CT52 ระบบโซ่อุปทานรูปแบบใหม่ กรณีศึกษาของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศบราซิล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สถาพร อมรสวัสดิ์วัฒนา
บทนำ
อุตสาหกรรมรถยนต์ ได้มีการขยายตัวและพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นอุตสาหกรรมหลักของโลก และเป็นตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญ รวมทั้งเป็นแหล่งความรู้ทางด้านเทคโนโลยี และการบริหารจัดการที่ใช้อ้างอิงในโลกอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกด้วย อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมรถยนต์ ได้มีการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดโลกทำให้ผู้ประกอบการเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ ได้แก่
- แรงกดดันในการลดต้นทุนการผลิตและระยะเวลาในการส่งมอบสินค้า
- การผลิตสินค้าที่ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- วงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์มีอายุสั้นลง และมีการพัฒนาสินค้าใหม่เข้าสู่ตลาดได้เร็วขึ้น
- การหาตลาดใหม่ทั้งในแง่ของภูมิภาคและผู้บริโภคกลุ่มใหม่
- การติดต่อประสานงานและร่วมมือในโซ่อุปทานให้มีความเหนียวแน่นมากขึ้น
สำหรับประเทศบราซิล ได้มีเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการลงทุนของอุตสาหกรรมรถยนต์ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเม็ดเงินจำนวนหนึ่งจะเป็นการลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตของโรงงานที่มีอยู่เดิม และมีเม็ดเงินจำนวนมากถูกนำไปใช้ในการก่อสร้างโรงงานใหม่ที่ล้ำสมัย ส่งผลให้ประเทศบราซิลกลายเป็นประเทศที่มีระบบการผลิตรถยนต์ที่ดีและทันสมัยแห่งหนึ่งของโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทานและมีผู้ผลิตจากบริษัทชั้นนำทั่วโลก การลงทุนสร้างนวัตกรรมใหม่ในการบริหารโซ่อุปทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบของคอนโดมิเนียมอุตสาหกรรม (Industrial condominium) ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญระดับแนวหน้าของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศบราซิล
คอนโดมิเนียมอุตสาหกรรม (Industrial condominium)
โรงงานผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ 7 แห่ง (Ford, GM, VW, Renault ,PSA ,Daimler Chrysler, และ Toyota) ได้ลงทุนทำการผลิตรถยนต์ในประเทศบราซิลในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งโรงงานเหล่านี้ได้ใช้ระบบ Supply parks ที่เรียกว่า คอนโดมิเนียมอุตสาหกรรม ซึ่งหมายถึง กลุ่มซัพพลายเออร์ทางตรง (Direct suppliers) มีสถานที่ตั้งโรงงานภายในรั้วของผู้ผลิตรถยนต์และมีส่วนร่วมในค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคกับผู้ผลิตรถยนต์รายนั้นอีกด้วย ซัพพลายเออร์ เหล่านี้จะรองรับระบบการผลิตที่ซับซ้อน อาทิ การดำเนินงานแบบ Just-in-time ที่สามารถลดปริมาณสินค้าคงคลังและสนับสนุนการผลิตที่สร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายได้ ในบางครั้งจะเรียกซัพพลายเออร์กลุ่มนี้ว่า “Systemists” โดยที่การประกอบรถยนต์ขั้นสุดท้ายจะดำเนินการโดยผู้ผลิตรถยนต์เท่านั้น
กรณีศึกษาของประเทศบราซิล
กรณีศึกษานี้กำหนดให้มีผู้ผลิตรถยนต์รายหนึ่งที่เป็น Original equipment manufacturer หรือ OEM มีซัพพลายเออร์ขั้นต้น (First-tier suppliers) 2 รายคือ บริษัท A และ บริษัท B และมีซัพพลายเออร์ขั้นที่ 2 (Second-tier suppliers) 2 รายคือ บริษัท C และ บริษัท D โดยที่ซัพพลายเออร์ A หรือ systemist นี้จะตั้งอยู่ในคอนโดมิเนียมอุตสาหกรรมร่วมกับผู้ผลิตรถยนต์ ในขณะที่ซัพพลายเออร์ B, C และ D ตั้งอยู่ภายนอกบริเวณของรั้วโรงงานรถยนต์ดังแสดงในรูปที่ 1
ที่มา: งานวิจัยเรื่อง “New configurations in supply chains: the case of a condominium in Brazil’s automotive industry” โดย Silvio R.I. Pires และ Mario Sacomano Neto ในวารสาร Supply Chain Management: An International Journal ฉบับที่ 13 เล่มที่ 4 ปี 2008 หน้า 328-334.
