iok2u.com แหล่งรวมข้อมูลข่าวสารเรื่องราวน่าสนใจเพื่อการศึกษาแลกเปลี่ยนและเรียนรู้

ยืนหยัด เข้มแข็ง และกล้าหาญ (Stay Strong & Be Brave)
ขอเป็นกำลังใจให้คนดีทุกคนในการต่อสู้ความอยุติธรรม ในยุคสังคมที่คดโกงยึดถึงประโยชน์ส่วนตนและพวกฟ้องมากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวม จนหลายคนคิดว่าพวกด้านได้อายอดมักได้ดี แต่หากยึดคำในหลวงสอนไว้ในเรื่องการทำความดีเราจะมีความสุขครับ
มิสเตอร์เรน (Mr. Rain) และมิสเตอร์เชน (Mr. Chain)
Mr. Rain และ Mr. Chain สองพี่น้องในโลกออฟไลน์และออนไลน์ที่จะมาร่วมมือกันสร้างสื่อสารสนเทศ เพื่อเผยแพร่ให้ความรู้ในเรื่องราวต่างๆ มากมายสร้างสังคมในการเรียนรู้ หากใครคิดว่ามันมีประโยชน์ก็สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้เลยโดยไม่ต้องตอบแทนกลับมา
Pay It Forward เป้าหมายเล็ก ๆ ในการส่งมอบความดีต่อ ๆ ไป
เว็ปไซต์นี้เกิดจากแรงบันดาลใจในภาพยนต์เรื่อง Pay It Forward ที่เล่าถึงการมีเป้าหมายเล็ก ๆ กำหนดไว้ให้ส่งมอบความดีต่อไปอีก 3 คน หากใครคิดว่ามันมีประโยชน์ก็สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้เลยโดยไม่ต้องตอบแทนกลับมา อยากให้ส่งต่อเพื่อถ่ายทอดต่อไป

CT52 การจัดการความเสี่ยงในโซ่อุปทาน

ดร. วัชรวี จันทรประกายกุล

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ได้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่น่าพึงประสงค์หลายแห่งในโลก อาทิเช่น เหตุการณ์ก่อการร้ายในประเทศอเมริกา เหตุการณ์สึนามิในเมืองไทย เหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศจีน พายุไต้ฝุ่นถล่มประเทศฟิลิปปินส์ หรือแม้แต่การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัด H1N1  สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดจากการคาดการณ์ล่วงหน้า และแน่นอนว่าต้องมีผลกระทบต่อสภาวะธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศที่ได้เกิดเหตุการณ์เหล่านั้น แล้วเหตุการณ์เหล่านี้มีผลกระทบกับโซ่อุปทานอย่างไร และบริษัทหรือองค์กรต่างๆ ต้องมีความพร้อมกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ต่างๆ ทีส่งผลกระทบต่อตนเองได้อย่างไร ในบทความนี้จะกล่าวถึงการจัดการความเสี่ยงในโซ่อุปทาน

อะไรคือความเสี่ยง

คำว่าความเสี่ยงหรือ “Risk” รากศัพท์นั้นมาจากภาษาอิตาเลียนในคำว่า “Risicare” ที่มีความหมายว่า “กล้าที่จะทำ”  แต่อย่างไรก็ตามในความหมายของความเสี่ยงได้ถูกปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา และนำไปใช้หลากหลายตามแต่ละบริบทของผู้ใช้  การศึกษาด้านความเสี่ยงเริ่มต้นในศตวรรษที่ 17 โดยนักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศส Blaise Pascal และ Pierre de Fermat ผู้ซึ่งนำทฤษฎีทางด้านคณิตศาสตร์มาประยุกต์เข้ากับการพนัน งานของทั้งสองนำไปสู่การพัฒนาทฤษฎีความน่าจะเป็น ซึ่งทฤษฎีความน่าจะเป็นถือว่าเป็นหัวใจหลักของแนวคิดด้านความเสี่ยง  ความเสี่ยงได้เกี่ยวข้องกับการพนันอยู่หลายปี และในศตวรรษที่ 19 ความเสี่ยงได้ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการประกันในประเทศอังกฤษ และถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาสู่การประยุกต์ใช้เข้ากับธุรกิจอุตสาหกรรม และในปัจจุบันถูกพัฒนาเข้าสู่กับการจัดการโซ่อุปทาน

