอยู่ร่วมกัน ณ จุดๆ เดียว เพื่อสะดวกในการติดต่อประสานงาน

.

สนใจบทความฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติม ดาวน์โหลดที่เอกสารแนบด้านล่าง

 --------------------------------

ดูบทความอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่

 เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2552

เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” จึงเป็นการนำบทความดังกล่าวที่น่าสนใจจำนวน 15 บทความ จัดทำเป็นรูปเล่ม เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกสำหรับผู้สนใจในการศึกษาความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน  หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล

 --------------------------------

ที่มา

เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2552

โดย สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่

ขอต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์
www.iok2u.com
แหล่งข้อมูลสารสนเทศเพื่อคุณ

เว็บไซต์ www.iok2u.com นี้เกิดมาจาก แรงบันดาลใจในภาพยนต์เรื่อง Pay It Forward โดยมีเป้าหมายเล็ก ๆ ที่กำหนดไว้ว่า ทุกครั้งที่เข้าเรียนสัมมนาหรืออบรมในแต่ละครั้ง จะนำความรู้มาจัดทำเป็นบทความอย่างน้อย 3 เรื่อง เพื่อมาลงในเว็บนี้
ความตั้งใจที่จะถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับมาทำการถ่ายทอดต่อไป และหวังว่าจะมีคนมาอ่านแล้วเห็นว่ามีประโยชน์นำเอาไปใช้ได้ หากใครคิดว่ามันมีประโยชน์ก็สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้เลย โดยอาจไม่ต้องอ้างอิงที่มาหรือมาตอบแทนผู้จัด แต่ขอให้ส่งต่อหากคิดว่ามันดีหรือมีประโยชน์ เพื่อถ่ายทอดความรู้และสิ่งดี ๆ ต่อไปข้างหน้าต่อไป Pay It Forward