CT52 รู้จักระบบโลจิสติกส์ทั่วโลกเพื่อมุ่งสู่ตลาดสากล
ดร.วัชรวี จันทรประกายกุล
บทความนี้จะกล่าวถึงระบบโลจิสติกส์ในภูมิภาคสำคัญของโลก ซึ่งได้แก่ ระบบโลจิสติกส์ในกลุ่มประเทศยุโรป ญี่ปุ่น และอาเซียน การรู้จักระบบโลจิสติกส์ในภูมิภาคต่างๆ นั้น จะทำให้ผู้ประกอบการทราบถึงแนวทางในการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ และยังเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย จากการศึกษาดัชนีความสามารถของการแข่งขันของประเทศ (Global Competitiveness Index) ที่จัดโดย World Economic Forum พบว่ามีความสัมพันธ์กับต้นทุนระบบโลจิสติกส์ (Logistics Cost) อย่างมีนัยสำคัญ โดยกลุ่มประเทศที่มีดัชนีความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่อยู่ในระดับสูงดังตารางที่ 1 จะเป็นกลุ่มในประเทศที่มีการพัฒนาแล้ว และมีต้นทุนโลจิสติกส์ในระดับที่ต่ำ ประมาณ 10% ของ GDP (Gross Domestic Product) โดยกลุ่มประเทศเหล่านี้มีระบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบที่ดี (Multimodal Transport) มีการขนส่งมวลชนสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ และมีโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงกับประเทศอื่นที่ดี
GCI 2009–2010 |
GCI 2008–2009 |
||
Country/Economy |
Rank |
Score |
Rank* |
Switzerland |
1 |
5.60 |
2 |
United States |
2 |
5.59 |
1 |
Singapore |
3 |
5.55 |
5 |
Sweden |
4 |
5.51 |
4 |
Denmark |
5 |
5.46 |
3 |
Finland |
6 |
5.43 |
6 |
Germany |
7 |
5.37 |
7 |
Japan |
8 |
5.37 |
9 |
ตารางที่ 1 The Global Competitiveness Index 2009-2010 rankings and 2008-2009 comparisons โดย World Economic Forum
ในขณะที่ประเทศที่กำลังพัฒนาอาทิเช่น ประเทศไทย หรือประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนายังมีต้นทุนโลจิสติกส์ที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงนั่นคือประมาณ 20% ของ GDP เมื่อวิเคราะห์ตัวเลขต้นทุนโลจิสติกส์ในประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศที่กำลังพัฒนาจะเห็นได้ว่าในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาเสียค่าใช้จ่ายในด้านโลจิสติกส์มากกว่าประเทศพัฒนาแล้วประมาณ 10% ซึ่งนับเป็นมูลค่ามหาศาล ดังนั้นการเรียนรู้ระบบโลจิสติกส์ของภูมิภาคอื่นๆ จึงมีความจำเป็น เพื่อทราบถึงแนวทางในการดำเนินธุรกิจและยังเป็นการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศเพื่อให้เป็นระบบโลจิสติกส์ที่ดีต่อไป
ระบบโลจิสติกส์ที่มีความสำคัญในระดับโลกที่จะกล่าวถึงในบทความนี้มีดังนี้
1. ระบบโลจิสติกส์ในกลุ่มประเทศยุโรปประเทศในยุโรป มีการรวมกลุ่มกันเพื่อการพัฒนาทางการค้าและเศรษฐกิจร่วมกันหรือที่เรียกว่ากลุ่มสหภาพยุโรป โดยมีสมาชิกเริ่มแรกอยู่ที่ 10 ประเทศจนพัฒนาความร่วมมือจนมีสมาชิกในปัจจุบันที่ 27 ประเทศ กลุ่มสหภาพยุโรปมีการใช้ระบบสกุลเงินร่วมกันที่เรียกว่า เงินยูโร ความร่วมมือของสหภาพยุโรปส่งผลถึงระบบโลจิสติกส์ในภูมิภาค มีการเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ และเป็นการขนส่งแบบต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Intermodal Transport) เชื่อมโยงทางถนน