องค์ประกอบสำคัญของความเสี่ยง คือ ตัวเลือก เลือกว่าจะตัดสินใจอย่างไร อย่างที่เราได้ยินกันอยู่ว่า ความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนมักจะสูงเช่นกัน หรือเลือกที่จะมีความเสี่ยงต่ำ แต่ผลตอบแทนก็จะต่ำเช่นกัน หรือลูกค้าเลือกที่จะสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับซัพพลายเออร์ ซึ่งลูกค้าเองจะได้ประโยชน์จากความร่วมมืออย่างหลากหลาย เหล่านี้คือตัวเลือก ซึ่งความเสี่ยง มีทางเลือกที่จะได้รับประโยชน์หรือความเสี่ยงที่จะสูญเสีย  แต่กระนั้นเมื่อมองในมุมขององค์กร ความหมายความเสี่ยงจะถูกมองไปในแง่ลบ ดังเช่น ความหมายที่เกี่ยวข้องกับการวัดของความน่าจะเป็นและความรุนแรงของผลจากความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น หรือในความหมายที่กล่าวว่า ความเสี่ยงคือโอกาสที่จะเกิดของเหตุการณ์ที่เราไม่ต้องการให้มันเกิดจากกิจกรรมหนึ่งๆ หรือในความหมายที่กล่าวว่าความเสี่ยง คือ ความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นที่ทำให้บริษัทไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จได้ เหล่านี้คือมุมมองของความหมายของเสี่ยง แต่องค์ประกอบที่สำคัญที่หลายคนได้ให้ความหมายของความเสี่ยงนั้น คือ ความเสี่ยงสามารถวัดได้ในแง่ของการประมาณความน่าจะเป็นของผลที่จะเกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุของบริษัทแห่งหนึ่งอาจจะประมาณได้เป็น 20% เนื่องจากมีระบบ และสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี ความเสี่ยงนี้สามารถลดได้โดยการปรับระบบและสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น โอกาสความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุก็ลดลง นั้นหมายความว่า ความเสี่ยงสามารถทำให้ลดลงได้  ความเสี่ยงสามารถวัดได้และจัดการได้นั่นเอง

ความเสี่ยงและการจัดการโซ่อุปทาน

คุณลักษณะหลักของการจัดการโซ่อุปทานคือ การประสานงานขององค์กรต่างๆ ในโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำเพื่อสร้างคุณค่าให้กับลูกค้าด้วยต้นทุนโดยรวมในโซ่อุปทานที่ต่ำ ดังนั้น ขอบเขตการจัดการความเสี่ยงในด้านโซ่อุปทานจะกว้างกว่าการจัดการความเสี่ยงขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง และมีความหมายที่ลึกกว่าในแง่ของจะจัดการกระบวนการหลักอย่างไรเพื่อที่จะสอดประสานกับการดำเนินงานขององค์กรอื่นในโซ่อุปทาน ขอยกความแตกต่างของการจัดการความเสี่ยงขององค์กรหนึ่งๆ กับการจัดการความเสี่ยงในมุมของโซ่อุปทานดังนี้ กระบวนการระบุและประมาณความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นและผลกระทบที่จะเกิดในใน มุมของโซ่อุปทานจะมีความซัพซ้อนและเป็นงานที่ยากกว่า นอกจากศึกษาความเสี่ยงของตนเอง แล้วยังต้องศึกษาความเสี่ยงที่อาจขึ้นในองค์กรอื่นๆ ในโซ่อุปทานซึ่งมีผลกระทบต่อเรา และความเสี่ยงในการเชื่อมโยงระหว่างองค์กร จากรายละเอียดข้างต้นนี้ สามารถสรุปความหมายการจัดการความเสี่ยงในโซ่อุปทาน (Supply Chain Risk Management) ได้ดังนี้  เป็นการประสานงานร่วมองค์กรอื่นๆ ในโซ่อุปทานในกระบวนการการจัดการความเสี่ยงเพื่อจัดการกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่อาจะเกิดขึ้น และมีผลกระทบต่อกิจกรรมทางโลจิสติกส์ขององค์กร 