แผนภาพที่ 1 กรณีศึกษาของโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศบราซิล
จากรูปที่ 1 ผู้ผลิตรถยนต์รายนี้ เป็นเจ้าแรกที่ทำการผลิตในประเทศบราซิล ตั้งแต่ปี 1957 ในเมืองเซาเปาโล มีคนงานประมาณ 20,500 คน โดยที่คนงานของบริษัทมี 15,000 คน ส่วนอีก 5,500 คน ถูกจ้างโดยซัพพลายเออร์ โดยที่โรงงานี้มีกำลังการผลิต 1,600 คันต่อวัน
ด้านการจัดการการผลิต
ผู้ผลิตรถยนต์และซัพพลายเออร์ มีการวางแผนการผลิตร่วมกัน ในการวางแผนการผลิตรวม (Master production schedule - MPS) โดยข้อมูลการวางแผนการผลิตในรอบ 6 เดือนของบริษัทผลิตรถยนต์ จะถูกส่งผ่านระบบการแลกเปลี่ยนอิเล็กทรอนิกส์ (EDI) ไปยังซัพพลายเออร์ทุกราย โดยที่การผลิตในระยะเวลา 2 สัปดาห์ถัดไปจะถูกกำหนดเป็นที่แน่นอนเสมอ
ในการผลิตจะใช้ระบบ Factory Information System หรือ FIS จะนำยอดจองรถจากดีลเลอร์มาคำนวณรุ่นของรถและรูปแบบที่ต้องทำการผลิต ๆ พร้อมทั้งคำนวณจำนวนวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่จำเป็นพร้อมทั้งปริมาณที่ต้องการและระยะเวลาที่ใช้และส่งต่อไปยังซัพพลายเออร์ทุกราย เพื่อส่งมอบชิ้นส่วนที่จำเป็นต่อการผลิต นอกจากนั้นการทำงานในส่วนนี้ยังครอบคลุมไปถึงประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์ การศึกษาการทำงาน วิธีการในการขนส่งชิ้นส่วน และการควบคุมการไหลของวัสดุ ผลจากการใช้คอนโดมิเนียมอุตสาหกรรมพบว่า
- สามารถลดต้นทุนการดำเนินกิจกรรมกับซัพพลายเออร์ได้
- สามารถลดต้นทุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ่านการติดต่อประสานงานภายในคอนโดมิเนียม
- สามารถลดต้นทุนการผลิตและสินค้าคงคลังจากการวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกัน
- สามารถใช้ประโยชน์จากระบบสาธารณูปโภคร่วมกันได้
กระบวนการโลจิสติกส์
โรงงานผลิตรถยนต์มีซัพพลายเออร์ ภายนอกทั้งหมด 400 ราย โดยใช้ระบบการขนส่งแบบวนรอบ (Milk run) และ Kanban ในการดำเนินการมีผู้ให้บริการโลจิสติกส์จากภายนอกเป็นผู้ดำเนินการขนส่งรับวัตถุดิบจากซัพพลายเออร์แบบวนรอบกลับเข้าสู่โรงงาน และบริหารการขนส่งให้มีการบรรทุกทั้งสองขา ทั้งขาไปและขากลับ
ระบบโลจิสติกส์ในคอนโดมิเนียมจะประยุกต์ใช้การผลิตแบบโมดูล (Modularization) ระบบ Kanban ระบบ Just In Time โดยมีการทำการรวบรวมและกระจายชิ้นส่วน (Cross-docking) เป็นส่วนสำคัญในการผลิต
จากการศึกษาพบว่า ถ้ามีซัพพลายเออร์ในบริเวณของโรงงานนั้นจะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ถึง 15 % นอกจากนี้ยังสามารถสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างผู้ผลิตและซัพพลายเออร์ได้อีกด้วย ซึ่งผลจากกรณีศึกษาที่น่าสนใจสามารถแสดงได้ดังตารางที่ 1
ที่มา: งานวิจัยเรื่อง “New configurations in supply chains: the case of a condominium in Brazil’s automotive industry” โดย Silvio R.I. Pires และ Mario Sacomano Neto ในวารสาร Supply Chain Management: An International Journal ฉบับที่ 13 เล่มที่ 4 ปี 2008 หน้า 328-334.
ตารางที่ 1 สรุปประเด็นจากกรณีศึกษาของโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศบราซิล
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการใช้คอนโดมิเนียมอุตสาหกรรมจะสามารถลดต้นทุนของการผลิตผ่านทางความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ระหว่างผู้ผลิตและซัพพลายเออร์ และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าปลายทางได้
ที่มา:
งานวิจัยเรื่อง “New configurations in supply chains: the case of a condominium in Brazil’s automotive industry” โดย Silvio R.I. Pires และ Mario Sacomano Neto ในวารสาร Supply Chain Management: An International Journal ฉบับที่ 13 เล่มที่ 4 ปี 2008 หน้า 328-334.
.
สนใจบทความฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติม ดาวน์โหลดที่เอกสารแนบด้านล่าง
--------------------------------
ดูบทความอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2552
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” จึงเป็นการนำบทความดังกล่าวที่น่าสนใจจำนวน 15 บทความ จัดทำเป็นรูปเล่ม เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกสำหรับผู้สนใจในการศึกษาความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล
--------------------------------
ที่มา
เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2552
โดย สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่