ทะเล อากาศ และทางแม่น้ำที่ดี มีท่าเรือสำคัญของโลกได้แก่ ท่าเรือ Antwerp ในเบลเยียม ท่าเรือ Rotterdam ในเนเธอร์แลนด์ มีระบบรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมต่อในประเทศต่างๆ ในกลุ่ม อย่างไรก็ตามระบบโลจิสติกส์ทางประเทศฝั่งตะวันตกจะมีความแตกต่างกับกลุ่มประเทศฝั่งตะวันออก โดยในกลุ่มยุโปตะวันตกจะมีการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ที่ก้าวหน้ามากกว่ากลุ่มประเทศตะวันออก ที่ส่วนใหญ่พึ่งเข้าร่วมเป็นสมาชิกในสหภาพยุโรป ระบบโลจิสติกส์โดยรวมของกลุ่มประเทศยุโรปมีสัดส่วน 7.3% ต่อมูลค่า GDP ในปี ค.ศ. 2008 ดังรูปที่ 1
รูปภาพที่ 1 ต้นทุนโลจิสติกส์ในกลุ่มประเทศยุโรป
กลุ่มประเทศยุโรปมีข้อตกลงในนโยบายร่วมมือกันทางด้านการขนส่งโดยมีมุมมองการพัฒนาเป็นการพัฒนาแบบยั่งยืน หรือ Sustainable Development มีการสร้างตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของนโยบายทางด้านการขนส่งในหลายระดับ เช่น ตัวชี้วัดเพื่อการลดปัญหาจุดคอขวดในเครือข่ายขนส่งของยุโรป จำนวนเส้นทางที่พัฒนาเพื่อการเข้าถึงกลุ่มประเทศที่เป็นสมาชิกใหม่ นอกจากนั้นยังได้ริเริ่มโปรแกรม Trans-European Network (TEN-T) เพื่อเชื่อมต่อยุโรปให้เป็นตลาดเดียว (Single market) ในโปรแกรมดังกล่าวมีการดำเนินโครงการ 30 โครงการที่บางส่วนได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว และบางส่วนกำลังดำเนินโครงการอยู่ โดยเน้นไปที่การสนับสนุนการใช้การขนส่งด้วยรถไฟ ทางแม่น้ำ และขนส่งทางทะเลระยะสั้น โดยมีเป้าหมายในปีค.ศ. 2020 จะมีถนน 89,500 กม. เส้นทางรถไฟ 94,000 กม. ท่าเรือสำหรับการเดินทางทางน้ำ (Inland port) 210 ท่าเรือ ท่าเรือทางทะเล 294 ท่าเรือ และ 366 ท่าอากาศยาน และยังมีการออกนโยบายในการขนส่งทางรถเพื่อให้เป็นมาตรฐานทั้งในภูมิภาค
2. ระบบโลจิสติกส์ในญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีระบบโลจิสติกส์ที่ดีแห่งหนึ่งของโลก โดยมีต้นทุนโลจิสติกส์ที่ต่ำ มีระบบเครือข่ายเชื่อมโยงที่มีประสิทธิภาพ มีสนามบินระหว่างประเทศ 6 สนามบินที่สำคัญ มีสายการบินประจำชาติ 2 สายการบิน มีระบบรถไฟที่มีประสิทธิภาพสูง และถือว่าเป็นระบบขนส่งมีความสำคัญที่สุดของประเทศญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเปิดเส้นทางรถไฟความเร็วสูง (Shinkansen) ในปีค.ศ. 1964 ในปัจจุบันเปิดให้บริการ 8 เส้นทาง การที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับรถไฟความเร็วสูงเพราะเล็งเห็นผลประโยชน์ที่ได้รับดังแสดงในรูปที่ 2 ที่สามารถลดระยะเวลาการเดินทาง การตรงต่อเวลา การขนจำนวนผู้โดยสาร การลดการปล่อยก๊าซ CO2 และลดต้นทุนการเดินทางได้อย่างมหาศาล
รูปภาพที่ 2 การศึกษาประโยชน์ของรถไฟความเร็วสูง
รูปภาพที่ 3 สนามบินและท่าเรือที่สำคัญในญี่ปุ่น
นอกจากนั้นการขนส่งสินค้าในญี่ปุ่นได้ให้ความสำคัญในการขนสินค้าระหว่างด้วยทางทางเรือ เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นมีลักษณะเป็นเกาะ และมีน้ำทะเลล้อมรอบ ระบบการจัดการทางด้านการขนส่งสินค้าจะมีทางด่วนเชื่อมต่อทุกท่าเรือที่สำคัญ และการเดินทางจากทางถนนถึงท่าเรือจะใช้เวลา ไม่เกิน 30 นาที และที่สำคัญญี่ปุ่นยังเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญทางด้านสิ่งแวดล้อม และมีนโยบายในการดำเนินการเพื่อสร้างระบบ Green Logistics ดังรูปที่ 4 โดยแน้นไปที่ความร่วมมือในการจัดการด้านโลจิสติกส์ การขับขี่ปลอดภัยและปลอดมลพิษ การกำหนดเส้นทางหลักในการขนส่ง การออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ สิ่งเหล่านี้ที่ทำให้ญี่ปุ่นมีต้นทุนโลจิสติกส์ที่ต่ำและแข่งขันได้