แหล่งของความเสี่ยงในโซ่อุปทาน

แหล่งของความเสี่ยงสามารถแบ่งได้เป็น 4 แหล่งดังนี้  1) ความเสี่ยงจากสภาพแวดล้อม 2) ความเสี่ยงจากอุปสงค์ 3) ความเสี่ยงจากอุปทาน 4) ความเสี่ยงจากกระบวนการและการควบคุม

1) ความเสี่ยงจากสภาพแวดล้อม คือ ความไม่แน่นอนจากภายนอก เช่น ผลจากการเมือง วิกฤติน้ำมัน ภัยธรรมชาติ หรือ ความ ไม่แน่นอนจากสังคม เช่น การก่อการร้าย

2) ความเสี่ยงจากอุปทาน คือ ความไม่แน่นอนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของซัพพลายเออร์และความสัมพันธ์กับซัพพลายเอร์ เช่น การที่ไม่สามารถส่งวัตถุดิบตามเวลา ตาม จำนวนที่กำหนด เป็นต้น

3) ความเสี่ยงจากอุปสงค์ คือ เป็น ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ขาออกและอุปสงค์ของผลิตภัณฑ์และการบริการ เช่น การเปลี่ยนแปลงของแฟชั่น  วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ที่สั้นลง ฤดูกาล เป็นต้น 

4) ความเสี่ยงจากกระบวนการและการควบคุม คือ ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นภายในองค์กร เช่น ปัญหาคอขวดในการผลิต ระบบไอที ความเสี่ยงทางเทคนิคการผลิต ความเสี่ยงจากพนักงานภายใน เป็นต้น

แหล่งความเสี่ยงทั้งสี่แหล่งนี้มีความสัมพันธ์กับโครงสร้างโซ่อุปทานขององค์กร ความเสี่ยงทางด้านอุปทานและอุปสงค์มีผลกระทบต่อหลายองค์กรในโซ่อุปทาน ซึ่งความเสี่ยงเหล่านั้นสามารถจัดการได้ ถ้าองค์กรมีความตระหนักถึงผลกระทบของความเสี่ยงเหล่านี้ที่เกิดขึ้น และลงมือปฏิบัติกันอย่างจริงจัง ในหัวข้อต่อไปจะกล่าวถึงขั้นตอนการจัดการความเสี่ยงในโซ่อุปทาน

ขั้นตอนการจัดการความเสี่ยงในโซ่อุปทาน

ขั้นตอนการจัดการความเสี่ยงในโซ่อุปทาน สามารถแบ่งเป็น 6 ขั้นตอนดังนี้

1) การวิเคราะห์โซ่อุปทาน ในขั้นตอนนี้เราควรเข้าใจและวิเคราะห์เครือข่ายโซ่อุปทานของเราก่อน และระบุตัวชี้วัดการดำเนินงานที่เหมาะสมในโครงสร้างโซ่อุปทานของเรา

2) การหาแหล่งของความเสี่ยง หลังจากทบทวนและวิเคราะห์โซ่อุปทานของเราแล้ว ในขั้นนี้เป็นการหา และระบุว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในโซ่อุปทานของเราว่า มีอะไรบ้าง ไล่ดูตั้งแต่ลูกค้า ตัวเรา ซัพพลายเออร์ สภาพแวดล้อมภายนอก

3) วิเคราะห์ผลกระทบของความเสี่ยง ในขั้นตอนนี้วิเคราะห์ถึงแต่ละความเสี่ยงที่ได้ระบุไว้ในขั้นตอนที่แล้ว ศึกษาหาความน่าจะเป็นที่จะเกิดขึ้น ความรุนแรงของผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น สัญญาณเตือนภัยที่บ่งบอกถึงสัญญาณความเสี่ยงที่จะเข้ามาถึงเรา

