รูปแบบการชำระเงินระหว่างประเทศ (International Methods of Payment)
รูปแบบการชำระเงินระหว่างประเทศ (International Methods of Payment) ในงานการซื้อขายสินค้า การส่งออกและนำเข้า จะต้องมีการตกลงกันในเรื่องวิธีชำระเงินค่าสินค้า นั้นเป็นเรื่องที่ขาดเสียไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออก และปัจจุบันการชำระเงินในการส่งออก-นำเข้านิยมใช้กันอยู่ 4 ประเภท ซึ่งแต่ละวิธีจะมีความได้เปรียบและเสียเปรียบที่แตกต่างกันประกอบด้วย
1. การชำระเงินแบบจ่ายล่วงหน้า (Advance Payment) เป็นวิธีการซื้อขายโดยผู้ซื้อมีการชำระเงินไปก่อน ผู้ซื้อ/ผู้นำเข้าต้องจ่ายเงินค่าสินค้าให้แก่ผู้ขาย/ผู้ส่งออกก่อน หลังจากนั้นผู้ส่งออกจึงจะทำการจัดส่งสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ วิธีนี้ผู้ซื้อ/ผู้นำเข้าจะเป็นฝ่ายที่มีโอกาสเสียเปรียบแก่คู่ค้า ในเรื่องการไม่ได้รับสินค้า, ได้รับของช้า, ได้รับไม่ครบ ฯลฯ เพราะเงินจ่ายไปแล้วยากที่จะต่อรองผู้ขายได้ดีพอ
2. การชำระเงินแบบเปิดบัญชีระหว่างกัน (Open Account) เป็นวิธีการซื้อแบบเชื่อเครดิตหรือลงบัญชีไว้ก่อน โดยผู้ขาย/ผู้ส่งออกจะทำการจัดส่งสินค้าไปยังผู้ซื้อ/ผู้นำเข้าก่อน และเมื่อได้สินค้าแล้วค่อยเก็บเงิน หรือชำระเงินภายหลังตามกำหนดที่ได้ตกลงกันไว้ กรณีนี้ผู้ซื้อและผู้ขายต้องมีความเชื่อใจกัน หรือเป็นบริษัทในเครือ วิธีนี้ ผู้ขาย/ผู้ส่งออกจะเป็นฝ่ายที่เสียเปรียบแก่คู่ค้า ในเรื่องการไม่ได้รับเงิน, ได้รับเงินช้า, ได้รับไม่ครบ ฯลฯ เพราะส่งสินค้าไปแล้วยากที่จะต่อรองผู้ซื้อได้ดีพอ
3. การชำระเงินแบบตั๋วเงินเพื่อการเรียกเก็บ (Bills for Collection) ใช้กฎ urc 522 เป็นวิธีการชำระเงินที่ผู้ขายใช้ให้ ธนาคารเป็นผู้ดำเนินการเรียกเก็บเงิน หรือใช้บริการให้ธนาคารช่วยเรียกเก็บเงินแก่ผู้ซื้อ/ผู้นำเข้า โดยที่ผู้ขาย/ผู้ส่งออกเมื่อทำการจัดส่งสินค้า ก็จะจัดเตรียมเอกสารที่จำเป็นต่างๆ ส่งไปเรียกเก็บเงินเอาแก่ผู้ซื้อ/ผู้นำเข้า โดยใช้ธนาคาร (Remitting Bang) เป็นตัวกลางในการเรียกเก็บเงิน และ/หรือส่งมอบเอกสาร ในกรณีนี้ธนาคารไม่ต้องรับผิดชอบเพราะทำหน้าที่เป็นตัวแทนตามเก็บเงินเท่านั้น หากผู้ซื้อไม่จ่าย ทางผู้ขายก็ต้องดำเนินการติดตามเงินด้วยตัวเอง
4. การชำระแบบเลตเตอร์ออฟเครดิตที่มีเอกสารประกอบ (Letter of Credit, L/C) วิธีการชำระเงินนี้มักเรียกย่อว่า L/C เป็นการชำระเงินที่มีธนาคารเข้ามารับรองการชำระเงินให้แก่ผู้ส่งออก/ผู้ขายว่า โดยในขั้นต้นธนาคาร (Issuing Bank) ผู้ออก L/C จะต้องได้รับเงินค้ำประกันจากผู้ซื้อมาวางเงินไว้ก่อน เมื่อได้รับเงินจากผู้ซื้อก็จะทำการแจ้งเปิด L/C ไปที่ผู้ขาย เพื่อยืนยันว่าธนาคารรับจะจ่ายเงินค่าสินค้าดังกล่าวให้ผู้ขายแน่นอน เมื่อผู้ขายปฎิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด ในกรณีทั้งสองฝ่ายต้องดูในเรื่องเอกสารให้มีความถูกต้อง การส่งสินค้าและทำเอกสารควรให้มีความถูกต้องสมบูรณ์ เพราะจะมีการยึดข้อมู,ตามเอกสาร L/C เป็นหลักในการเบิกจ่าย ธนาคารส่วนใหญ่จะมีผู้ชำนาญในเรื่องการกรอกเอกสารให้บริการในการจัดทำเอกสาร L/C โดยมีค่าใช้จ่ายบ้างเล็กน้อย
.
ที่มา
-
รวมรวมข้อมูลภาพ
- www.iok2u.com
-------------------------------------
การบริหารจัดการโลจิสติกส์ (Logistics Management)
-------------------------------------