รูปภาพที่ 4 Green Logistics Roadmap
3. ระบบโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียน
ปัจจุบันอาเซียน มีสมาชิกอยู่ทั้งหมด 10 ประเทศ ดังรูปที่ 5 สัญลักษณ์ของอาเซียนเป็นรูปลักษณะรวงข้าวทั้งสิบที่ผูกมัดกันไว้ เหมือนกับ เพื่อนสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน โดยความร่วมมือของอาเซียนนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และทางการค้า ระบบโลจิสติกส์ในภูมิภาคนี้ยังอาศัยการขนส่งทางรถเป็นหลัก แต่การขนส่งระหว่างประเทศที่สำคัญอีกทางหนึ่งคือทางทะเล ซึ่งในภูมิภาคอาเซียน มีท่าเรือที่สำคัญๆ อยู่หลายแห่ง อาทิเช่น ท่าเรือคลองเตย ท่าเรือแหลมฉบังของประเทศไทย ท่าเรือกลางในประเทศมาเลเซีย และท่าเรือของประเทศสิงคโปร์ซึ่งถือว่าเป็นท่าเรือที่สำคัญที่มีบทบาทในการพักและขนถ่ายสินค้าในระดับโลก เป็นต้น
รูปภาพที่ 5 สมาชิกในกลุ่มอาเซียน
ส่วนระบบขนส่งทางอากาศนั้นในภูมิภาคอาเซียนถือว่าเป็นศูนย์กลางการขนส่งสากล มีท่าอากาศยานชั้นนำที่ติดระดับโลกอาทิเช่น ท่าอากาศยาน Changi ของสิงคโปร์ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของไทย และ ท่าอากาศยานกัวลาลัมเปอร์ของประเทศมาเลเซีย เป็นต้น ในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน ประเทศที่ถือได้ว่ามีระบบโลจิสติกส์ที่ดีและติดอยู่ในอันดับโลกนั้นได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีต้นทุนโลจิสติกส์อยู่ที่ 9% ของ GDP ประเทศสิงคโปร์มีโครงข่ายเส้นทางคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพ สิงคโปร์นับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการขนส่งทางน้ำระหว่างประเทศมากที่สุดในโลก เป็นผู้นำด้านการต่อและซ่อมแซมเรือ และสนามบินชางฮีของสิงคโปร์ (Changi Airport) ได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในศูนย์กลางการบินสำคัญในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังเป็นศูนย์กลางด้านการเงินแห่งหนึ่งของโลก การค้าเงินในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศของสิงคโปร์มีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากลอนดอน นิวยอร์ก และโตเกียว ปัจจุบันบริษัทธุรกิจข้ามชาติต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 7,000 แห่ง มีสำนักงานที่สิงคโปร์
สิงคโปร์เปรียบเสมือนประตูทางคมนาคมทางทะเล ระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับทะเลจีนใต้ และเป็นเสมือนจุดต่อของแผ่นดิน จากผืนแผ่นดินใหญ่ผ่านแหลมมลายู ลงทางใต้ไปสู่อินโดนิเซีย และออสเตรเลีย นอกจากนั้นยังเป็นจุดแวะพัก และจุดคุมการเดินเรือติดต่อระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิคกับมหาสมุทรอินเดีย และได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางทางการค้า การเงิน ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นศูนย์กลางการกลั่นน้ำมัน ที่มีความสำคัญเป็นอันดับสามของโลก