4) การจัดการความเสี่ยง ในขั้นตอนนี้จุดมุ่งหมายเพื่อจัดการความเสี่ยงในแต่ละข้อที่ระบุไว้ และระบุทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดในการจัดการความเสี่ยงเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็น การยอมรับ การลดความเสี่ยง การโอนถ่ายความเสี่ยงไปยังบริษัทประกันภัย หรือไปยังซัพพลายเออร์ หรือการหลีกหนีความเสี่ยงนั้นๆ

5) การนำกลยุทธ์บริหารความเสี่ยงไปปฏิบัติ ในขั้นตอนสุดท้ายนี้เป็นการนำเอากลยุทธ์ไปปฏิบัติ ติดตามผล และปรับปรุงการจัดการความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น

กรณีศึกษาบริษัท Ericsson

ในส่วนนี้จะขอยกตัวอย่างบริษัทชื่อดังที่มีความผิดพลาดในการบริหารความเสี่ยง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงกับบริษัท จนนำไปสู่การปรับระบบการบริหารความเสี่ยงในโซ่อุปทานครั้งใหญ่ และกลายเป็นบริษัทที่ประสบผลสำเร็จในการบริหารความเสี่ยง บริษัทดังกล่าวคือ Ericsson

บริษัท Ericsson ผู้ผลิตมือถือรายใหญ่ของโลก ที่ก่อตั้งเมื่อปี 1876 มีพนักงานในปัจจุบันประมาณ 61,000 คนในมากกว่า 140 ประเทศทั่วโลก ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา Ericsson ได้ว่าจ้างการผลิตและการประกอบไปยังซัพพลายเออร์ต่างๆ ที่ผ่านมา Ericsson มีความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้น อาทิเช่น ปัญหาการจัดส่ง ปัญหากำลังการผลิตที่ไม่เพียงพอ แต่ในปี ค.ศ.2000 Ericsson ได้ประสบปัญหาครั้งใหญ่จากโรงงานผลิตของซัพพลายเออร์ในเมือง Albuquerque ใน New Mexico ประเทศสหรัฐอเมริกา เหตุเกิดเนื่องมาจากกระแสไฟฟ้าตกและมีปัญหาส่งถึงการส่งกระแสไฟฟ้าภายในโรงงานส่งผลให้เกิดไฟไหม้ในห้องขนาดเล็กประมาณขนาดห้องประชุมสำหรับ 10 คน โดยไฟไหม้เป็นเวลาประมาณ 10 นาที แต่ก่อให้เกิดความสูญเสียแก่บริษัทอย่างมหาศาล เนื่องจากเกิดในห้อง Clean room ห้องปลอดเชื้อ ฝุ่นต่างๆ  Ericsson ประมาณความสูญเสียครั้งนี้ประมาณ $400 ล้าน เหตุเกิดในครั้งนั้น ทำให้การผลิตหยุดไป 3 สัปดาห์ และหกเดือนหลังจากนั้นสามารถผลิตได้เพียง 50% ของกำลังการผลิตปกติ และยังใช้เวลาเป็นปีๆ ในการติดตั้งอุปกรณ์ Ericsson ไม่สามารถขายและส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าได้ในช่วงตลาดบูม เหตุการณ์ครั้งนี้ถึงกับทำให้ Ericsson อยากจะล้มเลิกออกจากตลาดผู้ผลิตมือถือไปเลย

ต่อมา บริษัทประกันภัยได้จ่ายค่าประกันชดเชยให้กับบริษัทมูลค่า $200 ล้าน ซึ่งถือว่าเป็นมูลค่าที่สูงมาก เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ Ericsson หันมาสนใจเรื่องการจัดการความเสี่ยงในโซ่อุปทาน บริษัทได้ยกเครื่องการบริหารความเสี่ยงครั้งใหญ่ ตั้งแต่การปรับโครงสร้างและความรับผิดชอบด้านความเสี่ยงขององค์กรใหม่หมด โดยถือว่าทุกคนเป็นผู้จัดการความเสี่ยงของบริษัท มีการแบ่งหน้าที่ที่ชัดเจนว่าใครบริหารดูแลความเสี่ยงด้านใดอย่างไร  บริษัทยังศึกษาการไหลในโซ่อุปทานของตนเองและระบุหาความเสี่ยงตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางและแบ่งกลุ่มตามความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ มีการแบ่งประเภทวัตถุดิบตามความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ เพื่อหาทางรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้แต่ละประเภทของกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน นอกจากนั้นบริษัทได้สร้างเครื่องมือที่เรียกว่า Ericsson Risk Management Evaluation Tool (ERMET) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทำให้พนักงานสามารถบริหารความเสี่ยงได้ง่ายขึ้น ตั้งแต่การแบ่งระดับความเสี่ยงที่เป็นมาตรฐาน แผนภาพการประเมินความเสี่ยงซึ่งเอาไว้เปรียบเทียบระดับความเสี่ยงในปัจจุบันกับอดีตและอนาคต การสร้างฟอร์มต่างๆ ที่มีมาตรฐานในการบริหารความเสี่ยง การสร้าง Contingency P lan เมื่อความเสี่ยงเกิดขึ้น ว่าจะตอบสนองอย่างไร จะแก้ไขสถานการณ์อย่างไร และฟื้นฟูสถานการณ์ได้อย่างไร รวมถึงการปฏิบัติดำเนินงานการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ Ericsson มีโซ่อุปทานที่แข็งแกร่งขึ้น มีความพร้อมในการทำธุรกิจและบริหาร ลดความเสี่ยงที่จะก่อเกิดผลกระทบต่อบริษัทได้อย่างดี

สรุป

ความเสี่ยงในการจัดการโซ่อุปทานเป็นประเด็นที่องค์กรควรให้ความสำคัญ จากตัวอย่างของบริษัท Ericsson ทำให้เห็นว่าความเสี่ยงมีผลกระทบต่อองค์กรอย่างไร และบริษัทหันกลับมาให้ความสนใจพัฒนาด้านดังกล่าวอย่างไร ในอดีตเราสนใจไปที่คุณภาพ ต้นทุน และเวลา ในกาลต่อมาเราสนใจไปที่ คุณภาพ ต้นทุน เวลา การตอบสนองลูกค้าที่รวดเร็ว การดำเนินงานแบบลีน แต่ในปัจจุบันประเด็นที่ทุกองค์กรมองข้ามไปไม่ได้นั่น คือ ความเสี่ยง ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในโซ่อุปทาน จะบริหารจัดการอย่างไรให้โอกาสที่จะเกิดผลกระทบกับเราให้น้อยที่สุด

.

สนใจบทความฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติม ดาวน์โหลดที่เอกสารแนบด้านล่าง

 --------------------------------

ดูบทความอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่

 เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2552

เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” จึงเป็นการนำบทความดังกล่าวที่น่าสนใจจำนวน 15 บทความ จัดทำเป็นรูปเล่ม เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกสำหรับผู้สนใจในการศึกษาความรู้ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน  หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล

 --------------------------------

ที่มา

เอกสารเผยแพร่เรื่อง “การจัดการโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” ปี 2552

โดย สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่

ขอต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์
www.iok2u.com
แหล่งข้อมูลสารสนเทศเพื่อคุณ

เว็บไซต์ www.iok2u.com นี้เกิดมาจาก แรงบันดาลใจในภาพยนต์เรื่อง Pay It Forward โดยมีเป้าหมายเล็ก ๆ ที่กำหนดไว้ว่า ทุกครั้งที่เข้าเรียนสัมมนาหรืออบรมในแต่ละครั้ง จะนำความรู้มาจัดทำเป็นบทความอย่างน้อย 3 เรื่อง เพื่อมาลงในเว็บนี้
ความตั้งใจที่จะถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับมาทำการถ่ายทอดต่อไป และหวังว่าจะมีคนมาอ่านแล้วเห็นว่ามีประโยชน์นำเอาไปใช้ได้ หากใครคิดว่ามันมีประโยชน์ก็สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้เลย โดยอาจไม่ต้องอ้างอิงที่มาหรือมาตอบแทนผู้จัด แต่ขอให้ส่งต่อหากคิดว่ามันดีหรือมีประโยชน์ เพื่อถ่ายทอดความรู้และสิ่งดี ๆ ต่อไปข้างหน้าต่อไป Pay It Forward