รูปภาพที่ 6 ประเทศสิงคโปร์
การจัดการทางด้านการขนส่งของสิงคโปร์ ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว เพราะทุกอย่างจัดการด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ท่าเรือสิงคโปร์เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงถึงความพยายามในการพัฒนาประเทศให้เป็นเกาะอัจฉริยะ พนักงาน 7,000 คนของท่าเรือนี้ ส่วนใหญ่มีความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์ ระบบเครือข่ายที่มีชื่อว่า “พอร์ตเน็ต” ทำให้สามารถขนถ่ายสินค้าจากเรือคอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดเสร็จในเวลาไม่ถึง 10 ชั่วโมง นวัตกรรมอีกอย่างคือ คนขับรถบรรทุกเข้ามาส่งหรือมารับสินค้าในท่าเรือไม่ต้องใช้เอกสารมากมายอีกต่อไป คอมพิวเตอร์จะจ่ายบัตรผ่านเข้าออกที่มีข้อมูลบอกให้คนขับรู้ว่าจะต้องขับรถไปที่ไหน ทำให้กระบวนการการเข้า-ออกท่าเรือใช้เวลาไม่ถึง 1 นาที
เมื่อกลับมาดูความร่วมมือทางด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียน พบว่ามี โครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการ GMS หรือ Greater Mekong Subregion ที่มีความร่วมมือจาก 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา พม่า ลาว เวียดนาม จีน(ยูนนาน) โครงการดังกล่าวเริ่มในปี พ.ศ.2535 โดยมี Asian Development Bank เป็นผู้ให้การสนับสนุนหลัก โดยโครงการนี้มีความมุ่งหวังในการพัฒนา 9 สาขาจากความร่วมมือ และมีแผนงานที่สำคัญคือการพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ-ใต้ ตะวันออก-ตะวันตก และตอนใต้ ที่นำไปสู่การสร้างและเชื่อมโยงถนนในภูมิภาค (ถนน R1, R2, R3A, R3B, R10) ดังรูปที่ 7 และทางน้ำผ่านแม่น้ำแม่โขง การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ดังกล่าวในภูมิภาคอาเซียนจะเป็นการเปิดโอกาสทางการค้าสากลให้กับประเทศไทยเข้าสู่ประเทศในภูมิภาคเดียวกันได้ง่ายขึ้น
รูปภาพที่ 7 โครงการเครือข่าย GMS
สรุป บทความนี้ได้อธิบายถึงตัวอย่างระบบโลจิสติกส์ที่น่าสนใจ ในการศึกษาเรียนรู้ระบบโลจิสติกส์พื้นฐานของในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก จะเป็นการเปิดโอกาสก้าวสู่การค้าระหว่างประเทศและรู้เท่าทันตลาดโลกของผู้ประกอบการ รวมถึงเป็นแนวทางในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย
.
สนใจบทความฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติม ดาวน์โหลดที่เอกสารแนบด้านล่าง
--------------------------------
ดูบทความอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2552
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” จึงเป็นการนำบทความดังกล่าวที่น่าสนใจจำนวน 15 บทความ จัดทำเป็นรูปเล่ม เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกสำหรับผู้สนใจในการศึกษาความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล
--------------------------------
ที่มา
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2552
โดย สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่